xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดที่ระดับ 34.68 รอผลประชุม กนง.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (29 พ.ย.) ที่ระดับ 34.68 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 34.93 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.55-34.85 บาท/ดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้าค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาก (แกว่งตัวในช่วง 34.67-34.95 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งเป็นการแข็งค่ามากกว่าที่เราได้ประเมินไว้ โดยเงินบาทได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังจากราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและทรงตัวเหนือระดับ 2,050 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรายอมรับว่า เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เราคาด โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้น เข้าใกล้จุดสูงสุดในปีนี้ ดังนั้น ในช่วงระหว่างวันเราประเมินว่า เงินบาทอาจยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำได้บ้าง

อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจเริ่มชะลอการแข็งค่าขึ้นได้ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม กนง. โดยเราประเมินว่า หาก กนง. เริ่มส่งสัญญาณพร้อมหยุดการขึ้นดอกเบี้ย และปรับลดมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านสูงของอัตราเงินเฟ้อ (หรือมีมุมมองที่ Hawkish น้อยลง) อาจส่งผลให้บอนด์ยิลด์ไทยมีการย่อตัวลงได้บ้าง ซึ่งภาพดังกล่าวจะหนุนให้นักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายทำกำไรการปรับตัวลดลงของบอนด์ยิลด์ไทย ขณะที่ในฝั่งหุ้นการปรับตัวลงของบอนด์ยิลด์ไทยอาจทำให้หุ้นไทยมีความน่าสนใจมากขึ้น และหนุนให้นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้าซื้อหุ้นไทยได้บ้าง ซึ่งความไม่สอดคล้องของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ (หากเกิดขึ้นได้จริง) อาจทำให้เงินบาทเริ่มชะลอการแข็งค่าและแกว่งตัว sideway ได้

การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทที่มากกว่าระดับแนวรับที่เราได้ประเมินไว้ในสัปดาห์นี้ ทำให้เรามองว่า แนวรับถัดไปจะอยู่ในช่วง 34.50 บาทต่อดอลลาร์ (ซึ่งเข้าใกล้เป้าสิ้นปีของเราแถว 34.25 บาทต่อดอลลาร์มากขึ้น) ส่วนโซนแนวต้านจะอยู่ในช่วง 34.90-35.00 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม เช่น ตลาดมีการปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด

สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) ซึ่งแม้ว่าเราและบรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะประเมินว่า กนง. จะมีมติ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% แต่ประเด็นสำคัญที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การปรับคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของทาง กนง. ท่ามกลางความไม่แน่นอนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวนสูง

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานการประชุม ECB ล่าสุด เพื่อประกอบการพิจารณาแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB

และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 รวมถึงรายงานยอดสต๊อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางของราคาน้ำมันดิบ โดยเฉพาะ ราคาน้ำมันดิบ WTI ได้ในระยะสั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น