รายงานข่าวระบุ ตึกแถวหลังโครงการ "แอชตัน อโศก" ยันไม่ขายอาคารเปิดทางเป็นทางเข้าออกให้อนันดาฯ เผยเหตุผลสุดจี๊ด “รวยอยู่แล้ว” เปิดราคาประเมินตึกแถว 250-300 ล้านบาท คาดหากต้องซื้อทั้ง 16 คูหา ต้องใช้เม็ดเงินกว่า 4,000 ล้านบาท ด้านอนันดาฯ เผย 3 แนวทางแก้ไขทางเข้าออก “แอชตัน อโศก” ปัญหาหลังถูกเพิกถอนใบอนุญาต ยันไม่ต้องทุบตึก
รายงานข่าวแจ้งว่า จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมแอชตัน อโศก ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ทำให้ขณะนี้บริษัท อนันดาฯ อยู่ระหว่างการหารือและวางแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกับหน่วยงานรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยก่อนหน้านี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เสนอให้มีการซื้อตึกแถวด้านหลังโครงการ เพื่อใช้ทำเป็นทางออกนั้น
** เผยเจ้าของตึกแถวปัดไม่ขายอาคารเปิดทาง “แอชตัน อโศก”
ล่าสุด รายงานข่าวแจ้งว่า ผู้อยู่อาศัยด้านหลังโครงการแอชตัน อโศก กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการเข้าซื้ออาคาร หรือที่ตึกแถวในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อนำมาสร้างเป็นทางเข้าออกให้มีขนาดความกว้างถึง 12 เมตรตามกฎหมาย ว่า เป็นไปได้ยากที่เจ้าของตึกจะขาย เพราะทุกคนล้วนมีฐานะดี นอกจากนี้ ตั้งแต่มีการก่อสร้างคอนโดฯ สร้างความเดือดร้อนกับชาวบ้านมาก มีทั้งเศษหิน เศษปูน และชิ้นส่วนก่อสร้างตกลงมาใส่บ้านเรือน ทำให้ทุกคนต้องนอนหวาดผวา ร้องเรียนไปสำนักงานเขตทวีวัฒนาก็แก้ไขปัญหาไม่ได้ ขณะที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ละแวกนี้ทำธุรกิจมานานกว่า 20-30 ปี คงไม่ย้ายออกง่ายๆ
*** เปิดราคาตึกแถวหลังหนึ่งทางออก "แอชตัน อโศก"
ทั้งนี้ การหาทางเข้าออกทางอื่นที่ไม่ใช่ด้านรถไฟใต้ดิน ซึ่งจะเหลือด้านซอย 19 ซึ่งปัจจุบันมีถนนซอยเล็กๆ กว้างประมาณ 4 เมตร อยู่แล้ว 2 ซอย จะต้องกว้านซื้อตึกแถวที่ติดกับถนนซอยนี้ลึกไปจนถึงโครงการ เพื่อเอามาทุบทำเป็นทางเข้าออกให้ได้กว้าง 12 เมตร สำหรับราคาประเมินตึกแถวย่านดังกล่าวมีราคาอยู่ที่ประมาณ 250-300 ล้านบาท ซึ่งหากบริษัท อนันดาฯ ต้องการซื้อต้องกว้านซื้อไม่ต่ำกว่า 16 คูหา หรือใช้เงินไม่ต่ำกว่า 4 พันล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับมูลค่าโครงการ 6.4 พันล้านบาท ดังนั้นจึงแนะนำให้หาทางออกอื่นจะดีกว่า
ด้านนายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน) ได้ส่งหนังสือชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาหลังถูกเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าว โดยหนังสื้อชี้แจงดังกล่าวมีใจความสำคัญ ว่า โครงการแอชตัน อโศก มีมูลค่ารวม 6,481 ล้านบาท มีจำนวนยูนิตรวม 783 ยูนิต และเป็นยูนิตที่มีการขายและโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้ว 668 ยูนิต คิดเป็น 87% ของจำนวนยูนิตที่เสนอขาย หรือคิดเป็นมูลค่า 5,653 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทยังคงดำเนินการขายโครงการอย่างต่อเนื่อง และยังมีความสามารถในการชำระหนี้ตามตราสารหนี้ และภาระผูกพันต่างๆ ที่มีผลผูกพันกับบริษัท ตลอดจนยังมีความสามารถในการดำเนินการทางการเงินต่างๆ ได้ตามปกติ
ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว อนันดาฯ ได้เตนียมแนวทางการแก้ปัญหาไว้ 3 แนวทางด้วยกัน ประกอบด้วย 1.การรวบรวมความเสียหาย แนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อติดต่อเจรจากับภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน ส่วนมูลค่าความเสียหายในเบื้องต้นอยู่ระหว่างการประเมินร่วมกับผู้สอบบัญชีบริษัทและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาตั้งสำรองในไตรมาส 2 ปี 2566
2.แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะเพิกถอนใบอนุญาต แต่ความเสียหายนี้ยังแก้ไขได้ สอดคล้องกับแนวทางที่ผู้แทนหน่วยงานรัฐเสนอตามที่เป็นข่าว ซึ่งทำให้ไม่จำเป็นต้องการแก้ปัญหาด้วยการรื้อถอนอาคาร นอกจากนี้ จะมีการนัดพบหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ภายใน 14 วัน 3.บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการประชุมหารือร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการอนุมัติหรือแก้ไขความเสียหาย ซึ่งจะทำควบคู่กับแนวทางอื่นที่มีอยู่หลายแนวทาง