หุ้นบริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) หรือ CMO โลดโผนโจนทะยานมาหลายปี แต่ช่วงนี้กำลังสิ้นฤทธิ์ ราคาดิ่งลงต่อเนื่อง และยังถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งให้มีการตรวจสอบกรณีพิเศษเกี่ยวกับธุรกรรมที่ผิดปกติหลายรายการ
CMO ถูกผู้สอบบัญชีตั้งข้อสังเกต ธุรกรรมการเบิกเงินทดรองจ่าย และการจ่ายค่าที่ปรึกษา โดยยังไม่ได้รับรายงานการให้บริการจากคู่สัญญา
รวมทั้งความสมเหตุสมผลของการซื้อเงินลงทุนในบริษัทย่อยเพิ่มเติมมูลค่า 65 ล้านบาท จากนิติบุคคลที่มีบุคคลใกล้ชิดของกรรมการ CMO เป็นผู้ถือหุ้น และเป็นการซื้อในราคาที่สูงกว่ามูลค่าตามบัญชีของเงินลงทุน
ก.ล.ต.สั่งให้ CMO จัดให้มีการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) เกี่ยวกับการทำธุรกรรมที่ผิดปกติ และรายงานผลการตรวจสอบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2566
ตลาดหลักทรัพย์สั่งขึ้นเครื่องหมาย SP พักการซื้อขายหุ้น CMO 1 วัน คือวันที่ 25 ตุลาคม และเปิดให้ซื้อขายใหม่ในวันที่ 26 ตุลาคม แต่จะขึ้นเครื่องหมาย NP และเครื่องหมาย C เพื่อเตือนนักลงทุนถึงการที่ CMO ถูก ก.ล.ต. สั่งให้ตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ
ราคาหุ้น CMO เคลื่อนไหวอย่างไม่ปกติหลายปีติดต่อ โดยแม้ผลประกอบการขาดทุน แต่ราคาหุ้นกับพุ่งขึ้นสวนทางผลประกอบการ
ปี 2563 CMO ขาดทุนสุทธิ 129.98 ล้านบาท ปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 120.51 ล้านบาท ปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 31.39 ล้านบาท และงวด 6 เดือนแรกปีนี้ ขาดทุนสุทธิ 148.96 ล้านบา ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 29.36 ล้านบาท
แต่หุ้น CMO ถูกจุดพลุไล่ราคามาต่อเนื่อง แม้ถูกตลาดหลักทรัพย์ใช้มาตรการกำกับการซื้อขายนับไม่ถ้วนก็ตาม โดยเฉพาะปี 2564 ตลาดหลักทรัพย์ประกาศใช้มาตรการกำกับการซื้อขายแบบรัวๆ แต่สยบความร้อนแรงของราคาหุ้นไม่ได้
ต้นปี 2565 CMO เคยถูกลากขึ้นไปสูงกว่า 10 บาท ก่อนถูกทุบลงมา และถูกลากขึ้นไปใหม่ โดยรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ราคาเคยขึ้นไปสูงสุดที่ 7.15 บาท แต่ถูกทุบลงมาจนต่ำสุดที่ 1.08 บาท ระหว่างชั่วโมงซื้อขายวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา
หลังจากนั้นถูกลากขึ้นอีกครั้ง จนราคายืนอยู่เหนือ 2 บาทมาพักใหญ่ และอ่อนตัวลงจนปิดล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ 1.21 บาท
สถานการณ์ของ CMO ไม่ดีนัก เพราะผู้ถือหุ้นกู้เพิ่งลงมติเมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ยืดเวลาชำระหนี้หุ้นกู้วงเงิน 100 ล้านบาทไปอีก 2 ปี แต่จะให้ทยอยชำระคืนเงินต้นรวม 70 ล้านบาท
ตลอดระยะเวลา 2 ปี ก่อนครบกำหนดการไถ่ถอน และต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้จาก 6.50% เป็น 7% ต่อปี
แต่ปัจจัยที่ทำลายความเชื่อมั่นของ CMO อย่างร้ายแรงคือ ธุรกรรมทางการเงิน หรือธุรกรรมการโยกเงินออกจากบริษัทในรูปแบบต่างๆ จนผู้สอบบัญชีตั้งข้อสังเกต และ ก.ล.ต.สั่งให้ตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะเงิน 65 ล้านบาท ซึ่งถูกโยกออกไปซื้อหุ้นบริษัทที่มีความเกี่ยวโยงกับกรรมการบริษัท แถมยังซื้อในราคาสูงอีกด้วย
ดูจากความเคลื่อนไหวของหุ้น CMO ในรอบหลายปี นักลงทุนคงตั้งสมมติฐานเหมือนกันว่า หุ้นตัวนี้น่าจะมีเจ้ามือหรือนักลงทุนขาใหญ่อยู่เบื้องหลังความร้อนแรงของราคา
เพราะผลประกอบการบริษัทขาดทุนต่อเนื่อง และเป็นหุ้นที่ตลาดหลักทรัพย์เฝ้าจับตา ถูกใช้มาตรการกำกับการซื้อขายปีละหลายครั้ง ซึ่งราคาหุ้นจึงน่าจะร่วง แต่กลับทะยานขึ้นอย่างผิดปกติ
ไม่แน่ว่า ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ราคาหุ้น CMO ที่ร้อนแรงมาหลายปี เพื่อแกะรอยว่ามีใครอยู่เบื้องหลังการสร้างราคาหรือปั่นหุ้นหรือไม่
โครงสร้างผู้ถือหุ้น CMO ประกอบด้วย นายกิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 22.72% ของทุนจดทะเบียน มีผู้ถือหุ้นรายย่อบจำนวน 3,323 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 58.22% ของทุนจดทะเบียน
CMO มีแนวโน้มเป็นหุ้นอีกตัวที่จะตายซาก เพราะไม่มีปัจจัยพื้นฐานใดรองรับราคา และยังมีธุรกรรมต้องสงสัย อันอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผลประกอบการบริษัทขาดทุนต่อเนื่อง ซึ่งกำลังถูก ก.ล.ต.ขุดคุ้ย
ผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนกว่า 3 พันราย กำลังตายทั้งเป็น เพราะขนเงินมาทิ้งในหุ้น CMO