xs
xsm
sm
md
lg

GLORY ถูกลูกหลงหุ้นกู้ STARK / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ปี 2566 กลายเป็นข่าวร้าย จุดชนวนการเทขายหุ้นบริษัท รุ่งเรืองตลอดไป จำกัด (มหาชน) หรือ GLORY จนราคาร่วงแรง และสร้างจุดต่ำสุดใหม่ในรอบ 12 เดือน

GLORY แจ้งงบการเงินไตรมาสที่ 2 ระหว่างพักการซื้อขายหุ้นภาคเช้า วันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีผลขาดทุน 24.80 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 4.05 ล้านบาท รวมงวด 6 เดือนแรกปีนี้ขาดทุนสุทธิ 24.68 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 7.57 ล้านบาท

ราคาหุ้น GLORY ปรับตัวลงรับผลประกอบการในทันที โดยวันที่ 4 สิงหาคมปิดที่ 2.96 บาท ลดลง 4 สตางค์ แต่การซื้อขายวันที่ 7 สิงหาคม ถูกเทขายอย่างหนัก ก่อนปิดที่ 2.42 บาท ลดลง 54 สตางค์ หรือลดลง 18.24% มูลค่าซื้อขาย 24.29 ล้านบาท

ราคาปิดที่ 2.42 บาท ถือเป็นราคาต่ำสุดในรอบ 12 เดือน โดยราคาเคยขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดที่ 5.45 บาท

ผลขาดทุนในไตรมาสที่ 2 เกิดจากผลการขาดทุนทางบัญชีในการลงทุนหุ้นกู้บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK วงเงิน 16 ล้านบาท

GLORY มีนโยบายการบริหารเงินเพื่อสร้างผลตอบแทนดีที่สุดให้บริษัทฯ โดยกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ รวมทั้งหุ้นกู้ และหุ้นกู้ STARK เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ลงทุน

ความเสียหายจากการลงทุนหุ้นกู้ STARK คงไม่มีใครตำหนิการตัดสินใจของผู้บริหาร GLORY เพราะแม้แต่สถาบันการเงินทุนชั้นนำของโลกอย่างเครดิต สวิสฯ ยังพลาดท่าให้ผู้บริหาร STARK ถูกต้มจนสุก เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันในประเทศ ทั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมและธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่ง

การตั้งขาดทุนทางบัญชี 16 ล้านบาท จากการลงทุนหุ้นกู้ STARK อาจไม่ใช่วงเงินที่สูงนัก เพราะนักลงทุนบางคนเสียหายจากหุ้นกู้ STARK นับร้อยล้านบาท

เพียงแต่ GLORY เป็นบริษัทขนาดเล็ก กำไรและไตรมาสไม่มาก เมื่อขาดทุนจากหุ้นกู้ STARK จึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานรุนแรง และอาจส่งผลต่อเนื่องจากความสามารถในการจ่ายเงินปันผลจากการดำเนินงานปีนี้ นักลงทุนจึงแห่กันเทขายหุ้นทิ้ง

ราคาหุ้น GLORY เคยถูกลากขึ้นสูงสุดที่ 5.45 บาท ระหว่างชั่วโมงซื้อขายวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนอ่อนตัวลง และเคลื่อนไหวอยู่แถว 3 บาทเศษมาพักใหญ่ จนกระทั่งประกาศงบการเงินไตรมาสที่ 2 หุ้นจึงถูกถล่มขายจนสร้างจุดต่ำสุดใหม่

หลายปีก่อนหน้า GLORY เป็นหุ้นที่มีค่าพี/อี เรโช สูงมาก แต่ผลขาดทุนในครึ่งปีแรก ทำให้ไม่สามารถคำนวณค่าพี/อี เรโชได้ และแม้จะมีอัตราเงินปันผลตอบแทน 2.74% ถ้าผลประกอบการปีนี้ขาดทุนอาจงดจ่ายเงินปันผล

GLORY มีกำไรต่อเนื่อง โดยปี 2563 มีกำไรสุทธิ 13.99 ล้านบาท ปี 2564 มีกำไรสุทธิ 15.08 ล้านบาท ปี 2565 มีกำไรสุทธิ 28.96 ล้านบาท ก่อนจะพลิกมาขาดทุนในงวด 6 เดือนแรกปีนี้ 24.68 ล้านบาท

โครงสร้างผู้ถือหุ้น GLORY ประกอบด้วย นายจรัญพัฒณ์ บุญยัง ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 36.83% ของทุนจดทะเบียน บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ถือหุ้นในสัดส่วน 30.74% และมีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 3,141 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 30.84% ของทุนจดทะเบียน

ผู้ถือหุ้นรายย่อย GLORY จำนวนกว่า 3 พันราย ถือว่าถูกลูกหลงจาก STARK เจ็บหนักกันถ้วนหน้า

และหลายคนเลือกที่จะไม่ไปต่อ ตัดสินใจปิดฉากหุ้น GLORY ขายทิ้งตัดขาดทุนเพียงแค่นี้








กำลังโหลดความคิดเห็น