สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เริ่มขยับปรับมาตรการกำกับดูแลและควบคุมบริษัทจดทะเบียนให้มีความเข้มข้นขึ้น โดยพุ่งเป้าไปที่บทบาทของกรรมการตรวจสอบบริษัทจดทะเบียน
ก.ล.ต.ออกหนังสือเวียนถึงกรรมการตรวจสอบบริษัทจดทะเบียนทุกแห่ง ปลุกให้ลุกขึ้นทำหน้าที่ปกป้องผู้ลงทุน ตื่นตัวในการป้องกันพฤติกรรมที่ไม่เหมาะของบริษัทจดทะเบียน และกรรมการผู้จัดการบริษัท ซึ่งหากมีข้อมูลที่น่าสงสัยต้องแจ้งทันที
กรรมการตรวจสอบต้องดูให้บริษัทจดทะเบียนมีระบบสอบทานภายใน สามารถค้นพบความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นอย่างทันสถานการณ์
ขณะที่รายงานทางการเงินบริษัทต้องมีความถูกต้องน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นผลประกอบการ ยอดขาย ฐานะทางการเงิน ทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการตัดสินใจลงทุนของประชาชนผู้ลงทุน
กรรมการตรวจสอบทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนผู้ถือหุ้น จึงต้องสอดส่องและป้องกันพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของบริษัทจดทะเบียน
บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นถูกกำหนดให้ต้องมีกรรมการตรวจสอบ เพื่อทำหน้าที่ดูแลปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนผู้ลงทุน ตรวจสอบดูแลไม่ให้บริษัทจดทะเบียนกระทำผิด ทั้งการทุจริตการสร้างราคาหุ้น การใช้ข้อมูลภายในเอาเปรียบนักลงทุน และการแต่งบัญชีตบตาประชาชน
แต่ที่ผ่านมา กรรมการตรวจสอบเป็นเพียงเสือกระดาษ เป็นเพียงไม้ประดับของฝ่ายบริหารบริษัท กินเงินเดือนไปวันๆ ไม่ได้ตระหนักหน้าที่ของตัวเอง ไม่สำนึกในความรับผิดชอบ
และไม่เคยต้องรับผิดชอบใดๆ แม้บริษัทจะสร้างความเสียหายร้ายแรงให้นักลงทุนในวงกว้างก็ตาม
ก.ล.ต.ละเลยต่อการกำกับบทบาทหน้าที่ของกรรมการตรวจสอบมายาวนาน ไม่เคยเรียกหาความรับผิดชอบ ไม่เคยมีมาตรการลงโทษ หรือแม้แต่การคาดโทษ ทั้งที่บริษัทจดทะเบียนนับร้อยแห่งก่อพฤติกรรมผิดในรูปแบบต่างๆ มานานหลายสิบปี
ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนจำนวนมาก เมื่อระดมทุนจากการเสนอขายหุ้นนักลงทุนได้ และหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ จะเริ่มปฏิบัติ “ล้วงเงิน” ออกจากบริษัทด้วยการผ่องถ่ายทรัพย์สิน ทั้งในรูปแบบการลงทุน การซื้อขายทรัพย์สิน การใช้จ่ายอย่างล้างผลาญ ควบคู่กับการทยอยขายหุ้นทิ้ง
จนสุดท้ายบริษัทเหลือแต่ซาก หุ้นแปรสภาพเป็นหุ้นเน่า ผู้ถือหุ้นใหญ่เหลือหุ้นถืออยู่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ โดยนักลงทุนรายย่อยเป็นผู้รับเคราะห์ แบกรับหุ้นต้นทุนสูงจากผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เทขายทิ้ง
การซื้อรถหรูราคาแพงมาประดับตำแหน่งเป็นพฤติกรรมโดยทั่วไปของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน บางคนซื้อชุดเครื่องเสียงราคาหลายล้านบาทไว้ฟังในห้องทำงานตัวเอง เพราะถือว่าไม่ได้ใช้เงินตัวเองซื้อ แต่เป็นเงินของผู้ถือหุ้นรายย่อย
ถ้ากรรมการตรวจสอบมีความตระหนักในบทบาทหน้าที่ สำนึกในภารกิจปกป้องผู้ถือหุ้นรายย่อย การกำกับ ควบคุมบริษัทจดทะเบียนจะมีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่
ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนคงไม่สามารถปล้นเงินนักลงทุนได้ง่ายๆ การผ่องถ่ายทรัพย์สินทำได้ยาก การใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือยล้างผลาญ เพื่อปรนเปรอความสุขตัวเอง และการเอารัดเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อยอาจเกิดขึ้นน้อยมาก
เพราะมีคนทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาแทนผู้ถือหุ้นรายย่อย ตรวจสอบ สอดส่องพฤติกรรมผิดอยู่ภายในบริษัทจดทะเบียน
แต่เสียดายที่กรรมการตรวจสอบถูกปล่อยให้หลับใหล และบทบาทที่ได้รับมอบหมายในฐานะตัวแทนผู้ถือหุ้นถูกกองทิ้งไว้ แต่มุ่งรับใช้เอาใจฝ่ายบริหารบริษัทจดทะเบียนมาตลอด
หายนะจากบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK กลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่พุ่งเข้าใส่หน่วยงานกำกับตลาดหุ้น รวมทั้ง ก.ล.ต.ที่เห็นถึงความล้มเหลวของกรรมการตรวจสอบ ซึ่งกลายเป็นจุดบอดในการกำกับ ควบคุมดูแลบริษัทจดทะเบียน
ก.ล.ต.เคาะระฆัง ส่งสัญญาณปลุกสำนึกของกรรมการตรวจสอบบริษัทจดทะเบียนแล้ว กำชับให้ทำหน้าที่คุมประพฤติผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน
อย่าเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ปล่อยให้ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนทำร้ายประชาชนผู้ลงทุนนับแสนๆ รายมายาวนาน
บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการตรวจสอบถูกหยิบยกขึ้นมาให้สังคมจับจ้อง พร้อมกับการถามหาสำนึกความรับผิดชอบแล้ว
กรรมการตรวจสอบบริษัทจดทะเบียนมีจำนวนหลายร้อยคน จะตระหนักบ้างหรือไม่ว่า
ความเสียหายของประชาชนผู้ลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งเกิดจากผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนโกงนั้น กรรมการตรวจสอบมีส่วนร่วมสร้างบาปกรรมด้วย
(ผมเดินทางไปต่างประเทศ คอลัมน์ชุมชนคนหุ้นจะขาดหายไป 2 วัน)