หลังเกิดการปล้นครั้งใหญ่ โดยการแต่งบัญชีตบตานักลงทุนทั้งตลาดหุ้นในบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ยกเครื่องการทำงาน โดยเฉพาะการติดตามตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินที่น่าสงสัยของบริษัทจดทะเบียน และถูกผู้สอบบัญชีตั้งข้อสังเกต
บริษัทจดทะเบียนนับสิบแห่งถูกสั่งให้ชี้แจง ธุรกรรมทางการเงิน โดยการนำเงินของผู้ถือหุ้นไปลงทุน ปล่อยกู้บริษัทย่อย หรือธุรกรรมอื่น ซึ่งอาจเกิดความเสียหายตามมา และผู้สอบบัญชีตั้งข้อสังเกตไว้ในงบการเงินงวด 6 เดือนแรกปีนี้
หุ้นบริษัทจดทะเบียนที่ถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ ตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน ราคามักจะร่วงลงในทันที และแปรสภาพเป็นหุ้นตายซาก การซื้อขายหุ้นซบเซา ทั้งที่ก่อนหน้าอยู่ในข่ายหุ้นที่มีการเก็งกำไรร้อนแรง
ล่าสุด บริษัท ควอลลีเทค จำกัด (มหาชน) หรือ QLT ทรุดติดฟลอร์ทันที ในการซื้อขายเมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังถูกสั่งให้ชี้แจงเหตุผลการนำเงินลงทุนในบริษัทร่วม ซึ่งลงทุนไม่ถึง 1 ปี แต่มีผลขาดทุน 128 ล้านบาท และทำให้ผลประกอบการ QLT งวด 6 เดือนแรก ขาดทุน 128.37 ล้านบาท
บริษัทร่วมที่เข้าไปลงทุนเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง พนักงานหยุดปฏิบัติหน้าที่ มีการฟ้องร้องเรียกค่าแรง ขณะที่กรรมการ 3 คนลาออกหมด เพราะข้อขัดแย้งการบริหารงาน
ในการตัดสินใจลงทุนบริษัทร่วม คณะกรรมการ QLT อ้างว่า จะทำให้เกิดการกระจายความเสี่ยงการดำเนินธุรกิจให้มีความหลากหลายและเสริมสร้างการเติบโตของรายได้บริษัท และราคาซื้อเหมาะสมเนื่องจากกำหนดราคาโดยอ้างอิงการประเมินมูลค่ายุติธรรม
แต่เงินที่นำไปลงทุนซึ่งเป็นของผู้ถือหุ้น QLT เกิดความย่อยยับไปแล้วกว่า 100 ล้านบาท คณะกรรมการบริษัทจะรับผิดชอบอย่างไร
และผลการขาดทุนจากการลงทุนได้ฉุดให้ราคาหุ้นดิ่งลงเหวมาต่อเนื่อง จากราคาสูงสุดในรอบ 12 เดือนที่ 6.90 บาท เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา ถูกถล่มขายจนลงมาปิดที่ 2.94 บาท ลงมา 1.28 บาท หรือลงติดฟลอร์ 30.33%
โครงสร้างผู้ถือหุ้น QLT โดยเฉพาะโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายย่อย เพราะปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นวันที่ 1 มีนาคม 2565 จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยมี 1,767 ราย ถือหุ้นรวมกันสัดส่วน 47.76% ของทุนจดทะเบียน แต่ปิดสมุดทะเบียนวันที่ 14 มีนาคม 2566 จำนวนผู้ถือหุ้นมี 1,513 ราย สัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มเป็น 75.12%
สะท้อนให้เห็นว่า ผ้ถือหุ้นรายใหญ่ๆ โยนหุ้นใส่นักลงทุนรายย่อย ซึ่งตอนนี้บาดเจ็บหนักจาก QLT
การนำเงินของบริษัทจดทะเบียนไปลงทุน ปล่อยกู้ หรือซื้อทรัพย์สินเป็นช่องทางการปล้นผู้ถือหุ้นรายย่อย โดยโยกเงินผ่องถ่ายออกจากธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งคณะกรรมการบริษัทมักอ้างว่า เพื่อกระจายการลงทุน
และคุ้ยโม้โอ้อวดว่า จะได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่คุ้ม และซื้อทรัพย์สินในราคายุติธรรม แม้บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินอิสระจะคัดค้านการทำรายการก็ตาม
แต่เมื่อเงินที่ผ่องถ่ายออกไปเกิดความเสียหาย การลงทุนเจ๊ง เงินมัดจำการซื้อทรัพย์สินถูกยึดไม่ได้คืน จนบริษัทจดทะเบียนล่มสลาย ผู้ถือหุ้นรายย่อยเสียหายหมดตัว ไม่เคยมีกรรมการบริษัทจดทะเบียนหน้าไหนอออกมาแสดงความรับผิดชอบ
มีแต่กรรมการบริษัทจดทะเบียนเผ่นหนี ลาออก และไปหาบริษัทจดทะเบียนอื่นสิงสถิต นั่งกินเงินเดือนต่อ
การทำธุรกรรมทางการเงินเพื่อผ่องถ่ายเงินออกจากบริษัทจดทะเบียน เกิดขึ้นมาตลอดในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา จนมิจฉาชีพบางคน ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี ระดับเจ้าพ่อตลาดหุ้น โดยไม่ต้องรับโทษ รับบาปกรรมที่สร้างไว้กับนักลงทุนที่ต้องล่มจมจำนวนนับแสนรายก็ตาม
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่เคยใส่ใจกับธุรกรรมทางการเงินของบริษัทจดทะเบียน แม้มีพฤติกรรมเข้าข่ายการผ่องถ่ายเงิน และผู้สอบบัญชีตั้งข้อสังเกตไว้ก็ตาม
แต่วันนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตื่นจากหลับใหลแล้ว บริษัทจดทะเบียนใดที่มีธุรกรรมการเงินต้องสงสัยว่า มีความไม่โปร่งใส และสร้างความเสียหายให้ประชาชนผู้ลงทุน จะเข้าตรวจสอบและสั่งให้ชี้แจงเหตุผลการทำธุรกรรมทันที
การสั่งให้ชี้แจงธุรกรรมการเงินอันมีปมน่าสงสัย เป็นการส่งสัญญาณถึงนักลงทุน เตือนถึงพฤติกรรมผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในทางอ้อม และเตือนให้ระมัดระวังการลงทุนในตัวหุ้นโดยตรง
สัญญาณเตือนภัยบริษัทจดทะเบียนที่มีธุรกรรมการเงินน่าสงสัยเห็นผลทันที เพราะนักลงทุนเผ่นหนีจากหุ้นที่มีแนวโน้มจะเป็นหุ้นเน่า พากันเทขายหุ้นทิ้ง จนราคาทรุดตามๆ กัน
แต่ธุรกรรมการเงินที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าไม่โปร่งใส เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว สร้างความเสียหายให้นักลงทุนแล้ว และขบวนการผ่องถ่ายเงินออกจากบริษัทจดทะเบียนอาจสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว
คำถามต่อไป ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้ธุรกรรมการไซฟ่อน ผ่องถ่ายเงินเกิดขึ้นอีก
และผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่โยกเงินออก ผ่านช่องทางธุรกรรมทางการเงิน ตลาดหลักทรัพย์จะลากคอมาลงโทษได้ไหม