xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.แก้จนฯ ชี้ “แก้หนี้สินล้มเหลว” เพราะขาดหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เสนอแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนระยะยาว ใช้แนวคิดแบบองค์รวม คำนึงถึงองค์ประกอบที่เชื่อมโยงกันเป็นระบบมี 3 แกนหลักประสานกัน

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำวุฒิสภา เปิดเผยว่าคณะกรรมาธิการได้จัดทำร่างรายงานพิจารณาศึกษาเรื่องกรอบแนวทางการแก้ไขหนี้สินแบบองค์รวม สรุปสาระสำคัญคือ

แนวทางการแก้ไขหนี้สินแบบองค์รวม (Holistic Debt Management Framework) เกิดขึ้นจากเหตุที่การแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือนในปัจจุบันยังไม่ได้รับการแก้ไขแบบครอบคลุมทุกสาเหตุของปัญหาและเป็นการแก้ไขเฉพาะหน้าโดยไม่มีการทบทวนและพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนในระยะยาว

"มาตรการแก้ไขหนี้สินในปัจจุบันนั้น ไม่เพียงพอกับสภาพปัญหาทั้งหมด เพราะไม่ครอบคลุมถึงหนี้สินทุกประเภท เป็นมาตรการแบบมิติเดียว โดยไม่ได้คำนึงถึงปัญหาและแก้ไขสาเหตุที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ และมีข้อจำกัดในการที่ลูกหนี้จะเข้าถึงความช่วยเหลือ รวมถึงการสร้างทัศนคติในการแก้ไขปัญฯหาหนี้สินแบบมีส่วนร่วมของฝั่งลูกหนี้และเจ้าหนี้"

โดยที่เจ้าหนี้มักดำเนินการปล่อยสินเชื่อโดยขาดความรับผิดชอบต่อปัญหาหนี้สินครัวเรือนในภาพรวมและต่อลูกหนี้ (Creditor's Responsilility) มุ่งการแข่งขันเพื่อแสวงหากำไรโดยไม่คำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล และไม่สนใจแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง นอากจากนี้ การไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงและไม่มีกฎหมายสนับสนุนการแก้ไขปัญหาทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนทั้งในปัจจุบันและในระยะยาวขาดความเป็นเอกภาพและไม่ต่อเนื่อง

คณะกรรมาธิการเห็นว่า แนวทางหรือระบบการแก้ไขปัญหาหนี้สินแบบองค์รวมตามแนวคิดแบบองค์รวม (Holistic Thinking) : เป็การแก้ไขโดยคำนึงถึงองค์ประกอบทั้งหมดของปัญหาและแนวทางแก้ไขที่เชื่อมโยงกันเป็นระบบ ทำให้ได้กรอบแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินแบบองค์รวม ซึ่งประกอบด้วยแกน 3 แกนประสานกันเป็นระบบ ดังนี้

1. แกนใน (Central Core) คือ ระบบการจัดการแก้ไขหนี้สินแบบองค์รวม ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญาหนี่้สินแบบสองมิติ ทั้งในฝั่งลูกหนี้โดยการสร้างสมดุลระหว่างรายรับและรายจ่าย ให้ลูกหนี้มีเงินเพียงพอใช้จ่ายและสามารถชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้โดยไม่ผิดนัด และการปรับโครงสร้างหนี้แบบสมดุลกับฝั่งเจ้าหนี้ให้ได้รับชำระหนี้มากที่สุดเท่าที่ลูกหนี้มมีความสามารถในการชำะระหนี้

ผ่านกระบวนการฟื้นฟูหนี้สินประกอบด้วย การวิเคราะห์โครงสร้างหนี้ทั้งหมด โดยปรับจำนวนและเงื่อนไขการชำระหนี้เสียใหม่ให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยกำหนดช่องทางการฟื้นฟูหนี้สิน ไม่ว่าจะเป็นการยืดระยะเวลาการลดหนี้ เป็นต้น

ทั้งนี้ในการดำเนินการนั้นจะต้องมีที่ปรึกษา หน่วยงานต้นสังกัดองค์กรการเงินที่ดี และกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูหนี้สินของลูกหนี้ด้วย

2. แกนกลาง (Middle Core) คือ โครงสร้างเชิงองค์กร หมายถึง โครงสร้างที่เป็นรูปธรรมเชิงองค์กร เพื่อรองรับระบบการจัดการแก้ไขหนี้สินแบบองค์รวมให้สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานกลางแก้ไขปัญหาหนี้สิน หน่วยงานที่ปรึกษา ในการวิเคราะห์และจัดทำแผนฟื้นฟูหนี้สิน รวมทั้งการจัดสรรกองทุนหรือแหล่งเงินเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องมีกลไกทำให้ลูกหนี้ มีความรู้และความตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินแบบองค์รวม จึงต้องมีโครงสร้างเชิงองค์กรมาสนับสนุน รวมทั้งต้องมีเจ้าภาพหลักในการแก้ไขปัญหาหนี้สินและการพัฒนาระบบการกู้ยืมเงินและการบังคับทางกฎหมายที่เป็นธรรม

