ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์งวด 6 เดือนแรกและไตรมาส 2 ปี 2566 โดยรวมยังคงเติบโตที่14.17% และ 15%ตามลำดับ รับแรงหนุนจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น และค่าใช้จ่ายการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่แม้จะเพิ่มขึ้นแต่ก็อยู่ในอัตราที่ชะลอตัวลงหลังจากที่ได้กันสำรองไว้ในระดับสูงนับแต่ช่วงโควิด 19 ที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในระยะต่อไปยังคงมีความไม่แน่นอนสูงทั้งจากปัจจัยภายในประเทศ และปัจจัยนอกประเทศ จึงยังยืดหลักการดำเนินธุรกิจ-การกันสำรองฯอย่างระมัดระวัง
ผลการดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ไทย 10 แห่งประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ(BBL),ธนาคารกสิกรไทย(KBANK),บริษัทเอสซีบี เอกซ์(SCB),ธนาคารกรุงไทย(KTB),ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY),ธนาคารทหารไทยธนชาต(TTB), กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร(KKP),ทิสโก้ไฟแนนซ์เชียลกรุ๊ป(TISCO),ธนาคารซีไอเอ็มบี (ไทย) (CIMBT) และแอล เอช ไฟแนนซ์เชียลกรุ๊ป ในไตรมาส 2 ปี 2566 (เมษายน-มิถุนายน) มีกำไรสุทธิ รวม 61,633 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,032 ล้านบาท หรือคิดเป็น 14.17% เมื่อเทียบกับกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิจำนวน 52,601 ล้านบาท และหากเทียบผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 2566 กับไตรมาสก่อนหน้าที่มีจำนวน 60,280 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2%
ทั้งนี้ SCB ยังคงรายงานกำไรสุทธิสูงสุดที่ 11,868 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาเป็น BBL รายงานกำไรสุทธิ 11,293 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลำดับที่สาม KBANK รายงานกำไรสุทธื 10,994 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลำดับที่สี่ KTB รายงานกำไรสุทธิ 10,156 ล้าบาท เพิ่มขึ้น 21%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกนของปีก่อน และธนาคารพาณิชย์ 6 ลำดับแรก มีกำไรสุทธิรวม 57,302 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.80% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนงวด 6 เดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์รายงานกำไรสุทธิรวม 121,732 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15,942 ล้านบาท หรือคิดเป็น 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธินั้น ปัจจัยหลักๆมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรายได้ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญก็ยังคงเพิ่มขึ้น ตามสัดส่วนของคุณภาพหนี้ของแต่ละแห่ง โดยเฉพาะกรณีของบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯที่มีปัญหาทุจริตจนทำให้เกิดภาวะขาดสภาพคล่องและผิดนัดชำระหนี้หุ้นกุ้ ทำให้เจ้าหนี้เงินกู้สถาบันการเงินต้องมีการกันสำรองฯเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิ
ขณะที่การขยายตัวของสินเชื่อ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุแม้ว่าผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ในไตรามาส 2 นี้จะได้รับอานิสงส์จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่การขยายตัวของสินเชื่อที่ชะลอลงในไตรมาสนี้ (จากไตรมาส 1 ที่ขยายตัว 1.3%)จากแรงกดดันจากการชำระคืนสินเชื่อทั้งในส่วนของภาครัฐและธุรกิจ รวมถึงสัญญาณระมัดระวังความเสี่ยงด้านเครดิตในการปล่อยสินเชื่อใหม่ จะยังเป็นปัจจัยที่ต้องยังต้องติดตามต่อไปในระยะข้างหน้า โดยในช่วงที่เหลือของปี 2566 ประเมินว่า แม้ภาพรวมกำไรสุทธิของระบบแบงก์ไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 อาจทำได้สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่การประคองรายได้จากธุรกิจหลักในช่วงครึ่งปีหลัง ยังมีโจทย์ท้าทายจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง และยังต้องเตรียมปรับตัวรับเกณฑ์หรือกติกาที่อาจทยอยปรับเปลี่ยนมากขึ้นซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการเติบโตของรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ในระยะข้างหน้า
ครึ่งปีหลังยังเจอโจทย์ท้าทาย
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 2 ปี 2566 ขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ภาพการฟื้นตัวยังไม่กระจายตัวทั่วถึง เนื่องจากรายได้จากภาคการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวในกรอบจำกัด โดยแรงกดดันจากปัญหาค่าครองชีพและภาระหนี้สินยังคงมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ประกอบกับการส่งออกสินค้ายังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับในช่วงที่เหลือของ ปี 2566 นั้น แม้ว่าเศรษฐกิจไทยอาจประคองทิศทางการเติบโตได้ แต่แนวโน้มในภาพรวมยังคงเปราะบางและยังมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะปัจจัยทางการเมืองในประเทศ นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ สัญญาณการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบต่อประเด็นคุณภาพหนี้ หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศทยอยปรับเพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ยังเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนผ่านเชิงนโยบายเพื่อกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งการทยอยลดบทบาทมาตรการภาครัฐ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงในระยะข้างหน้า ในขณะที่ภาคธุรกิจยังต้องเผชิญแรงกดดันจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกกดดันภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ธนาคารกรุงไทย จึงให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง และบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาระดับของ Coverage Ratio ในระดับสูง รองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ โดยธนาคารมีความห่วงใยและตระหนักถึงผลกระทบจากภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น พร้อมยืนหยัดดูแลช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มในการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่อ่อนไหวกับภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ให้สามารถประคับประคองตัวในการดำรงชีพได้
นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า หากไม่รวมปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 โดยมีแรงสนับสนุนหลักจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนมากขึ้นและส่งผลบวกต่อไปยังภาคแรงงานและค่าจ้าง รวมทั้งจะช่วยรักษาแรงส่งของเศรษฐกิจให้ขยายตัว 3.3% ตามการคาดการณ์ ทั้งนี้ กรุงศรียังคงเป้าหมายการเติบโตของเงินให้สินเชื่อไว้ที่ 3-5%”
นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากกว่าครึ่งปีแรก โดยทิสโก้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ราว 3.5-4% ด้วยแรงส่งหลักจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลทำให้การลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายงบประมาณ ทั้งงบประจำและงบลงทุนต้องล่าช้าออกไป ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ ตลอดจนการปรับเพิ่มของดอกเบี้ยอย่างเร็วแรงในตลาดโลกที่อาจก่อให้เกิด Unintended Consequences เป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นยังเป็นแรงกดดันต่อค่าครองชีพและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนไทย ในภาวะที่หนี้ครัวเรือนโดยรวมอยู่ในระดับที่สูงเช่นในปัจจุบัน
ฟิทช์คงอันดับเครดิตBBL-SCB-KTB-KBANK
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ ระยะยาวของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ที่ ‘BBB’ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AA+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ พร้อมกันนี้ฟิทช์ประกาศคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร (Viability Rating หรือ VR) ที่ 'bbb' คงอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล (Government Support Rating: GSR) ที่ 'bbb' และคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ 'F2'ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวพิจารณาจากความแข็งแกร่งของโครงสร้างเครดิตของธนาคารเองซึ่งสะท้อนโดยอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล (GSR)
ด้านโครงสร้างการดำเนินธุรกิจของ BBL ที่ 'bbb+'สะท้อนเครือข่ายธุรกิจการให้บริการธุรกรรมทางการเงินแบบครบวงจรที่แข็งแกร่งและความหลายหลายในธุรกิจซึ่งจะช่วยให้มีความได้เปรียบเชิงการแข่งขันอย่างยั่งยืนและช่วยสนับสนุนความสามารถในการสร้างกำไรอย่างมีเสถียรภาพตลอดวัฏจักรทางธุรกิจ ในขณะที่ยังควบคุมความเสี่ยงได้ โดย BBL มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในธุรกิจธนาคารสำหรับลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่และธนาคารระหว่างประเทศ จากการที่ธนาคารมีสาขาในต่างประเทศที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มธนาคารไทย โดยมองแนวโน้มกำไรปรับตัวดีขึ้น จากอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยง (OP/RWA) ของธนาคารได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.7% ในไตรมาส 1 ปี 2566 จากระดับต่ำที่ 0.8% ในปี 2563 และเชื่อว่าการปรับตัวดีขึ้นนี้จะเป็นไปอย่างยั่งยืน โดยรายได้ดอกเบี้ยของ BBL จะได้รับประโยชน์จากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเมื่อไม่นานมานี้ และการเติบโตของสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เรายังคาดว่าการตั้งสำรองที่จะลดลงในช่วงสองปีข้างหน้าจะช่วยสนับสนุนผลกำไรจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
*รับแรงหนุนจากธุรกิจหลัก*
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB และ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ที่ 'BBB' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AA+(tha)' โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิต มีเสถียรภาพ พร้อมกันนี้ ฟิทช์ยังได้คงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCB และ SCBX ที่ 'bbb' และคงอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของ SCB ที่ 'bbb' และ SCBX ที่ 'bbb-' สะท้อนอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของธนาคาร โดยอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCBX อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของกลุ่ม และยังเป็นระดับเดียวกันกับอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCB ซึ่งเป็นกิจการหลักของกลุ่ม สะท้อนถึงความคาดหวังของฟิทช์ว่าบริษัทโฮลดิ้งส์ของกลุ่ม หรือ SCBX จะสามารถรักษาอัตราส่วน Common Equity Double Leverage ให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 110% ได้ในระยะปานกลาง นอกจากนี้ ยังคาดว่า SCBX จะมีการบริหารสภาพคล่องที่ค่อนข้างรอบคอบ และสามารถรองรับความเสี่ยงได้ในกรณีเกิดเหตุการณ์วิกฤต
