นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) โพสต์เฟซบุ๊ก "Surapol Opasatien" ถึงกรณีหนี้เสียเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือที่เรียกว่า หนี้เสียรหัส 21 ณ มิถุนายน 2566
หลังจากที่ผมได้เขียนถึงหนี้เสีย หนี้ NPLs หนี้ปรับโครงสร้างหนี้ หนี้ TDR หนี้กำลังจะเสียหรือหนี้ SM ไปแล้ว ได้มีผู้คนสนใจส่งคำถามมายังผมถึงเรื่องลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจจากโควิด-19 จนกลายเป็นหนี้เสีย ที่เราๆ ท่านๆ เรียกว่าหนี้เสียรหัส 21 นั้นว่า ณ มิถุนายน 2566 นั้นเป็นอย่างไร
จากภาพข้อมูลที่นำเสนอด้านล่างจะเห็นว่า จากหนี้เสีย หนี้ NPLs ทั้งหมด 1.03 ล้านล้านบาทนั้น เป็นหนี้เสียรหัส 21 มีจำนวน 3.7 แสนล้านบาท คิดเป็นจำนวนรายลูกหนี้ 3.4 ล้านคน ข้อสังเกตที่สำคัญคือ จากไตรมาสที่ 1 ปี 2566 หรือเมื่อ 3 เดือนก่อนตัวเลขมันอยู่ที่ 3.1 แสนล้านบาท การเพิ่มของจำนวนเงินและจำนวนรายทั้งๆ ที่มีการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ตามมาตรการแบบมุ่งเป้าอย่างเต็มกำลัง สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแรงของความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้กลุ่มนี้ที่ชัดเจน คำถามคือในระยะเวลาที่เหลือก่อนชักเอามาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวหรือมาตรการฟ้าส้มออกไปในปลายปี ธันวาคม 2566 นี้ จะส่งผลให้เกิดความอืด ความหนืดในการเร่งจัดการหนี้เสียเป็นหนี้ดีตามที่มุ่งหวังหรือไม่
ผมได้แต่ภาวนาให้ลูกหนี้เกรดดีๆ ในช่วงก่อนโควิดเหล่านี้ได้มีโอกาสกลับมาเป็นหนี้ดีได้อีกครั้ง และหากจะมีมาตรการที่ชัดเจน ถูกฝาถูกตัวออกมาสำหรับกลุ่มนี้เพิ่มเติม ไม่ตัดออกก็จะเป็นกุศลสำหรับเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างยิ่ง
ก่อนหน้านี้ นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) โพสต์เฟซบุ๊ก "Surapol Opasatien" ถึงหนี้เสีย, หนี้มีปัญหา หนี้ NPLs หนี้ปรับโครงสร้าง
1.ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 จากการประมวลผลจากฐานข้อมูลสถิติที่เอาตัวตนออกไปแล้วของเครดิตบูโรพบข้อเท็จจริงว่า หนี้ครัวเรือนไทยทั้งก้อนหลังการปรับปรุงข้อมูลโดย ธปท. เรามีตัวเลขอยู่ที่ 15.96 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ของ GDP ที่สะท้อนว่าเศรษฐกิจของเรามีปัญหาในเรื่องนี้
เรามีปัญหาแล้ว
เรามีปัญหาอยู่
เรามีปัญหาต่อ (อีกสักพัก)
เรายังออกจากกับดักตรงนี้ไม่ได้ในเวลานี้
2.ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทย 13.45 ล้านล้านบาท จัดเก็บอยู่ในระบบของเครดิตบูโรครับ ครอบคลุม 32 ล้านลูกหนี้ที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงินไทยกว่า 135 แห่ง
หนี้เสียไปแล้วรอการแก้ไขในตอนนี้กลับมาแตะระดับ 1 ล้านล้านบาทอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2566 ที่ระดับ 1.03 ล้านล้านบาท คิดเป็น 7.7% เมื่อไตรมาส 1 ปี 2566 มันอยู่ที่ 9.5 แสนล้านบาทครับ คำถามคือมันจะไปต่อหรือไม่ คำตอบคือมันต้องไปต่อแน่ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจแบบยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และทั่วถึง ประกอบกับจะมีการชักคืนมาตรการช่วยเหลือออกตามแผน แล้วกลับไปใช้มาตรการตามปกติเดิมมารองรับ ตามการคาดการณ์จะไม่ไหลมาแบบรุนแรง แต่มีโอกาสเพิ่มแน่ๆ ท่านที่สนใจพิจารณาได้จากกราฟสีแดงที่ปรากฏในภาพด้านล่างนะครับ
หนี้ตัวที่สองคือหนี้เสียที่เอาไปปรับโครงสร้าง เอาไปซ่อม เพื่อให้กลับมาเป็นหนี้ดี จ่ายได้ ตรงนี้มีจำนวน 9.8 แสนล้านบาทครับ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่อยู่ที่ระดับ 8 แสนล้านบาท แน่นอนว่ามาจากการเร่งเข้าไปช่วยเหลือ ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ตามมาตรการที่ออกแบบมาโดย ธปท. ดูว่ากราฟมันเชิดหัวขึ้น ถ้าปรับแล้วรอดก็เป็นหนี้ดี ถ้าปรับแล้วทำไม่ได้ ยังจ่ายไม่ได้ก็ต้องปรับอีกหรือปล่อยไหลเป็นหนี้เสีย
3.ไส้ในของหนี้ที่เสียไปแล้วหรือหนี้ NPLs ประกอบด้วย
หนี้กู้ซื้อรถยนต์เกือบ 2 แสนล้านบาท หนี้กู้ซื้อบ้าน ที่อยู่อาศัย 1.8 แสนล้านบาท หนี้ Ploan 2.5 แสนล้านบาท บัตรเครดิต 5.6 หมื่นล้านบาท หนี้เกษตร 7.2 หมื่นล้านบาท เป็นต้น ที่น่าสังเกตคือหนี้กู้มาซื้อรถยนต์นั้นมันเพิ่มขึ้นจากกลางปีที่แล้ว มิถุนายน 2565 สูงถึง 18% อันนี้ต้องยอมรับว่ากลิ่นไม่ค่อยดี
แม้ว่าทุกๆ คนกำลังรอกลิ่นแห่งความเจริญงอกงามทางเศรษฐกิจในอนาคตตามที่แต่ละคนวาดหวัง แต่กลิ่นแห่งความเป็นจริงวันนี้และในระยะอันใกล้มันส่งผ่านตัวเลขออกมาแบบทำให้ไม่สบายใจ ไม่สบายเนื้อสบายตัวเอาเสียเลยในเวลานี้
เส้นกราฟหนี้ที่กำลังจะเสีย หนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษ หนี้ SM กราฟปักหัวลงจาก 6 แสนล้านบาท มาเป็น 4.75 แสนล้านบาท พระเอกยังคงเป็นหนี้กู้มาซื้อรถยนต์นะครับ 2 แสนล้านบาท