บมจ.อัลฟาแคปปิตอล พาร์ทเนอร์ส กรุ๊ป (ACPG) ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 1,041,230,000 หุ้น คิดเป็น 45% ของหุ้นทั้งหมดภายหลัง IPO และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ และ บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
การเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ แบ่งเป็นหุ้นเพิ่มทุน 578,460,000 หุ้น หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Pacific Investment Management (Mauritius) Limited (PIM) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิม 312,370,000 หุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย 9 Basil ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิม 300,120,000 หุ้น
บริษัทมีวัตถุประสงค์การใช้เงินจากการระดมทุนครั้งนี้เพื่อใช้ลงทุนในพอร์ตโฟลิโอสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขาย เพื่อชำระคืนเงินกู้ยืม และเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
ACPG ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) และดำเนินธุรกิจผ่านบริษัทย่อย โดยมีธุรกิจบริหารสินทรัพย์อย่างครบวงจรเป็นธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) ที่มีหลักประกัน และธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย (NPA)
ปัจจุบันบริษัทถือหุ้น 100% ในบริษัท บริหารสินทรัพย์อัลฟาแคปปิตอล จำกัด (ALPHA) และบริษัท บริหารสินทรัพย์ ไวร์เลส จำกัด (WAMC) ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท.
บริษัทมีนโยบายมุ่งเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกัน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ไม่มีหลักประกัน เนื่องจากบริษัทสามารถที่จะติดตามหนี้จากลูกหนี้ได้โดยการรับชำระเงิน หรือรับชำระหนี้ที่คงเหลือผ่านกระบวนการทางศาลด้วยการบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันและนำไปขายทอดตลาดได้
การประกอบธุรกิจของบริษัทฯ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
(1) ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) บริษัทดำเนินธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพโดยการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินในประเทศไทย เช่น ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์อื่น และบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพด้วยการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้เพื่อหาข้อตกลงที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกฝ่าย โดยสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่บริษัทฯ รับซื้อหรือรับโอนมาจะมีหลักประกันเป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้จดทะเบียนจำนองแก่บริษัทฯ โดยบริษัทฯ บันทึกบัญชีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเป็น เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ในราคาทุนที่รับซื้อหรือรับโอนมา
(2) ธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย (NPA) บริษัทมีนโยบายที่มุ่งเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกันเป็นหลัก โดยทรัพย์สินรอการขายส่วนใหญ่มาจากการประมูลซื้อหลักประกันสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากการขายทอดตลาด หรือจากการตีทรัพย์ชำระหนี้ของลูกหนี้สินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบริษัท อย่างไรก็ดี ทรัพย์สินรอการขายบางส่วนของบริษัทมาจากการเข้าประมูล
โครงสร้างการถือหุ้นของบริษัท ณ วันที่ 2 มิ.ย.66 มี PIM ถือหุ้น 885,049,610 หุ้น คิดเป็น 51% หลัง IPO จะลดเหลือ 628,099,610 หุ้น คิดเป็น 28% อันดับ 2 คือ 9 Basil Pte. Ltd. ถือหุ้น 850,342,290 หุ้น คิดเป็น 49% หลัง IPO จะลดเหลือ 603,472,290 หุ้น หรือคิดเป็น 27%
รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทในปี 63-65 และงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.65 และ 66 เท่ากับ 381.3 ล้านบาท 475.0 ล้านบาท 728.0 ล้านบาท 293.8 ล้านบาท และ 311.1 ล้านบาท ตามลำดับ
โดยรายได้จากการดำเนินงานส่วนมากมีที่มาจากรายได้จากธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ 182.5 ล้านบาท 312.2 ล้านบาท 499.8 ล้านบาท 198.4 ล้านบาท และ 154.5 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นร้อยละ 47.9 ร้อยละ 65.7 ร้อยละ 68.7 ร้อยละ 67.5 และ ร้อยละ 49.7 จากรายได้จากการดำเนินงานของบริษัทฯ ตามลำดับ
รายได้จากการดำเนินงานที่มีนัยสำคัญลำดับถัดมา ได้แก่ รายได้จากธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย เท่ากับ 146.9 ล้านบาท 113.6 ล้านบาท 189.4 ล้านบาท 82.3 ล้านบาท และ 144.1 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นร้อยละ 38.5 ร้อยละ 23.9 ร้อยละ 26.0 ร้อยละ 28.0 และ ร้อยละ 46.3 จากรายได้จากการดำเนินงานของบริษัทฯ ตามลำดับ
รายได้ส่วนที่เหลือจะประกอบไปด้วย รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ และรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ เช่น รายได้ดอกเบี้ยจากเงินฝากธนาคาร รายได้ค่าธรรมเนียมศาลได้รับคืน รายได้ค่าธรรมเนียมกรมบังคับคดีได้รับคืน กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น
กำไร (ขาดทุน) สำหรับงวดปี 63-65 และสำหรับงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.65 และ 66 บริษัทฯ มีกำไรสำหรับงวด/ปี เท่ากับ 137.8 ล้านบาท 1.0 ล้านบาท 223.4 ล้านบาท 108.7 ล้านบาท และ 138.0 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิเท่ากับร้อยละ 36.1 ร้อยละ 0.2 ร้อยละ 30.7 ร้อยละ 37.0 และร้อยละ 44.3 ตามลำดับ
ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการ หลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและหลังหักทุนสำรองต่างๆ ทุกประเภทที่กำหนดไว้ตามข้อบังคับของบริษัทฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง