xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.ต้องเข้มคุมหุ้นกู้เน่าๆ / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตั้งแต่ต้นปี 2566 บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ ส่งผลกระทบต่อการเสนอขายหุ้นกู้ทั้งระบบ เพราะนักลงทุนไม่มีมั่นใจว่าบริษัทจดทะเบียนอีกนับสิบแห่งที่ทยอยออกหุ้นกู้จะมีปัญหาในการไถ่ถอนตามมาอีกหรือไม่

หลายสิบปีก่อน หุ้นกู้เป็นที่นิยมของนักลงทุน เพราะความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนในหุ้นสามัญ และแม้จะมีความเสี่ยงสูงกว่าการฝากเงินกินดอกเบี้ย แต่ผลตอบแทนจูงใจกว่ามาก โดยบริษัทจดทะเบียนไม่ได้มีปัญหาเบี้ยวหนี้หุ้นกู้เหมือนปัจจุบัน

แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนเริ่มมีปัญหาการไถ่ถอนหุ้นกู้ ทำลายความเชื่อมั่นนักลงทุนทีละน้อย จนปีนี้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นผิดนัดชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง

จนความเสี่ยงในการลงทุนหุ้นกู้ยกระดับใกล้เคียงความเสี่ยงการลงทุนหุ้นสามัญ เพราะลงทุนหุ้นกู้ไว้ เงินต้นอาจสูญทั้ง 100% เช่นหุ้นกู้ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK

หุ้นกู้ที่ไม่มีอันดับความน่าเชื่อถือ ไม่มีหลักประกัน อาจได้รับผลตอบแทนสูงตามความเสี่ยง โดยบริษัทจดทะเบียนอาจจ่ายดอกเบี้ยถึง 7-8% ต่อปี เพื่อจูงใจนักลงทุน

แต่ถ้าอัตราความเสี่ยงหุ้นกู้ยกระดับใกล้เคียงหรือเทียบเท่าหุ้นสามัญ การลงทุนในหุ้นสามัญอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า โดยถ้าเลือกเฟ้นหุ้นแนวโน้มผลประกอบการเติบโตอาจได้รับผลตอบแทนปีละ 100% ได้เหมือนกัน

หุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียน นักลงทุนมักเชื่อว่าไม่น่าจะเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ และสามารถจ่ายดอกเบี้ยได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้

แต่เมื่อเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ ผู้ถือหุ้นกู้เดือดร้อนกันทันที เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้เงินต้นคืน โดยเฉพาะหุ้นกู้ STARK วงเงินประมาณ 9.1 พันล้านบาท จำนวนผู้ถือหุ้นกู้ประมาณ 5 พันราย

แม้แต่หุ้นกู้บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL วงเงินรวมกว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งมีคดีฟ้องร้อง บังคับนำหลักประกันซึ่งเป็นที่ดินย่านสุขุมวิทออกประมูลขาย ยังไม่รู้คดีจะยืดเยื้อยาวนานเท่าไหร่

รวมทั้งหลักประกันที่ประเมินราคาไว้มูลค่าสูงกว่ามูลหนี้หุ้นกู้ เมื่อนำออกขายทอดตลาดจะมีกระบวนการใดทำให้การประมูลขายทอดตลาดได้ราคาต่ำ จนผู้ถือหุ้นกู้ไม่ได้รับชำระคืนเงินต้นเต็มจำนวน

หุ้นกู้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสร้างความเสียหายให้นักลงทุน เทียบเคียงได้กับหุ้นสามัญบริษัทจดทะเบียนที่มีพฤติกรรมปั่นราคาหรือมีพฤติกรรมโกง

แต่มาตรการกำกับดูแล ควบคุมหุ้นกู้กลับขาดความเข้มข้น มาตรการตรวจสอบหรือบทลงโทษบริษัทจดทะเบียนที่ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้มีความรุนแรงน้อยกว่ามาก

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ควรทบทวนปรับหลักเกณฑ์และมาตรการควบคุมหุ้นกู้ให้เข้มข้นขึ้น เพื่อปกป้องนักลงทุนให้ปลอดภัยจากหุ้นกู้เน่าๆ

บริษัทจดทะเบียนใดผิดนัดชำระหุ้นกู้ อาจกำหนดมาตรการร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย SP พักการซื้อขายหุ้น จนกว่าจะแก้ปัญหาผิดนัดชำระหนี้ได้

บริษัทจดทะเบียนที่ผิดชำระหนี้หุ้นกู้ สะท้อนให้เห็นชัดว่าบริษัทฯ มีปัญหาฐานะทางการเงิน ถ้าปล่อยให้การซื้อขายหุ้นต่อไปอาจสร้างความเสียหายซ้ำสองกับนักลงทุนในตลาดหุ้นได้

ส่วนกรรมการบริษัทจดทะเบียนที่ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้จะต้องมีส่วนความรับผิดชอบ โดยอาจขึ้นบัญชีดำ ห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในช่วงเวลาที่กำหนด

เพื่อให้กรรมการบริษัทจดทะเบียนร่วมเป็นหูเป็นตา ตรวจสอบและสอดส่องการออกหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียน ป้องกันความเสียหายของผู้ลงทุนตั้งแต่ต้นทาง

ไม่ใช่ปล่อยให้กรรมการบริษัทจดทะเบียน เป็นเพียงไม้ประดับกินเงินเดือนไปวันๆ โดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ

และการเสนอขายหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียนทุกแห่งจะต้องรายงานผลการเสนอขายให้ ก.ล.ต.รับทราบ ก่อนที่จะเผยแพร่ให้ประชาชนผู้ลงทุนรับรู้ว่า หุ้นกู้ขายหมดหรือไม่ มีประชาชนผู้ลงทุนสนใจจองซื้อเท่าไหร่ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทนในหุ้นกู้บริษัทจดทะเบียนอื่น และเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนในหุ้นบริษัทจดทะเบียนที่ออกหุ้นกู้ด้วย

บริษัทจดทะเบียนที่ออกหุ้นเพิ่มทุน ออกใบสำคัญแสดงสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญ หรือวอร์แรนต์ ไม่ว่าจะขายผู้ถือหุ้นเดิม หรือขายบุคคลในวงจำกัด ต้องแจ้งข้อมูลผลการขายให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ

แต่ไม่เคยมีรายงานผลเสนอขายหุ้นกู้ ทั้งที่เป็นข้อมูลสำคัญ และมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในหุ้นกู้ของประชาชน และการลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนที่ออกหุ้นกู้

หุ้นกู้สร้างความเสียหายแผ่ขยายไปสู่นักลงทุนในวงกว้างมากทุกที แต่ ก.ล.ต.ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล และพิจารณาอนุมัติ ยังไม่มีการขยับปรับตัวและปรับมาตรการกำกับ ควบคุม ดูแลหุ้นกู้แต่อย่างใด

วันนี้นักลงทุนที่ล่มจมกับหุ้นกู้บริษัทจดทะเบียนเหมือนถูกลอยแพ ไร้หน่วยงานเหลียวแล หุ้นกู้เน่าๆ ของบริษัทจดทะเบียน กำลังทำให้ตลาดหุ้นกู้ทั้งระบบพังนินาศ แต่ ก.ล.ต.ไม่มีการตื่นตัวกับความเสียหายของประชาชนจากหุ้นกู้เน่าๆ ที่ ก.ล.ต.อนุมัติออกมาขาย








กำลังโหลดความคิดเห็น