xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มลีสซิ่งงวดนี้ผลงานตก ตั้งสำรองสูง-ต้นทุนการเงินพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผลประกอบการกลุ่มธุรกิจลีสซิ่ง หรือเช่าซื้อไตรมาส 2 ส่วนใหญ่กำไรทรุด เหตุตั้งสำรองหนี้สูงรวมเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านเครดิต รวมทั้งต้นทุนทางการเงินและบริหารพุ่ง จากการเร่งขยายสาขาตามแผน รองรับและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่มากขึ้น

หุ้นกลุ่มธุรกิจลีสซิ่ง หรือเช่าซื้อ ก่อนหน้านั้นแม้ถูกมองว่าพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ทว่าปีนี้ กลายเป็นหุ้นที่ยังมีปัจจัยลบเข้ามากดดัน หลังพบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่กระจายและกระจุกในบางกลุ่ม เพราะปัญหาเงินเฟ้อ อีกทั้งดอกเบี้ยขาขึ้น ที่สำคัญตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ขยับขึ้นสูง ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องโดดเข้ามาควบคุม และนั่นจึงส่งผลให้ดอกเบี้ยประเทศอยู่ในภาวะขาขึ้น

จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจเช่าซื้อถ้วนหน้า ล่าสุดผลประกอบการที่แจ้งออกมาไตรมาส 2 ปี 66 พบว่าส่วนใหญ่กำไรหด เหตุตั้งสำรองลูกหนี้สินเชื่อส่วนเพิ่ม (Management Overlay) สูงขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านเครดิตก็ตาม อีกทั้งการเปิดสาขาเพิ่มรองรับการบริการลูกค้า

ตั้งสำรองเพิ่ม ฉุด TIDLOR กำไรลด 6%

บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR แจ้งไตรมาส 2 ว่ามีกำไรสุทธิ 927.22 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 981.40 ล้านบาท ลดลง 54.18 ล้านบาท หรือลดลง 5.84% การลดลงนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของพอรต์สินเชื่อรวม ขณะที่ธุรกิจยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งธุรกิจนายหน้าประกันภัยและธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน แม้ว่าจะได้รับแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น อีกทั้งผลมาจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของพอร์ตสินเชื่อรวมและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายและสภาวะตลาด ส่วนธุรกิจนายหน้าประกันภัยยังคงสร้างเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง โดยค่าเบี้ยประกันวินาศภัยเติบโตขึ้น 28.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะจากช่องทางดิจิทัล ทั้งออนไลน์และแพลตฟอร์มอารีเกเตอร์ และยังคงเป้าการเติบโตเบี้ยประกันภัยวินาศภัยที่ 20-25%

สำหรับผลการดำเนินงานด้านสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันงวดนี้มียอดสินเชื่อคงค้างรวมอยู่ที่ 87,245 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 23.5% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และยังคงเป้าการเติบโตทั้งปีที่ 10-20% โดยยังคงดำเนินนโยบายพิจารณาการปล่อยสินเชื่อที่เหมาะสม และยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุน พร้อมนำเทคโนโลยีมาใช้ในการยกระดับด้านบริการให้ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นจุดแข็งและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในปัจจุบัน ขณะที่บัตรติดล้อ (TIDLOR Card) หนึ่งในปัจจัยสำคัญของการเติบโตทางธุรกิจนั้นยังคงมีปริมาณการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับให้ความสำคัญกับคุณภาพสินเชื่อมุ่งสร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพภายใต้นโยบายการบริหารความเสี่ยงรอบคอบ ส่งผลให้ NPL สิ้นไตรมาส 2 อยู่ที่ 1.54% ซึ่งยังคงถือเป็นระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม พร้อมยังคงเป้า Credit cost ปีนี้ที่ลดลงมาอยู่ที่ 3.00-3.35% จากต้นปีที่วางไว้ 3.00-3.50%

MTC กำไรตก เหตุต้นทุนทางการเงินพุ่ง

บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC งวดนี้กำไร 1,200.09 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 1,380.60 ล้านบาท ลดลง 180.51 ล้านบาท หรือลดลง 13.07% เนื่องจากต้นทุนทางการเงินงวดนี้เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน ผลจากการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยจากเงินกู้ยืมและดอกเบี้ยจากหนี้สินตามสัญญาเช่า รวมทั้งขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นสำหรับงวด 3 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายนปีนี้ 1,017 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 94.08%

ขณะที่มีรายได้ไตรมาสนี้ 6,041 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 1,200 ล้านบาท ส่วนงวด 6 เดือนแรกของปี 66 มีรายได้อยู่ที่ 11,671 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.86% และมีกำไรสุทธิ 2,270 ล้านบาท

เนื่องมาจากการขยายสาขาใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีกว่า 7,260 แห่งครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศ จึงทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างมากกว่า 132,851 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25,450 ล้านบาท หรือ 23.70% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน พร้อมเดินหน้าพัฒนาศักยภาพพนักงานให้พร้อมรับกับความท้าทายการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ เพื่อรักษาระดับการบริการที่ดีแก่ลูกค้า ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพลูกหนี้ให้ดีขึ้นเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายพอร์ตสินเชื่อแตะระดับ 2 แสนล้านบาทในปี 2569 และรองรับแผนการปล่อยสินเชื่อในปี 66 ที่คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20%

โดยปลายเดือนสิงหาคมปีนี้ MTC คาดว่าจะออกและเสนอขายหุ้นกู้ 3 ชุด โดยหุ้นกู้ที่ออกในครั้งนี้ประกอบด้วย หุ้นกู้ชุดที่ 1 อายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.25% ต่อปี หุ้นกู้ชุดที่ 2 อายุ 3 ปี 1 วัน อัตราดอกเบี้ย 4.70% ต่อปี และหุ้นกู้ชุดที่ 3 อายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.80% ต่อปีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้ โดยหุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับ BBB+ เช่นเดียวกับอันดับความน่าเชื่อถือองค์กรที่ระดับ BBB+ แนวโน้ม “คงที่” (Stable) จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด

SAK กำไรพอร์ตสินเชื่อโต 16.5%

บมจ.ศักดิ์สยามลิสซิ่ง หรือ SAK งวดนี้กำไรสุทธิ 180.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 166.37 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.9% รับฤดูกาลเพาะปลูกและพอร์ตสินเชื่อหลากหลายหนุนรายได้เพิ่ม ซึ่งพอร์ตสินเชื่อโดยรวมเพิ่มเป็น 11,691 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 16.5% จากการปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนชาวไร่ที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนนำไปเพาะปลูกตามฤดูกาล รวมถึงประชาชนทั่วไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนรองรับกับเศรษฐกิจและท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังเปิดสาขาเพิ่มอีก 100 สาขาหรือแตะ 1,029 สาขา ช่วงไตรมาสแรกช่วยให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่มากขึ้น รวมทั้งการดำเนินการขยายพอร์ตสินเชื่อที่มีความหลากหลาย ส่งให้รายได้จากการขายและการให้บริการจากบริษัทย่อยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขายโดรนและให้บริการฉีดพ่นและส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทฯ ร่วมที่เพิ่มขึ้นจากการดำเนินธุรกิจจำหน่ายและติดตั้งผลิตภัณฑ์โซลาร์รูฟท็อป ส่งผลให้มีรายได้รวม 675.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.2%

ขณะช่วงครึ่งปีแรกปีนี้ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยกำไรสุทธิอยู่ที่ 355.3 ล้านบาท เติบโต 7.0% ส่วนรายได้รวม 1,311.7 ล้านบาท เติบโต 20.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่ง SAK ยังสามารถบริหารจัดการคุณภาพพอร์ตลูกหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยควบคุมหนี้ NPLs ให้อยู่ในระดับ 2.5% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม

โดยผู้บริหาร SAK กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีหลังความต้องการสินเชื่อเพื่อนำมาเป็นฐานทุนการประกอบอาชีพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ สำหรับ SAK วางแผนรุกธุรกิจครึ่งปีหลังอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งพิจารณาการปล่อยสินเชื่อที่มีความรัดกุม เพื่อบริหารความเสี่ยงและควบคุมคุณภาพลูกหนี้ จึงมั่นใจว่าในปีนี้จะผลักดันพอร์ตสินเชื่อทั้งปีได้ตามเป้าหมาย

HENG กำไรหด แจงตั้งสำรองเพิ่ม 

บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG แจ้งผลงานไตรมาส 2 มีกำไรสุทธิ 80.52 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 89.52 ล้านบาท เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนเปิดสาขาและบุคลากรเพิ่มขึ้น รวมถึงการตั้งสำรองตั้งสำรองลูกหนี้สินเชื่อส่วนเพิ่ม (Management Overlay) สูงขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านเครดิตก็ตาม และแม้ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นการลงทุนเชิงกลยุทธ์ ของ HENG ที่มุ่งขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ให้เข้ามาใช้บริการ ซึ่งส่งผลดีต่อการดำเนินงานครึ่งปีหลังจากความสามารถในการตอบสนองความต้องการด้านสินเชื่อให้แก่ลูกค้าได้ดีอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับจะมุ่งบริหารจัดการเก็บหนี้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อดูแลคุณภาพพอร์ตลูกหนี้ให้ดี และบริหารจัดการหนี้ NPLs ภาพรวมทั้งปีลดลงเหลือ 2.9% ให้ได้ตามแผน

ขณะการขยายพอร์ตสินเชื่อรวมเพิ่มเป็น 13,632.2 ล้านบาท เติบโต 13.4% ส่งผลให้รายได้รวมทำได้ 1,335.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีรายได้รวมไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น 41.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยจากพอร์ตสินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่มีอัตราการขยายตัวได้อย่างโดดเด่นหรือ 57.5% ของพอร์ตสินเชื่อที่มีหลักประกันโดยรวม ส่งผลให้กำไรสุทธิช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 181.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนแผนดำเนินงานครึ่งปีหลังนั้นประเมินว่าแนวโน้มความต้องการสินเชื่อเพื่อนำไปประกอบอาชีพยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ซี่งบริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ โดยนำข้อได้เปรียบเชิงการแข่งขันจากการมีเครือข่ายผู้ประกอบการเต็นท์รถมือสองกว่า 6,500 ราย เพื่อแนะนำลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการที่สาขา 'เฮงลิสซิ่ง' ผลักดันสินเชื่อให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาส 3 เป็นช่วงฤดูการเพาะปลูก เป็นโอกาสของบริษัทฯ เพื่อขยายฐานลูกค้าเกษตรกร จึงได้ดำเนินแคมเปญสินเชื่อเพื่อการเกษตร รองรับความต้องการแหล่งเงินทุน ที่จะส่งผลดีต่อภาพรวมของพอร์ตสินเชื่อรวมในปีนี้ทำได้ 14,400 ล้านบาทตามเป้าหมาย ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังมีแผนออกและเสนอขายหุ้นกู้ รองรับแผนดำเนินงานในปีถัดไป เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนที่ดีต่อไป

ต้นทุนทางการเงินพุ่ง ฉุดกำไร THANI หด

บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง หรือ THANI งวดนี้กำไรลดเหลือ 425.05 ล้านบาท จากงวดนี้ปีก่อนที่ทำไว้ 492.33 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้รวม 1,142.73 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายทางการเงิน 287.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพราะเป็นผลมาจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 176.46 ล้านบาท และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 140.28 ล้านบาท เป็นผลมาจากภาวะความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ ไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากภาคการท่องเที่ยวตามนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ความเชื่อมั่น และการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจถูกกดดันจากภาระค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง แต่ยังคงเป็นไปอย่างเปราะบางและแตกต่างกันมากในแต่ละอุตสาหกรรม และพื้นที่ และยังมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตามโดยเฉพาะปัจจัยทางการเมืองในประเทศ นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ สัญญาณการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบต่อประเด็นคุณภาพหนี้หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศทยอยปรับเพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

โดยสรุปผลงานไตรมาส 2 นี้ บจ.กลุ่มนี้ยังต้องบริหารต้นทุนการเงิน ตลอดจนควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ให้ต่ำ แม้ว่าผู้ประกอบการธุรกิจนี้จะยังเดินหน้าขยายสาขา เพื่อรองรับความต้องการสินเชื่อหรือเงินทุนเพื่อใช้ในการดำรงชีพของลูกค้า แต่ยังถูกควบคุมการกำหนดดอกเบี้ยเช่าซื้อจากรัฐ ซึ่งยังมีอีกบางบริษัทในกลุ่มนี้ที่ยังไม่แจ้งงบการเงิน รวมถึง บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น หรือ SAWAD ที่นักลงทุนยังตั้งหน้ารอการประกาศผลการดำเนินงานออกมาในวันสองวันนี้เพราะหมดระยะเวลาการนำส่งงบการเงินไตรมาส 2 ตามกฎตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย






กำลังโหลดความคิดเห็น