วันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทร้พย์ (ก.ล.ต.) รายงานการกล่าวโทษ 4 ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี จำกัด ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ในความผิดร่วมกันสร้างราคาหุ้น
หุ้นที่ 4 ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีร่วมกันปั่นคือ หุ้นบริษัท ไทย อิงเกอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TIGER โดยปั่นตั้งแต่วันแรกที่หุ้นเข้าซื้อขายเมื่อ 24 ตุลาคม 2561 และปั่นกันอยู่ 5 วันทำการ
4 ผู้บริหาร “เคทีบี” ที่ร่วมขบวนการปั่นหุ้น TIGER ประกอบด้วย นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี ในขณะนั้น นายรัฐชัย ธีระธนาวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมและหัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจ นายวิชชุ จันทาทับ หัวหน้าฝ่ายจัดการกองทุนส่วนบุคคลและผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล โดยได้ร่วมวางแผนดำเนินการ แบ่งหน้าที่กับทำเพื่อสร้างราคาหุ้น และมีนางชัญญา เพ่งพันธุ์พัฒน์ ผู้แนะนำการลงทุน ฝ่ายบริหารกองทุนส่วนบุคคล ให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวก
บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี เป็นทั้งที่ปรึกษาทางการเงิน และเป็นแกนนำผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น TIGER โดยทีมผู้บริหารบริษัทได้วางแผนและแบ่งหน้าที่กันทำ ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการจัดจำหน่ายหุ้น TIGER ซึ่งเป็นหุ้นตัวแรกที่ "เคทีบี" เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน หลังจากถูกพักใบอนุญาตเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน 2 ปี
กลุ่มผู้ร่วมกระทำผิดได้หาลูกค้ามาเปิดบัญชีกองทุนส่วนบุคคลรายใหม่โดยไม่พิจารณาศักยภาพทางการเงินของลูกค้าอย่างเพียงพอในกระบวนการทำความรู้จักตัวตนของลูกค้า และจัดสรรหุ้น TIGER แบบกระจุกตัวในบัญชีกองทุนส่วนบุคคลของลูกค้าโดยมีการออกรายการส่งเสริมการขายมารองรับ
นายวิชชุ ได้เริ่มส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น TIGER ผ่านบัญชีกองทุนส่วนบุคคลของลูกค้าในลักษณะการสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายของหุ้น TIGER เพื่อมุ่งหมายให้ราคาซื้อขายหุ้น TIGER สูงกว่าราคาที่เสนอขายนักลงทุนครั้งแรก 3.65 บาท
แต่แม้จะมีการสร้างราคา แต่หุ้น TIGER ปิดการซื้อขายวันแรกที่ 3.68 บาทเท่านั้น สูงกว่าจอง 3 สตางค์ หรือสูงกว่าจอง 0.82% หลังจากนั้น หุ้น TIGER ทรุดลงตลอด เพราะผลประกอบการชะลอตัวต่อเนื่อง โดยล่าสุด วันที่ 13 กันยายน ราคาลงมาปิดที่ 1.29 บาท ต่ำกว่าราคาจอง 2.36 บาท หรือต่ำกว่าจอง 64.65%
เพียงแต่มีนักลงทุนพลัดหลงเขาไปซื้อหุ้นตัวนี้น้อยมาก โดยมีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 1,222 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 14.05% ของทุนจดทะเบียน ความเสียหายจึงเกิดขึ้นในวงจำกัด
ผู้กล่าวโทษทั้ง 4 ราย เป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความน่าเชื่อถือต่อผู้ลงทุนทั่วไป การกระทำผิดร้ายแรงและส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อตลาดทุน และยังมีการกระทำความผิดของบุคคลบางรายที่ไม่สามารถใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งได้ ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 4 ราย ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย
การปั่นหุ้นโดยทั่วไป แก๊งที่เปิดปฏิบัติการปั่น มักเป็นผู้บริหารระดับสูง ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนเป็นหัวโจก หรือเป็นแก๊งของนักลงทุนขาใหญ่
แต่กรณีหุ้น TIGER ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพ์ เคทีบี ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและแกนนำผู้จัดจำหน่ายหุ้นหรืออันเดอร์ไรเตอร์ กลับลงมือปฏิบัติการปันราคาหุ้นเสียเอง เพียงเพื่อให้ราคาหุ้นที่เข้าซื้อขายวันแรกๆ ราคายืนเหนือจอง
ถ้าบริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี ไม่กำหนดราคาเสนอขายหุ้น TIGER สูงเกินไป ไม่เอาใจเจ้าของหุ้นที่สามารถขายหุ้นได้ราคาแพง และไม่เอารัดเอาเปรียบนักลงทุนที่ต้องซื้อหุ้นในราคาสูงเกินปัจจัยพื้นฐาน ผู้บริหารเคทีบี คงไม่ต้องเหนื่อย วางแผนปั่นหุ้นเพื่อพยุงราคา จนนำพาตัวเองและเพื่อนร่วมงานไปเสี่ยงต่อคุกตะราง ทำให้ชีวิตต้องสิ้นอนาคต
คำถามต่อไปคือ หุ้นน้องใหม่ที่ราคาขึ้นลงหวือหวา หรือถูกลากจนวิ่งกันไปลิบ สูงกว่าจองระดับ 100% หรือ 200% มีการปั่นราคาเหมือนหุ้น TIGER หรือไม่
และตลาดหลักทรัพย์ฯได้สแกน ตรวจสอบการซื้อขายหุ้นใหม่ทุกตัวที่เข้ามาซื้อขายในวันแรกหรือช่วงแรกๆ หรือไม่
เพราะหุ้นใหม่หลายตัวที่ร้อนแรงจัด ดูเหมือนว่าจะมีเจ้ามือ นักลงทุนขาใหญ่ หรืออาจมีเจ้าของเข้ามาคุมเกมการซื้อขาย สร้างราคาอยู่เบื้องหลัง
ถ้าตลาดหลักทรัพย์วางมาตรฐานเข้ม ตรวจสอบการซื้อขายหุ้นใหม่ทุกบริษัท โดยเฉพาะหุ้นใหม่ที่มูลค่าการซื้อขายและราคาหุ้นพุ่งทะยานสูงผิดปกติ อาจมีการกล่าวโทษการปั่นหุ้นน้องใหม่ตามมาอีกชุดใหญ่
TIGER อาจไม่ใช่หุ้นน้องใหม่ตัวแรกที่ถูกเชือด
เพราะตลอด 5 ปีที่ผ่านมา นับจากการปั่นหุ้น TIGER มีหุ้นใหม่หลั่งไหลเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นนับร้อยบริษัท
และมีนับสิบบริษัทที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายต้องสงสัยมีเจ้ามือ มีรายใหญ่หรือเจ้าของ บัญชาการปั่นอยู่เบื้องหลัง
TIGER อาจเป็นตัวนำร่อง ยุทธการเชือดหุ้นใหม่ที่ปั่นราคา หลอกปล้นเงินของประชาชนผู้ลงทุนในตลาดหุ้น