3. แกนนอก (Outer Core) เป็น Driving Factors คือ โครงสร้างของกฎหมาย ซึ่งสนับสนุนให้กระบวนการทั้งหมด มีความมั่นคง มีผลบังคับเชิงนิตินัย โดยจะต้องปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืม เช่น การคิดดอกเบี้ยแบบบริษัทธรรมาภิบาล แก้ไขปัญหาขาดการมีส่วนร่วมของเจ้าหนี้ต่อการปล่อยกู้ให้เกิดปัญหา ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูหนี้สิน เช่น กฎหมายฟื้นฟูหนี้สินครัวเรือน และ กิจการครัวเรือน ให้ครัวเรือนหรือกิจการครัวเรือน เป็นหนี้ที่ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูต่อศาลได้ รวมทั้งการมีหน่วยงานหรือองค์กรที่ปรึกษา เพื่อกลั่นกรองลูกหนี้ที่จะร้องขอฟื้นฟูต่อศาล การเพิ่มบทบาทของศาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐในการไกล่เกลี่ยหนี้สินระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งปวงให้มีอำนาจตามกฎหมายในการไกล่เกลี่ยเชิงนิตินัยแทนการไกล่เกลี่ยแบบสมัครใจ

สำหรับข้อเสนอแนะระยะสั้น คณะกรรมาธิการเสนอว่าควรมีการจัดตั้งโครงสร้างเชิงองค์กรของระบบการแก้ไขปัญหาหนี้สินแบบองค์รวม โดยปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ สำหรับสถาบันการเงินที่กำกับดูแลในด้านต่าง ๆ ในการนำระบบการแก้ไขปัญาหนี้สินแบบองค์รวมมาใช้แก้ไขปัญหาในปัจจุบัน

ส่วนข้อเสนอระยะยาวเชิงนโยบาย คณะกรรมาธิการเห็นว่าควรมีการจัดตั้งศูนย์แก้ไขหนี้สินแห่งขาติ โดยมีภาระกิจ 3 มิติ คือ

1) ออกมาตรการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินของกลุ่มลูกหนี้ที่เดือดร้อน

2) เผยแพร่ความรู้ในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และ

3) ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นธรรม

นอกจากนี้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ระยะปานกลางและระยะยาว เพื่อพัฒนาเชิงโครงสร้างของระบบสินเชื่อของไทย ให้มีความเป็นธรรมและสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเกิดปัญหาหนี้สินครัวเรือน โดยการปรับปรุงระบบที่เกี่ยวกับสินเชื่อของสถาบันการเงิน เช่น หลักการจำกัดผลตอบแทนสูงสุดของสินเชื่อต่อสินเชื่อ 1 ราย (Total Max Cap) ไม่เกินที่กฎหมายกำหนด

ประสบการณ์ของประเทศญี่ป่น ให้ความสำคัญกับหลักจริยธรรมของเจ้าหนี้การเงิน เช่น การปกป้องลูกค้าอย่างเป็นธรรม การกำกับสถาบันการเงินด้านจริยธรรมและการแข่งขันที่เป็นธรรม และ การคิดดอกเบี้ยและค่าะรรมเนียมไม่เกิน 100 % ในเงินต้นของหนึ่งสัญญา

ประเทศอังกฤษกำหนดเพดานกู้ของลูกหนี้ไม่เกินร้อยละ 25 ของรายได้ รวมทั้งหนึ่งคนหนึ่งสัญญาตามกฎหมาย สำหรับของรัฐฟอริดาสหรัฐอเมริกามีการปรับปรุงวิธีการบังคับคดีที่เป็นธรรมและหลากหลายเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบังคับคดี

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการเห็นว่า ควรบัญญัติให้มีกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูหนี้สินบุคคลและกิจการครัวเรือนหรือกิจการชุมชนขนาดย่อม การปรับปรุงพัฒนากองทุนของภาครัฐให้มีวงเงินและอำนาจหน้าที่ในการนำระบบแนวทางการแก้ไขหนี้สินแบบองค์รวมมาใช้

“รายงานฉบับนี้ถอดจากประสบการณ์ของผู้ที่ทำงานเรื่องการแก้ไขหนี้สินโดยตรง และคณะกรรมาธิการได้นำประสบการณ์นี้ไปทดลองปฏิบัติดูแล้วสามารถแก้ปัญหาได้จริง ดังนั้นคณะกรรมาธิการจะนำเสนอรายงาน ฉบับนี้ต่อวุฒิสภาต่อไป” นายสังศิต กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น