การประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 เป็นปัจจัยลบที่กดให้หุ้นบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทยจำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ดิ่งลงลึกจนสร้างจุดต่ำสุดใหม่ในรอบหลายปี ขณะที่ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ โบรกเกอร์บางแห่งได้หั่นราคาเป้าหมายหุ้นลงทันที
SINGER ประกาศงบการเงินไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ผ่านตลาดหลักทรัพย์ ค่ำวันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีผลขาดทุนสุทธิ 2,395.97 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 265.41 ล้านบาท รวมงวด 6 เดือนแรกมีผลขาดทุนสุทธิ 2,329.34 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 480.83 ล้านบาท
ผลขาดทุนเกิดจากการการตั้งสำรองค่าเผื่อการปรับลดมูลค่าของสินค้าคงเหลือ และผลกระทบจากโควิด
ราคาหุ้น SINGER ในรอบ 12 เดือน เคยถูกลากขึ้นไปสูงสุดที่ 49 บาท และทะยานขึ้นพร้อมหุ้นกลุ่มบริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART แต่หลังจากนั้นร่วงลงแรงยกแผง
รวมทั้ง SINGER ซึ่งเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม หลังแจ้งงบไตรมาสที่ 2 ถูกถล่มขายทันที โดยระหว่างชั่วโมงซื้อขายราคาลงไปที่ 7.20 บาท ต่ำสุดในรอบหลายปี ก่อนดีดตัวขึ้นมาในช่วงปลายตลาด และปิดที่ 8.60 บาท เพิ่มขึ้น 1.15 บาท หรือเพิ่มขึ้น 15.44% มูลค่าซื้อขาย 612.97 ล้านบาท
ธุรกิจของ SINGER ซึ่งผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ในช่วงขาลง ยอดขายตกต่ำ มีปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ ทำให้ผลประกอบการย่ำแย่ จากผลกำไรเติบโตหลายปีติดต่อ พลิกมาขาดทุนหนักในครึ่งปีแรก และกำลังจะขยายธุรกิจสินเชื่อเพื่อเพิ่มช่องทางรายได้ แต่ไม่รู้ว่าจะประสบความสำเร็จขนาดไหน
ผลขาดทุนหนักในไตรมาสที่ 2 ทำให้โบรกเกอร์บางสำนักปรับลดราคาเป้าหมายของ SINGER ลง โดยให้ราคาเป้าหมายเพียง 6 บาท ขณะที่โบรกเกอร์บางแห่งให้ราคาเป้าหมายหุ้นที่ 9 บาท
ผู้บริหาร JMART ประกาศว่า หุ้น JMART ถึงจุดต่ำสุดแล้ว หลังประกาศผลประกอบการครึ่งปีแรก และคาดหมายว่าครึ่งปีหลังผลประกอบการของบริษัทจะดีขึ้น ซึ่งอาจส่งสัญญาณรวมหุ้นทั้งกลุ่ม
แต่ SINGER จะฟื้นจากหลุมได้หรือไม่ เพราะยังไม่มีสัญญาณดีๆ เกี่ยวกับแนวโน้มผลประกอบการ
บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ U บริษัทลูกของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เข้าซื้อหุ้น SINGER จำนวน 197.10 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 36.30 บาท รวมเป็นเงิน 7,115.14 ล้านบาท เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2564 โดยช่วงเวลาลงทุนในหุ้น SINGER U ขาดทุนไปแล้วหุ้นละ 27.70 บาท หรือขาดทุนรวม 5,459 ล้านบาท
เช่นเดียวกับนักลงทุนรายย่อยที่ขาดทุนอ่วมในหุ้นกลุ่ม JMART โดยเฉพาะ SINGER ซึ่งลงแรงมาก
ผู้ถือหุ้นรายย่อย SINGER มีจำนวน 16,676 ราย หลังปิดสมุดทะเบียน วันที่ 10 มีนาคม 2566 โดยเพิ่มขึ้นมาประมาณ 1 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงปิดสมุดทะเบียนวันที่ 10 มีนาคม 2565 ซึ่งขณะนั้นมีผู้ถือหุ้นรายย่อย 8,005 ราย
สะท้อนให้เห็นว่า ระหว่างเดือนมีนาคม 2565 กับเดือนมีนาคม 2566 มีนักลงทุนรายย่อยแห่เข้ามาเก็งกำไรหุ้น SINGER เพิ่มขึ้นประมาณ 9,000 ราย
และส่วนใหญ่ติดดอย ขาดทุนยับเยินจากหุ้นในกลุ่ม JMART ตัวนี้ แต่อันที่จริงแล้ว ในช่วงเวลาเดียวกันใครเข้ามาเล่นหุ้นกลุ่ม JMART จะตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกันที่เจ็บโดยถ้วนหน้า
SINGER ผ่านพ้นช่วงต่ำสุดหรือยัง ใครจะให้คำตอบได้ เช่นเดียวกับหุ้น JMART ทั้งกลุ่ม ซึ่งรอบนี้เล่นงานทั้งนักลงทุนขาใหญ่และรายย่อยแทบปางตายทั้งตลาด
JMART จัดอยู่ในกล่มหุ้นที่เล่นไม่ง่าย ดังนั้น จึงต้องไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนโดดเข้าไปเสี่ยงดวง