ตลาดหุ้นทั่วโลกกำลังเซถลา ฉุดให้ตลาดหุ้นไทยดิ่งลงเหวตาม โดยเฉพาะวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งดัชนีทรุดฮวบกว่า 30 จุด ลงมาปิดต่ำสุดในรอบ 3 ปีที่ระดับ 1,388 จุด จนนายภากร ปิตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องออกมาชี้แจงสถานการณ์
นานๆ ที นายภากร จะออกมาให้ข่าวผ่านสื่อ แต่วิกฤตตลาดหุ้นครั้งนี้ ทำให้กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ นั่งไม่ติดเก้าอี้ ต้องแถลงชี้แจงภาวะการลงทุน เพียงแต่ไม่มีประเด็นอะไรใหม่ที่น่าสนใจเท่านั้น
ไม่มีมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบตลาดหุ้นแต่อย่างใด
นายภากร ระบุว่า หุ้นที่ทรุดหนักเกิดจากผลกระทบจากปัจจัยภายนอก และปรับตัวลงในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก หากสถานการณ์คลี่คลายซึ่งหมายถึงสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสสงบลงหุ้นจะฟื้นตัวขึ้น
หุ้นตกหนักเพราะอะไร จะฟื้นตัวขึ้นเมื่อไหร่ เป็นสิ่งที่นักลงทุนทั้งโลกสามารถคาดหมายกันเองได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาอธิบายขยายความเป็นแผ่นเสียงตกร่อง
แต่สิ่งที่นักลงทุนในประเทศอยากรู้มากกว่าคือ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีมาตรการเพื่อเรียกความมั่นใจนักลงทุน หรือมีมาตรการใดป้องกันไม่ให้ตลาดหุ้นถูกซ้ำเติมจนเลวร้ายเกินผลกระที่เกิดขึ้นจริง
เช่น การซ้ำเติมจากการช็อตเซลหรือขายโดยไม่มีหุ้นในมือ หรือแม้กระทั่งการซื้อขายด้วย ROBOT หรือปัญญาประดิษฐ์
ปีนี้นักลงทุนรายย่อยบาดเจ็บเลือดสาด จากการปรับตัวลงของตลาดหุ้น โดยดัชนีสิ้นปี 2565 ปิดที่ 1,668.66 จุด แต่ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา ปิดที่ 1,388.23 จุด
ลดลง 280.43 จุด และนักลงทุนรายย่อยเป็นผู้ซื้อหุ้นรายใหญ่ มียอดซื้อสะสมสุทธิจากต้นปีจำนวน 1.12 แสนล้านบาท
ประชาชนผู้ลงทุนในตลาดหุ้นไม่ใช่เพิ่งประสบปัญหาขาดทุนเฉพาะปี 2566 แต่ 5 ปีก่อนหน้าเสียหายหนักตลอด เพราะช้อนซื้อหุ้นสะสมจำนวนหลายแสนล้านบาท ในช่วงตลาดขาลง
สิ้นปี 2560 ดัชนีปิดที่ 1,753.71 จุด และเดือนกุภาพันธ์ 2561 ดัชนีขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ประมาณ 1,850 จุด แต่หลังจากนั้นปรับตัวสู่ขาลงติดต่อหลายปี สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเพราะนักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้น
ปี 2561 ต่างชาติขาย 287,696 ล้านบาท ปี 2562 ขาย 44,791 ล้านบาท ปี 2563 ขายหุ้น 263,148 ล้านบาท ปี 2564 ขาย 50,553 ล้านบาท ปี 2564 ซื้อ 196,886 ล้านบาท ส่วนปี 2566 จนสิ้นสุดวันที่ 27 ตุลาคม ต่างชาติขายหุ้นสะสมสุทธิ 169,822 ล้านบาท
รวมการขายหุ้นของต่างชาตินับจากปี 2561 มียอดขายสะสม 619,124 ล้านบาท
