xs
xsm
sm
md
lg

BAM รับมือภาวะ ศก.ลุยแก้หนี้รายใหญ่-ขายทรัพย์ราคาพิเศษ มั่นใจผลเรียกเก็บเข้าเป้า 1.78 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ขวามือ) นายบัณฑิต อนันตมงคล (ซ้าย) นายสันธิษณ์ วัฒนกุล
BAM เผยผลงานครึ่งปี 2566 อยู่ในระดับที่น่าพอใจ มีผลเรียกเก็บ 7,357 ล้านบาท โดยผลเรียกเก็บไตรมาสที่ 2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ปีนี้ 28% และมีกำไร 425 ล้านบาท ขณะที่การลงทุนซื้อทรัพย์เติบโตสูงถึง 296% โดยซื้อทรัพย์เข้ามาบริหาร (ภาระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย) 22,408 ล้านบาท ชี้กลยุทธ์ครึ่งหลังปีนี้รุกธุรกิจเต็มสูบทั้งด้าน NPL/NPA เช่น การบริหารจัดการ Clean Loan และการนำทรัพย์ราคาพิเศษจัดแคมเปญลดจัดหนักกว่า 10,000 รายการ พร้อมเร่งประมูลหนี้มาบริหารเพิ่มกว่า 70,000 ล้านบาทภายในปีนี้ หวังดันผลเรียกเก็บทั้งปีเข้าเป้า 17,800 ล้านบาท

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวว่า ภาพรวมการดำเนินธุรกิจของ BAM นั้น สิ่งที่ดีคือ การขายทรัพย์สินรอการขาย (NPA) เพราะมีกลุ่มที่มีกำลังซื้อเข้ามาซื้อทรัพย์ฯ

แต่ที่ยังน่ากังวล ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) เป็นห่วง คือ ภาระหนี้ภาคครัวเรือนซึ่งเป็นหนี้การบริโภคเป็นหลัก และเป็นเรื่องยากที่จะปรับตัวเลขหนี้ลง เพราะภาพที่เราเห็นทั้่งหมดของเรา เป็นหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ตัวเลขเรียกเก็บ NPL ไม่เป็นอย่างที่เราคิดไว้

"เมื่อเราเห็นภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวในทุกภาคส่วน ยกเว้นภาคท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น แต่เรากังวลนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ที่จะเข้ามาช่วงหน้าหนาวไม่ได้เข้าเป้า ส่วนนักท่องเที่ยวจากอินเดีย และยุโรปพอเข้ามาเสริมตลาดท่องเที่ยวได้ ดังนั้น เมื่อสถานการณ์แบบนี้ ทำให้เราต้องปรับนโยบายและกลยุทธ์ใหม่ เพื่อให้ตัวเลขเข้าเป้า"

สำหรับภาพรวมธุรกิจในครึ่งแรกของปี 2566 นายบัณฑิต กล่าวว่า ผลประกอบการโดยรวมอยู่ในระดับที่น่าพอใจ มีผลเรียกเก็บ 7,357 ล้านบาท ซึ่งไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ มีผลเรียกเก็บ 4,127 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ที่มีผลเรียกเก็บ 3,230 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 28% และมีกำไร 425 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 59% จากไตรมาสที่ 1 ซึ่งมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 267 ล้านบาท

ด้านการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ หรือ NPL ในครึ่งปีแรก BAM สร้างผลงานเรียกเก็บด้วยกลยุทธ์การสร้างโอกาสและเร่งการประนอมหนี้ ได้แก่ โครงการช่วยเหลือลูกหนี้หลายโครงการ เช่น โครงการสุขใจได้บ้านคืน โครงการ BAM ช่วยฟื้นคืนธุรกิจ และโครงการ BAM ช่วยลดเพื่อปลดหนี้เกษตรกร รวมทั้งการเร่งการติดต่อลูกหนี้ และเร่งกระบวนการขายทอดตลาด เช่น แถลงเร่งประกาศขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกัน แถลงเร่งจัดทำบัญชีแสดงรายการรับจ่ายเงิน และร่วมมือกับกรมบังคับคดีจัดมหกรรมขายทอดตลาด เป็นต้น

