คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เพิกถอนใบอนุญาตโครงการ "แอชตัน อโศก" ของ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ซึ่งบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN ถือหุ้นในสัดส่วน 51% ของทุนจดทะเบียนทำให้นักลงทุนวิตกกังวลต่อผลกระทบราคาหุ้น ANAN และเกิดการเทขายหุ้นตามมา
หุ้น ANAN ทรุดลงหนักทันทีหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยราคาปิดที่ 84 สตางค์ ลดลง 30 สตางค์ หรือลดลง 26.32%
แต่การซื้อขายวันที่ 31 กรกฎาคม หุ้น ANAN เริ่มตั้งหลักได้ โดยปิดที่ 84 สตางค์ ราคาไม่เปลี่ยนแปลง ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขายที่หนาแน่น 671.19 ล้านบาท จากก่อนหน้าคำพิพากษามูลค่าซื้อขายเฉลี่ยเพียงวันละ 1 ล้านบาทเศษ
ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ โบรกเกอร์บางสำนัก ปรับลดประมาณการาคาเป้าหมายหุ้น ANAN เหลือเพียง 80 สตางค์ และนำให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงการลงทุนหุ้นตัวนี้ โดยให้ความสำคัญกับผลกระทบโครงการแอชตัน อโศก ทั้งยังมีแนวทางแก้ปัญหา และอาจไม่จำเป็นต้องทุบอาคารทิ้งก็ตาม
ในรอบ 12 เดือน หุ้น ANAN เคยพุ่งขึ้นสูงสุดที่ 1.5 6 บาท และสร้างจุดต่ำสุดที่ 71 สตางค์ ระหว่างชั่วโมงซื้อขายวันที่ 31 กรกฎาคม เพราะความตื่นตระหนกผลกระทบโครงการแอชตัน อโศก
ANAN เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2555 หลังนำหุ้นเสนอขายนักลงทุนเป็นครั้งแรกในราคาหุ้นละ 4.20 บาท จากราคาพาร์ 1 บาท
โครงสร้างผู้ถือหุ้น ANAN ประกอบด้วยกลุ่ม นายชานนท์ เรืองกฤตยา ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนประมาณ 48% ของทุนจดทะเบียน โดยมีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 12,082 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 52.40% ของทุนจำทะเบียน และเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อีกแห่งที่มีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนมาก ซึ่งเกือบทั้งหมดแบกหุ้นต้นทุนสูงไว้
ผลประกอบการ ANAN ย่ำแย่มาหลายปีติดต่อ โดยปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 206.58 ล้านบาท ปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 457.34 ล้านบาท ปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 295.78 ล้านบาท และไตรมาสแรกปีนี้ ขาดทุนสุทธิ 59.56 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 281.26 ล้านบาท
แม้ไม่มีผลกระทบจากโครงการ "แอชตัน อโศก" ที่มีมูลค่าโครงการ 6,481 ล้านบาท หุ้น ANAN ไม่มีความน่าสนใจอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วยกันอีกหลายบริษัท โดยเฉพาะ บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH ซึ่งมีปัจจัยพื้นฐานรองรับดีกว่า
ANAN ขาดทุนติดต่อตั้งแต่ปี 2563 แต่ LH สามารถรักษาผลกำไรได้ตลอด จ่ายเงินปันผลผู้ถือหุ้นทุกปี โดยมีค่าพี/อี เรโช ประมาณ 13 เท่า และอัตราเงินปันผลสูงถึง 7% ขณะที่จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยมีเกือบ 6 หมื่นราย ถือเป็นหุ้นอสังหาริมทรัพย์ยอดนิยมที่สุด
ราคาหุ้น ANAN ที่ยืนในระดับ 80 สตางค์ได้ ถือว่าแข็งมาก เพราะ ANAN ไม่มีจุดขายด้านปัจจัยพื้นฐาน และไม่อาจคาดหวังแนวโน้มผลประกอบการ เนื่องจากขาดทุนมาหลายปี โดยไม่รู้ว่า เมื่อไหร่จะพลิกมามีผลกำไร
ปัญหาใหญ่ที่จับตากันหลังปัญหาโครงการ แอชตัน อโศกคือ หนี้หุ้นกู้จำนวนประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งต้องทยอยไถ่ถอนนับจากปีนี้
ราคาหุ้น ANAN ดูเหมือนจะผ่านพ้นช่วงวิกฤต หรือซึมซับรับข่าวร้ายการถูกเพิกถอนใบอนุญาตโครงการ "แอชตัน อโศก" ไปแล้ว แต่ไม่มีสัญญาณข่าวดีจากหุ้นตัวนี้ นอกจากสภาพความเป็นจริงของผลประกอบการที่ย่ำแย่ และไม่มีปัจจัยกระตุ้นให้เข้าไปช้อนซื้อเก็บ
ไม่รู้ว่าใครเข้าไปเก็บหุ้น ANAN เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา จนราคาดีดกลับจากจุดต่ำสุดในรอบปีที่ 71 สตางค์ และมูลค่าการซื้อขายพุ่งขึ้นสูงถึงกว่า 671 ล้านบาท
แม้ไม่มีปัญหาโครงการ "แอชตัน อโศก" ANAN ก็เป็นหุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ขาดเสน่ห์จูงใจอยู่แล้ว
และไม่น่าแปลกใจที่โบรกเกอร์แนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้น ANAN