xs
xsm
sm
md
lg

CIG...ธุรกรรมซ้ำรอย STARK / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงการทำงานครั้งใหญ่ โดยเน้นความเข้มข้นของมาตรการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน และประเดิมมาตรการกำกับที่เข้มข้น โดยสั่งให้บริษัทจดทะเบียนหลายที่มีธุรกรรมต้องสงสัยชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม

ล่าสุด พุ่งเป้าไปที่ บริษัท ซี.ไอ.กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CIG โดยวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา สั่งให้ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 2 ปี 2566 เกี่ยวกับการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าหุ้น

และการวางเงินค้ำประกันความเสียหาย เพื่อ Due Diligence จำนวนรวม 724 ล้านบาท หรือ 84% ของส่วนของผู้ถือหุ้น โดยขอให้ชี้แจงหลักเกณฑ์การพิจารณาและเหตุผลการจ่ายเงินค่าหุ้นล่วงหน้าภายในวันที่ 16 ตุลาคม 2556

ผู้สอบบัญชีตั้งข้อสังเกตในงบการเงินไตรมาสที่ 2 ของ CIG เกี่ยวกับการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าซื้อหุ้นบริษัท อิมแพ็ค กรีน ยูทิลิตี้ โฮลดิ้ง จำกัด (IGU) วงเงิน 225 ล้านบาท หรือเต็ม 100% ของมูลค่าหุ้นที่จะซื้อ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ทีผ่านมา และต่อมาเดือนมิถุนายนได้ปรับรูปแบบการลงทุนเป็นการซื้อหุ้นบริษัท Holding Company ของ IGU แทน

และราคาหุ้น IGU ที่ซื้อสูงกว่าราคาประเมิน 90 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบขอให้คณะกรรมการบริหารบริษัทเพิ่มความระมัดระวังในการทำรายการ

การขอให้ชี้แจงการจ่ายเงินล่วงหน้าก่อนรับโอนกิจการทั้งหมดของบริษัท กู๊ด เวน เจอร์ส จำกัด จำนวน 260 หรือ 58% ของมูลค่ากิจการ เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 โดยการโอนกิจการทั้งหมดจะเสร็จสมบูรณ์เมื่อบริษัทชำระเงินส่วนที่เหลือ 190 ล้านบาท ภายในเดือนมิถุนายน 2567

การให้ชี้แจงการวางเงินประกันความเสียหาย เพื่อ Due Diligence บริษัท เจ หลิง โซลูชั่น จำกัด (JLS) จำนวน 42 ล้านบาท

และการชี้แจงการวางเงินประกันเพื่อทำ Due Diligence อีก 4 บริษัท วงเงิน 197 ล้านบาท โดยเดือนกรกฎาคม 2566 คณะกรรมการบริหารบริษัทมีมติรับทราบการเลื่อนกำหนดการลงทุน การเปลี่ยนรูปแบบการลงทุน จากเดิมที่คณะกรรมการบริหารมีมติให้เข้าทำข้อตกลงร่วมทุนและวางเงินประกันเพื่อทำ Due Diligence บริษัทละ 50 ล้านบาท เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566

ตลาดหลักทรัพย์ระบุว่า CIG มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการตรวจสอบหลายครั้ง โดยปัจจุบันคณะกรรมการตรวจสอบที่ขอให้คณะกรรมการบริหารเพิ่มความระมัดระวังในการทำรายการซื้อหุ้น IGU ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการตรวจสอบของบริษัททั้ง 3 คน และบริษัทมีกรรมการตรวจสอบ 2 คน ซึ่งไม่ครบถ้วนตามข้อกำหนด

นอกจากนี้ บริษัทผิดนัดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญาปรับโครงสร้างหนี้มูลหนี้เงินต้น 19 ล้านบาท โดยยังไม่ได้เปิดเผยผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ตามเกณฑ์

ตลาดหลักทรัพย์ออกคำเตือนแนบท้ายประกาศขอให้นักลงทุนศึกษาข้อมูลในงบการเงินและติดตามคำชี้แจงของ CIG