พร้อมกันนี้ BAM ยังได้ช่วยเหลือลูกหนี้ที่เปรียบเสมือนฮีโร่ของสังคมไทย ซึ่งได้เสียสละเวลาพักผ่อนเวลาส่วนตัวและความสะดวกสบายมาแก้ไขปัญหาในช่วงที่เกิดโรคระบาดและสาธารณภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล ตำรวจ ทหาร ครู และ อสม.ภายใต้โครงการ BAM for Thai Heros โดยในช่วงครึ่งปีแรกสามารถดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ไปได้เป็นจำนวน 82 ราย คิดเป็นยอดประนอมหนี้ 131 ล้านบาท และยังได้เตรียมให้สิทธิพิเศษสำหรับฮีโร่ดังกล่าวที่ซื้อทรัพย์สินรอการขายของ BAM อีกด้วย

ขณะที่การบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย หรือ NPA BAM ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง โดยการออกบูทและจัดแคมเปญต่างๆ เพื่อสร้างยอดเสนอซื้อ การจัดการทรัพย์ให้พร้อมขาย (Renovate) การจำหน่ายทรัพย์ให้นักลงทุนรายย่อย ตลอดจนการกำหนดทรัพย์ราคาพิเศษ และการเพิ่มฐานลูกค้าผ่อนชำระอย่างต่อเนื่อง

ตลอดระยะเวลา 24 ปีที่ผ่านมา BAM ได้ทำหน้าที่เสมือนแก้มลิงที่ช่วยรองรับหนี้เสียของสถาบันการเงิน นำมาบริหารจัดการและแก้ไขให้กลายเป็นหนี้ดีกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจ และยังทำหน้าที่ฟื้นฟูอสังหาริมทรัพย์มือสองที่เป็นทรัพย์สินรอการขายของบริษัทฯ ให้มีมูลค่าเพิ่มและเป็นที่ต้องการของตลาด ที่ผ่านมา BAM สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้ข้อยุติในการปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 146,121 ราย คิดเป็นภาระหนี้ 466,871 ล้านบาท และสามารถจำหน่ายทรัพย์ไปแล้ว จำนวน 49,216 รายการ คิดเป็นราคาประเมิน 107,319 ล้านบาท ปัจจุบัน BAM มี NPL อยู่ในความดูแลคิดเป็นภาระหนี้รวม 481,578 ล้านบาท และ NPA มูลค่าราคาประเมิน 69,275 ล้านบาท

สำหรับกลยุทธ์ในช่วงครึ่งหลังปี 2566 ว่า BAM ยังคงเดินหน้าด้วยกลยุทธ์เชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ด้วยการบริหารจัดการ NPL หลากหลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นการ Knock Door การพัฒนาแอปพลิเคชัน BamGo Digital เพื่อสร้างระบบการให้บริการประนอมหนี้ออนไลน์ (E-TDR) เป็นการจูงใจเมื่อลูกค้าได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้และเดินเข้ามาเจรจากับ BAM ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้งานได้ภายในปลายปี 2566 พร้อมทั้งการบริหารจัดการ Clean Loan เพื่อสร้างผลเรียกเก็บได้โดยเร็ว


ส่วนการบริหารจัดการ NPA นั้น มีการตั้งงบประมาณ 200-300 ล้านบาท ในการทำโครงการปรับปรุงทรัพย์ (รีโนเวต) ให้ดีขึ้น และการร่วมกับพันธมิตรที่เครือข่ายประเภทวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโฮมโปร ดูโฮม บุญถาวร สนับสนุนการปรับปรุงทรัพย์ ขณะเดียวกัน ทาง BAM ได้ทำการคัดทรัพย์ราคาพิเศษกว่า 10,000 รายการ เพื่อจัดกิจกรรมกระตุ้นยอดจำหน่ายทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นโครงการครบเครื่องเรื่องบ้าน by BAM โครงการ BAM for Thai Heroes และเตรียมจัดมหกรรมจำหน่ายทรัพย์ในโอกาส BAM ก้าวสู่ปีที่ 25 ในช่วงปลายปีนี้

พร้อมทั้งยังแสวงหาโอกาสในการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการให้เช่าทรัพย์สินรอการขาย และการปรับรูปแบบธุรกิจ รวมถึงเราอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้กับรายใหญ่ 2-3 ราย (ประมาณ 100-1,200 ล้านบาท) คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ และรายเล็ก (10-50 ล้านบาท) และการจำหน่ายทรัพย์ รายใหญ่และรายเล็ก ตัวเลขประมาณ 700 กว่าล้านบาท พร้อมทั้งการอนุมัติราคาพิเศษสะสมเพื่อเร่งการขาย รวม 4,896 รายการ มูลค่า 10,500 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยทำให้ BAM สามารถสร้างผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 17,800 ล้านบาท

