หลังจากยืดเยื้อมานานสำหรับการพิจารณาแต่งตั้งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งนางพรอนงค์ บุษราตระกูล เป็นเลขาธิการ ก.ล.ต.คนใหม่
ถ้าไม่นับคนที่มานั่งรักษาการ ถ้าไม่นับนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ซึ่งเป็นเลขาธิการ ก.ล.ต. 2 วาระ นางพรอนงค์ จะเป็นเลขาธิการ ก.ล.ต.คนที่ 8 และเป็นสตรีคนที่ 2 ที่ได้รับตำแหน่งต่อจาก น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล
นางพรอนงค์ เป็น 1 ใน 2 ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.กลั่นกรองคุณสมบัติก่อนเสนอกระทรวงการคลังพิจารณา และให้ ครม.อนุมัติแต่งตั้ง โดยอีกคนที่ได้รับการเสนอชื่อคือ นางวรัญญา ศรีมาจันทร์ รองเลขาธิการ ก.ล.ต.
เลขาฯ ก.ล.ต.คนใหม่ ควรจะเริ่มงานตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 แล้ว แต่เนื่องจากการสรรหาบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อถูกร้องเรียนว่าไม่มีความเป็นธรรม โดย น.ส.รื่นวดีได้ฟ้องนายพิชิต อัคราทิตย์ ประธานคณะกรรมการ ก.ล.ต.ต่อศาลปกครอง
นอกจากนั้น ยังเป็นช่วงใกล้เลือกตั้ง และรอการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงไม่หยิบยกวาระการแต่งตั้งเลขาธิการ ก.ล.ต.ขึ้นพิจารณา และปล่อยให้รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน พิจารณา
ในช่วงรอยต่อการแต่งตั้งนางพรอนงค์ ก.ล.ต.เหมือนขาดกัปตันขับเคลื่อนองค์กร ขณะที่ตลาดหุ้นเกิดวิกฤตครั้งใหญ่ กรณีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ซึ่งแต่งบัญชีแหลกลาญ สร้างตัวเลขรายได้เทียมตบตานักลงทุนมาหลายปี
ผู้ถือหุ้นกู้ STARK จำนวนประมาณ 5 พันราย เดือดร้อนอย่างหนัก เพราะเงินของบริษัทถูกผ่องถ่ายจนเหลือแต่ซาก นักลงทุนที่ซื้อหุ้น STARK นับหมื่นราย อยู่ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว เพราะราคาหุ้นแทบกลายเป็นศูนย์
ตลาดหุ้นสั่นสะเทือน ความเสียหายกระจายในวงกว้าง โดยคาดว่าเงินที่ผู้บริหาร STARK ปล้นไปมีจำนวนหลายหมื่นล้านบาท
เสียงของนักลงทุนดังกระหึ่ม เรียกร้องให้ ก.ล.ต.เร่งแก้ไขปัญหา เร่งเยียวยานักลงทุนผู้ถือหุ้นกู้และหุ้นสามัญ โดยใช้อำนาจเข้าควบคุม STARK อายัดทรัพย์ผู้บริหารบริษัทฯ และขออำนาจศาลห้ามผู้บริหารบริษัทฯ เดินทางออกนอกประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้ความเสียหายลุกลาม
แต่ ก.ล.ต.แทบไม่แสดงบทบาทใดในการแก้ปัญหา STARK มากนัก โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นที่ความฉาวโฉ่ในบริษัทฯ ถูกเปิดโปง ซึ่งไม่รู้ว่า เกิดจาก ก.ล.ต.ไม่มีคนตัดสินใจสั่งดำเนินมาตรการแก้ปัญหาหรือไม่
วิกฤต STARK ทำให้ ก.ล.ต.ถูกวิพากษ์วิจารณ์การทำงานอย่างหนัก เพราะดำเนินมาตรการแก้ปัญหาล่าช้า ปล่อยให้ปัญหาลุกลาม โดยนักลงทุนถูกลอยแพ รวมนักลงทุนที่ซื้อหุ้นกู้ วงเงินกว่า 9.1 พันล้านบาท ซึ่งต้องดิ้นรนฟ้องร้องบังคับชำระหนี้ด้วยตัวเอง