CIG เป็นหุ้นในตลาด MAI ผลประกอบการขาดทุนติดต่อหลายปี ราคาหุ้นในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมารูดลงต่อเนื่อง โดยเคยสร้างจุดสูงสุดที่ 65 สตางค์ และต่ำสุดที่ 17 สตางค์ ระหว่างชั่วโมงซื้อขายวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา ก่อนจะเคลื่อนไหวที่ 20 สตางค์เศษ

และแม้ถูกตลาดหลักทรัพย์สั่งให้ชี้แจงหลักเกณฑ์การพิจารณาและเหตุผลการจ่ายค่าซื้อหุ้นบริษัทอื่นล่วงหน้า ซึ่งถือเป็นปัจจัยลบ แต่ราคาหุ้นเมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมาไม่ได้ผันผวนมากนัก โดยปิดที่ 21 สตางค์ ลดลง 1 สตางค์

อย่างไรก็ตาม ธุรกรรมการชำระค่าซื้อหุ้นล่วงหน้าในหลายรายการ จนผู้สอบบัญชีตั้งข้อสังเกตถือเป็นปมใหญ่ เพราะเป็นธุรกรรมที่มีลักษณะเดียวกันกับบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ซึ่งสร้างธุรกรรมจ่ายเงินล่วงหน้าค่าซื้อสินค้า เพื่อผ่องถ่ายเงินออกจากบริษัท

และเงินที่ผู้บริหาร CIG ขนออกไปจ่ายล่วงหน้าค่าซื้อหุ้น 724 ล้านบาทนั้น มีสัดส่วนถึง 84% ของส่วนของผู้ถือหุ้น

โครงสร้างผู้ถือหุ้น CIG ประกอบด้วยผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 4,248 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 82.58% ซึ่งเงินที่ผู้บริหาร CIG โยกออกไปจ่ายล่วงหน้าค่าซื้อหุ้นนั้นแทบทั้งหมดเป็นเงินของผู้ถือหุ้นรายย่อย

ถ้าเกิดความเสียหายจากรายการซื้อหุ้นและการวางหลักประกันความเสียหาย ผู้ถือหุ้นรายย่อย CIG จะได้รับความเสียหายเต็มเปา

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา CIG รายงานผลการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 867.09 ล้านบาท จัดสรรขายผู้ถือหุ้นเดิมสัดส่วน 2 หุ้นเดินต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 50 สตางค์ โดยมีผู้จองซื้อ 480.83 ล้านหุ้น ระดมเงินได้ 240.41 ล้านบาท และมีหุ้นเหลือขาย 386.25 ล้านหุ้น

สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือ ใครเป็นผู้ใช้สิทธิจองซื้อหุ้น CIG มีเพียงนักลงทุนรายย่อยเท่านั้นหรือไม่ โดยผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทไม่ยอมใส่เงิน แต่หลอกให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยเติมเงินเข้ามาแทนจนต้องเสียหายซ้ำสอง เพราะขาดทุนทั้งหุ้นตัวแม่ และเจ๊งย่อยยับกับการซื้อหุ้นตัวลูก

การออกประกาศเตือนนักลงทุนครั้งนี้ถือว่าตลาดหลักทรัพย์ “จัดหนัก” สำหรับ CIG เพราะนอกจากจี้ให้ชี้แจงธุรกรรมอันต้องสงสัยเกี่ยวกับการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าซื้อหุ้นแล้ว ยังชี้ให้เห็นว่ากรรมการอิสระบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ทยอยเผ่นกันแล้ว

รวมทั้งเปิดเบาะแสการผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาการปรับโครงสร้างหนี้เงินต้นเพียง 19 ล้านบาท ซึ่งยังไม่ยอมแจ้งข้อมูลให้นักลงทุนรับรู้ ผิดหลักเกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย

ราคาหุ้นที่ปักหัวมาตลอดนับจากต้นปี อาจเป็นการส่งสัญญาณว่า CIG กำลังใกล้วาระสุดท้ายแล้ว

และธุรกรรมที่ฝ่ายบริหารบริษัทสร้างขึ้นจนตลาดหลักทรัพย์เข้ามาตรวจสอบอาจทำให้ CIG เหลือแต่ซาก










กำลังโหลดความคิดเห็น