ด้าน นายสันธิษณ์ วัฒนกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทำหน้าที่ผู้บริหารสูงสุดทางด้านการเงิน (CFO) กล่าวว่า ปัจจุบันมีปริมาณ NPL ออกขายจากสถาบันการเงิน(ภาระหนี้รวม) ประมาณ 138,171 ล้านบาท ซึ่ง BAM ได้เข้ารับซื้อหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL)เพื่อขยายพอร์ตและบริหารจัดการ คิดเป็นภาระหนี้ (เงินต้นบวกดอกเบี้ย) รวม 22,408 ล้านบาท มีการเติบโตสูงถึง 296% (ณ 8 ส.ค.2566) เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันกับปี 2565 ที่มีการซื้อทรัพย์มาบริหาร 5,658 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสถาบันการเงินมีการทยอยนำ NPL ออกมาประมูลขายในปริมาณมากอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยการลงทุนซื้อหนี้ล่าสุด หลักๆ ประมาณ 46% จากสถาบันการเงิน แยกเป็นสินเชื่อเพื่อธุรกิจ สัดส่วน 46% สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสัดส่วน 41% และสินเชื่อเพื่อ SME อีก 12% โดยอยู่ระหว่างรอผลการประมูลและการทำ Due Diligence คิดเป็นภาระหนี้ 71,203 ล้านบาท

"ปีที่แล้วราคาซื้อขายอาจจะแพง บวกกับกลยุทธ์ที่ท่านประธานให้นโยบายไว้คือ การซื้อของดีในราคาที่เหมาะสม เราไม่ไปไล่เอาชนะ ซึ่งเราได้ข้อมูลเชิงลึกว่า เริ่มมีคู่แข่ง เริ่มถอดใจ เพราะธุรกิจเดิมอาจดูเรื่องคลีนโลน (สินเชื่อไม่มีหลักประกัน) ดู Unsecured loan ประเภทเงินกู้ที่ไม่มีหลักประกัน แต่พอมาเริ่มลงทุนลักษณะ Secured loan ประเภท สินเชื่อที่มีหลักประกัน ผลลัพธ์ไม่ได้ตามที่คู่แข่งคาดหวัง เนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุนต้องใช้เวลานาน ลงทุน 1 บาทวันนี้ ต้องรอจะได้เงินคืน 7 ปี ซึ่งเราพยายามที่จะลดเวลาให้เหลือ 5 ปีให้ได้ คู่แข่งเดิมๆ ที่อยู่ในตลาดมีอัตราการชนะที่ลดลง ปีนี้เรา (BAM) ชนะไปร้อยละ 66 ทั้งๆ ที่เราซื้อหนี้ในราคาที่สมเหตุสมผล บ่งชี้ให้เห็นว่าสงครามราคาไม่แรงเหมือนในอดีต" นายสันธิษณ์ กล่าว


นายบัณฑิต กล่าวเสริมว่า หนี้ในระบบสถาบันการเงินก็อีกส่วน แต่ยังมีหนี้ที่อยู่นอกระบบในรูปแบบขายฝาก จะมีธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีฐานะการเงิน ไปตั้งบริษัทรับทำขายฝากขายกันโดยตรง จากผู้ที่จะนำทรัพย์มาวางแล้วนำเงินสดออกไป เนื่องจากสถาบันการเงินจะกดราคาทรัพย์นั้นๆ ตัวเลขธุรกิจขายฝากทางเราไม่มีตัวเลขจริงๆ ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจโรงแรมที่เข้าไปทำธุรกรรมกับการขายฝาก มูลค่าระดับเกินกว่า 10,000 ล้านบาท

ขณะที่ ธปท. รายงานภาพรวม NPL ในระบบสถาบันการเงิน ณ ไตรมาสที่ 1 มีจำนวน 497,952 ล้านบาท คิดเป็น 2.67% ของสินเชื่อรวมในระบบสถาบันการเงิน จึงเป็นโอกาสที่ BAM จะเข้าประมูลซื้อ NPL เข้ามาบริหารจัดการต่อไป เนื่องจากในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทาง ธปท.ได้ให้ธนาคารพาณิชย์ชะลอการจัดชั้นของหนี้ ซึ่งไม่ได้สะท้อนภาวะที่เป็นจริง ส่งผลให้ตัวเลขหนี้เหล่านี้ไม่ได้ไหลมาทาง AMC

"เรามองว่ามีบางธนาคารที่ถือ NPL เกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน จะเป็นกลุ่มที่แก้ไข NPL โดยการออกมาขาย หรือตั้ง AMC"





กำลังโหลดความคิดเห็น