ส่วนนักลงทุนรายย่อย ปี 2561 ซื้อหุ้น 120,800 ล้านบาท ปี 2562 ขายหุ้น 21,466 ล้านบาท ปี 2563 ซื้อหุ้น 214,4 25 ล้านบาท ปี 2564 ซื้อหุ้น 111,430 ล้านบาท ปี 2565 ขายหุ้น 39,033 ล้านบาท และปี 2566 จนถึงสิ้นสุด 27 ตุลาคม 112,328 ล้านบาท
รวมการซื้อหุ้นของนักลงทุนรายย่อยนับจากปี 2561 มียอดซื้อหุ้น 498,511 ล้านบาท
ถ้าเทียบดัชนีสิ้นปี 2560 ที่ปิด 1,753.71 จุด กับจุดปิดเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมาในระดับ 1,388.23 จุด ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ดัชนีลดลง 365.48 จุด
นักลงทุนในตลาดหุ้นจำนวนกว่า 2 ล้านคน และซื้อหุ้นเก็บสะสมมาตลอด 6 ปี ต้องขาดทุนกันป่นปี้ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลยกับความย่อยยับของประชาชนผู้ลงทุน
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้แต่ยืนดูการล้มตายของนักลงทุนรายย่อย แม้มีเสียงเรียกร้องให้จัดการกับการซื้อขายหุ้นด้วย ROBOT ซึ่งสูบเงินจากนักลงทุนรายย่อยจำนวนมหาศาลก็ตาม
ROBOT ซื่งเป็นระบบซื้อขายที่ได้เปรียบนักลงทุนในทุกประตู ทั้งการประเมินผลรายการคำสั่งซื้อหรือขายหุ้น การประเมินแนวโน้มขึ้นหรือลงของหุ้นรายตัว และสามารถสั่งคำสั่งซื้อขายได้รวดเร็วในพริบตา แถมยังมีต้นทุนค่านายหน้าซื้อขายหุ้นที่ต่ำมาก
โดยเสียค่านายหน้าซื้อขายหุ้นในอัตรา 0.01% เศษของมูลค่าซื้อขาย หรือจ่ายเพียง 100 บาทเศษ ต่อมูลค่าซื้อขายหุ้น 1 ล้านบาท
ROBOT จึงสามารถทำกำไรได้จากการขึ้นหรือลงของราคาหุ้นเพียง 1 ช่วงราคา
ปรากฏการณ์น่าสนใจคือ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ได้ทะยานขึ้นมาเป็นโบรกเกอร์ที่มีมูลค่าซื้อขายหุ้นสูงสุดติดอันดับ 1 นับจากปี 2562 จนถึงปัจจุบัน เพราะเป็นโบรกเกอร์รายใหญ่ที่ซื้อขายด้วย ROBOT
มูลค่าซื้อขายที่ทำให้ บล.เกียรตินาคินภัทร ครองความเป็นโบรกเกอร์เบอร์ 1 ตลอดกาล มาจากมูลค่าซื้อขายจาก ROBOT ซึ่งเป็นระบบที่เอาเปรียบนักลงทุนรายย่อยหลายขุม
ระบบ ROBOT แทรกซึมเข้ามาในตลาดหุ้นไทยประมาณ 5 ปีแล้ว สร้างความเสียหายให้นักลงทุนรายย่อยอย่างหนัก ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ กลับไม่แก้ไขอะไร ทั้งที่สามารถตรวจสอบได้ว่า ROBOT สูบเงินจากนักลงทุนรายย่อยปีละเท่าไหร่
รอบ 6 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนรายย่อยซื้อหุ้นเก็บสะสมประมาณ 5 แสนล้านบาท และขาดทุนกันถ้วนหน้า ส่วนหนึ่งถูกเครื่องจักรระบบ ROBOT สูบกิน
แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กลับยืนดูให้ ROBOT ตีหัวนักลงทุนคนไทย ขนกำไรกลับบ่านไปแล้วอาจนับหมื่นๆ ล้านบาท ไม่ปล่อยให้ ROBOT ไล่สังหารนักลงทุนรายย่อยเหมือนตลาดทั้งที่ตลาดหุ้นอินโดนีเซียไล่ตะเพิด ROBOT