xs
xsm
sm
md
lg

เครดิตบูโรเผยยอดขายหนี้เน่าพุ่ง รับแนวโน้มเอ็นพีแอลยังขาขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสถาบันการเงินในครึ่งหลังปี 2566 นั้น ยังมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นจากครึ่งปีแรก โดยประเมินจากจำนวนหนี้กำลังจะเสีย (Special Mentioned : SM) ณ ไตรมา 2 ปี 2566 ที่มียอด 4.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอด SM สินเชื่อบ้าน 1.28 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็น 31.1% ยอด SM สินเชื่อรถ 2.0 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20.6% ยอด SM สินเชื่อเครดิตการ์ด 8.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% ยอด SM สินเชื่อบุคคล 8.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.3% แต่อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของ NPL จะไม่สูงมากจนกลายเกิด NPL Cliff เนื่องจากอัตราการไหลจาก SM สู่ NPL (Migration rate) ของสินเชื่อตัวหลักๆ ไม่สูงนัก อย่างสินเชื่อบ้านมีอัตราการไหลสู่ NPL ที่ 22% จากมูลค่า สินเชื่อรถ 12% สินเชื่อบัตรเครดิต 57% และสินเชื่อบุคคล 54%

ขณะที่สถาบันการเงินได้มีการขาย NPL ออกไปค่อนข้างสูง โดยนับจากปี 2563-2565 มียอดขายหนี้ออกไปรวม 218,037 ล้านบาท เป็นของปี 2565 จำนวน 119,625 ล้านบาท และเพียงในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ได้ขาย NPL ไปแล้ว 68,527 ล้านบาท เป็น NPL สินเชื่อบ้าน 9,510 ล้านบาท จากปีก่อนที่ขายรวม 21,146 ล้านบาท NPL สินเชื่อรถ 7,806 ล้านบาท จากปีก่อนที่ขายรวม 7,182 ล้านบาท NPL สินเชื่อบัตรเครดิต 8,366 ล้านบาท จากปีก่อนที่ขายรวม 23,501 ล้านบาท และ NPL สินเชื่อบุคคล 14,899 ล้านบาท จากปีก่อนที่ขายรวม 40,988 ล้านบาท ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวจะพบว่า NPL สินเชื่อรถมียอดการขายหนี้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี สูงกว่าจำนวนที่ขายทั้งปีในปีก่อน สอดคล้องกับยอด NPL สินเชื่อรถที่เพิ่มขึ้น 17.7%

ทั้งนี้ จากข้อมูลของเคดิตบูโร ณ 30 มิถุนายน 2566 ยอดเอ็นพีแอลรวมอยู่ที่ 1.03 ล้านล้านบาท ลดลง 7.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหนี้เสียสินเชื่อบ้านลดลง 9.4% หนี้เสียสินเชื่อรถเพิ่มขึ้น 17.7% หนี้เสียสินเชื่อเครดิตการ์ดลดลง 13.1% หนี้เสียสินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้น 0.1% หนี้เสียสินเชื่อเกษตรลดลง 44.7% หนี้เสียสินเชื่อพาณิชย์ลดลง 38%

"การขายหนี้ NPL ของสถาบันการเงินในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิดมีรูปแบบที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่มักจะขายหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน เปลี่ยนมาเป็นการขายหนี้พร้อมหลักประกัน เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถให้บริหารสินทรัพย์หรือเอเอ็มซี ซึ่งน่าจะสะดวกในการบริหารจัดการและไม่ยืดเยื้อ แต่ในส่วนของลูกหนี้จะมีความยากลำบากมากกว่า สถานะลูกหนี้ของแบงก์กับลูกหนี้ของเอเอ็มซีจะต่างกัน เอเอ็มซีจะมีการเร่งรัดหนี้มากกว่า ซึ่งจากปริมาณการขายหนี้ NPL ที่ออกมาค่อนข้างสูงกว่าเดิมนี้ อาจสะท้อนว่า สถาบันการเงินต่างๆ เห็นว่าการจัดตั้งเอเอ็มซีเองนั้นไม่ได้ตอบโจทย์การแก้หนี้ เพราะจะอย่างไรหนี้ก็วนอยู่ในงบการเงินของแบงก์อยู่ดี จึงเลือกที่จะขายหนี้ออกมามากกว่า"

นอกจากนี้ ยังมีหนี้ NPL รหัส 21 ซึ่งเป็นลูกหนี้กลุ่มที่เสียไปแล้วเนื่องจากสถานการณ์โควิด และได้รับการผ่อนผันจากมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะหมดอายุลงในสิ้นปีนี้ ดังนั้น จะมีไม่มีหนี้ NPL รหัส 21 อีกต่อไป และหลังจากนี้ จะเรียกลูกหนี้กลุ่มว่าอย่างไรเพื่อไม่ให้กระทบสถานะของลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียที่ได้รับผลจากกระทบจากโควิด และอยู่ระหว่างการแก้ไข โดย ณ มิถุนายน 2566 มี NPL รหัส 21 จำนวน 3.7 แสนล้านบาท เป็นจำนวนราย 3.4 ล้านลูกหนี้ และ 4.9 ล้านบัญชีสินเชื่อ เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2566 ที่มี่จำนวน 3.1 แสนล้านบาท เป็นจำนวนราย 3.1 ล้านคน โดย 60% อยู่กับสถาบันการเงินเฉพาะของรัฐ 10% อยู่กับธนาคารพาณิชย์ 18% อยู่กับนอนแบงก์ และ 13% อยู่กับเช่าซื้อ ดังนั้น การเร่งการปรับโครงสร้างหนี้จึงยังเป็นเรื่องที่จำเป็น
กำลังโหลดความคิดเห็น