และไม่เฉพาะหุ้นกู้ STRAK เท่านั้น ยังมีหุ้นกู้ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL หุ้นกู้บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN และหุ้นกู้บริษัทจดทะเบียนอีกหลายแห่งก่อนหน้าที่ผิดนัดชำระหนี้
ทั้งที่ ก.ล.ต.เป็นผู้กำกับดูแล และพิจารณาอนุมัติการออกหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น แต่ไม่อาจช่วยเหลือผู้ถือหุ้นกู้ได้
STARK ได้ตีแผ่ความล้มเหลวในการดูแลปกป้อง คุ้มครองประชาชนผู้ลงทุน ทั้ง ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์อย่างชัดเจน ยังไม่นับความเสียหายที่เกิดจากการปั่นหุ้นหายสิบบริษัท การใช้ข้อมูลภายในหรืออินไซเดอร์เอาเปรียบนักลงทุนทั่วไป
และการแต่งบัญชี การสร้างหนี้เทียม การยักยอกทรัพย์ ผ่องถ่ายทรัพย์สินจากบริษัทจดทะเบียน สร้างหายนะให้ประชาชนผู้ลงทุนนับแสนๆ ราย ตลอดระยะเวลา 48 ปีตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหุ้น
เลขาธิการ ก.ล.ต.มีมา 7 คนแล้ว แต่ยังไม่เคยมีเลขาธิการ ก.ล.ต.คนใด สามารถจัดระเบียบตลาดหุ้นให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม และจำกัดแก๊งมิจฉาชีพให้สิ้นได้
ประชาชนผู้ลงทุนยังถูกปล้น ถูกโกง ถูกเอารัดเอาเปรียบในสารพัดรูปแบบ และต้องเดินออกจากตลาดหุ้นในสภาพหมดตัวนับไม่ถ้วน
ความผิดพลาดล้มเหลวในบทบาทกำกับ ควบคุมดูแลบริษัทจดทะเบียน มาตรการปกป้องคุ้มครองประชาชนผู้ลงทุนที่ยังไร้ประสิทธิภาพของ ก.ล.ต.ที่ผ่านมา เป็นอดีตที่ไม่อาจรื้อฟื้นขึ้นมาแก้ไขได้
แต่ก้าวต่อในบทบาทของ ก.ล.ต. เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะประชาชนผู้ลงทุนในตลาดหุ้น ไม่ควรถูกปล้นหรือถูกโกงอีกแล้ว
แก๊งมิจฉาชีพในตลาดหุ้นต้องถูกกำจัดออกไป
ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่ก่อพฤติกรรมผิด เอารัดเอาเปรียบหรือสร้างความเสียหายนักลงทุน จะต้องถูกลงโทษหนัก
มาตรการกำกับดูแล และแก้ปัญหาบริษัทจดทะเบียนจะต้องปรับเปลี่ยนให้เข้มข้น เด็ดขาดและมีความฉับไว โดยเมื่อบริษัทจดทะเบียนแห่งใดเริ่มมีปัญหาต้องดำเนินมาตรการแก้ไขทันที
ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ที่กำลังระบาดในบริษัทจดทะเบียน ก.ล.ต.ต้องทบทวนว่า จะมีมาตรการป้องกันแก้ไขอย่างไร เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องรับกรรมจากหุ้นกู้เน่าๆ
เลขาธิการ ก.ล.ต.คนใหม่ ได้รับการแต่งตั้งพร้อมกับความคาดหวังว่า น่าจะสร้างผลงานโดดเด่นเห็นชัดกว่าเลขาธิการ ก.ล.ต.คนที่ผ่านๆ มา การผ่าตัด ปรับปรุง ยกเครื่องใหญ่ ก.ล.ต.เป็นสิ่งที่หลีกหนีไม่ได้ เพื่อให้เป็นหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนที่ประชาชนศรัทธา ฝากผีฝากไข้ได้
ภารกิจของเลขาธิการ ก.ล.ต.คนใหม่คือ การพลิกฟื้นศรัทธาขององค์กร การทบทวนบทบาทที่ล้มเหลวในอดีต
และต้องตระหนักถึงการต้องปกป้องประชาชนผู้ลงทุนไม่ให้บาดเจ็บล้มตายจากการถูกโกง ไม่ว่าจะลงทุนหุ้นกู้ หุ้นสามัญ หรือเก็งกำไรเงินสกุลดิจิทัลก็ตาม