ด้านความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มน่าจะยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2566-2567 โดยมีแรงหนุนจากการเติบโตเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ อัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น และรายได้ค่าธรรมเนียมที่มีโอกาสเติบโตมากขึ้น นอกจากนี้ คาดว่าค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตน่าจะปรับตัวลดลงอีกอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวลดลงและระดับสำรองหนี้สูญที่ปรับตัวดีขึ้นมาแล้ว ทั้งนี้กลุ่มธุรกิจมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ปรับตัวดีขึ้นเป็น 2.5% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 และคาดว่าอัตราส่วนทางการเงินหลักดังกล่าวจะยังคงสามารถทรงตัวได้อย่างแข็งแกร่งในอีกหนึ่งถึงสามปีข้างหน้า
ชี้เอ็นพีแอลยังสูงกว่าอุตสาหกรรม
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ที่ 'BBB+' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F1’ อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล ที่ 'bbb+'และอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน ที่ 'bbb-'โดยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศมีปัจจัยสนับสนุนมาจากอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล (GSR) ซึ่งสะท้อนถึงความคาดหวังของฟิทช์ว่าธนาคารมีโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษจากรัฐบาล (BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ/F1) เมื่อมีความจำเป็น รวมการพิจารณาถึงโครงสร้างเครดิตของ KTB กับบริษัทและธนาคารรายอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศและสะท้อนถึงความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ที่ต่ำที่สุดภายในประเทศเมื่อเทียบกับบริษัทและสถาบันการเงินในประเทศ
ด้านโครงสร้างธุรกิจของ KTB ที่ 'bbb' KTB มีความเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดกับทางรัฐบาล และมีบทบาทที่สำคัญในการบริหารเงินสดให้แก่หน่วยงานราชการต่างๆ ซึ่งนำไปสู่ฐานเงินฝากที่แข็งแกร่ง การเชื่อมโยงดังกล่าวยังช่วยเพิ่มฐานะกลุ่มลูกค้ารายย่อยอย่างมากในช่วงการระบาดของโควิด 19 โดยธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อที่กระจายตัว ซึ่งได้ประโยชน์จากการมีสินเชื่อหน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีความเสี่ยงต่ำในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม อันดับคะแนนด้านคุณภาพสินทรัพย์ของ KTB ที่ 'bb+'จากอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพจะยังคงอยู่ที่ระดับสูงกว่า 4%ซึ่งค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม (3.4%) แต่การมีอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพที่สูงขึ้นของธนาคาร น่าจะช่วยเป็นกันชนรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ และแนวโน้มผลประกอบการ มองว่าความสามารถในการทำกำไรของ KTB มีการพัฒนาดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงก็ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 2.6% ณ ไตรมาสที่ ปี 2565 (2562: 1.5%) อัตราส่วนดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างในช่วงระหว่างปีนี้ แต่เชื่อว่ารายได้จะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากส่วนต่างดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นและการเติบโตของสินเชื่อกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น
กันสำรองฯสูงกระทบกำไร
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ ระยะยาวของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBank ที่ 'BBB’ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AA+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ฟิทช์ประกาศคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ 'bbb' อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล ที่ 'bbb' และคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ 'F2'โดยพิจารณาจากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารและหนุนโดยปัจจัยสนับสนุนจากรัฐบาล: อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศของ KBank พิจารณาจากความแข็งแกร่งของโครงสร้างเครดิตของธนาคารเองซึ่งสะท้อนโดยอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล (GSR)
ด้านโครงสร้างการดำเนินธุรกิจของ KBank ที่ 'bbb+'มีเครือข่ายธุรกิจแข็งแกร่งของธนาคาร และความหลากหลายทางธุรกิจ ช่วยสนับสนุนความสามารถในการสร้างกำไรอย่างมีเสถียรภาพตลอดวัฏจักรทางธุรกิจในขณะที่ยังควบคุมความเสี่ยงได้ รวมทั้งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในธุรกิจสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และการให้บริการด้านธุรกรรมธนาคาร (transactional banking) และได้สร้างเสริมศักยภาพด้านธนาคารดิจิทัล ซึ่งแอปพลิเคชั่นมือถือเป็นที่นิยมโดยมีผู้ใช้ 20 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ธนาคารต้องเผชิญสำหรับลูกค้าในกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น เช่น ลูกค้ากลุ่ม SME ซึ่งฟิทช์ยังมองว่า KBank มีความเชี่ยวชาญในการบริหารความเสี่ยงเพียงพอที่จะควบคุมความเสี่ยงด้านเครดิตเหล่านี้ตลอดวัฏจักรทางเศรษฐกิจ
และด้านความสามารถในการทำกำไรของ KBank ได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สูญที่เพิ่มขึ้น แต่อัตราส่วนสำคัญที่ชี้วัดความสามารถในการทำกำไรของธนาคารยังคงอยู่ในระดับดีเมื่อเทียบกับกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ (OP/RWA) เพิ่มขึ้นเป็น 2.1% ในไตรมาส 1 ปี 2566 และฟิทช์คาดว่าความสามารถในการทำกำไรของ KBank จะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสองปีข้างหน้า