xs
xsm
sm
md
lg

คุ้ยปมโยกเงิน CIG-MORE-OTO-EE / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ออกประกาศเตือนให้นักลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินงวด 6 เดือนแรกปี 2566 และติดตามคำชี้แจงของบริษัทจดทะเบียน 4 แห่ง เนื่องจากผู้สอบบัญชีตั้งข้อสังเกตธุรกรรมการเงินหลายรายการ

บริษัทจดทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์สั่งให้ชี้แจงข้อมูลในธุรกรรมการเงินและเหตุผลในการทำธุรกรรมประกอบด้วย บริษัท ซี.ไอ.กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CIG บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ OTO และบริษัท อีเทอเนิล เอนเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ EE

ทั้ง 4 บริษัทมีปมธุรกรรมการเงินที่ถูกตั้งข้อสงสัยในความโปร่งใสคล้ายๆ กัน และเป็นธุรกรรมการเงินที่เข้าข่ายธุรกรรมการเงินที่บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ใช้เป็นช่องทางการผ่องถ่ายเงินออก

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ CIG ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 2 ปี 2566 เกี่ยวกับเงินจ่ายล่วงหน้าค่าหุ้น และการวางเงินประกันความเสียหายเพื่อ Due Diligence รวม 724 ล้านบาท หรือ 84% ของส่วนของผู้ถือหุ้น

ส่วนหนึ่งเป็นการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าหุ้นทั้งจำนวนสำหรับการซื้อหุ้นที่คณะกรรมการตรวจสอบได้เคยให้เพิ่มความระมัดระวังในการทำรายการ ซึ่งต่อมามีการเลื่อนระยะเวลาโอนกรรมสิทธิ์ และปรับรูปแบบการลงทุนในภายหลัง โดยชี้แจงข้อมูลผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 16 ตุลาคมนี้

สำหรับ MORE ถูกสั่งให้ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินงวด 6 เดือน ปี 2566 เกี่ยวกับรายการเงินให้กู้ยืมระยะสั้นแก่บริษัทร่วม การรับคืนเงินมัดจำค่าสิทธิค้างรับจากบริษัทร่วม เงินลงทุนจ่ายล่วงหน้า เงินมัดจำค่าซื้อหุ้น และเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ รวม 357 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของส่วนของผู้ถือหุ้น โดยชี้แจงภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2566

ส่วน OTO ถูกสั่งให้ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินงวด 6 เดือน ปี 2566 ซึ่งผู้สอบบัญชีมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการที่บริษัทจ่ายเงินมัดจำค่าซื้อที่ดินก่อนที่คณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้ทำสัญญาจะซื้อจะขายซื้อที่ดิน 140 ล้านบาท

นอกจากนั้น บริษัทมีขาดทุนสุทธิ 96 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการขาดทุนจากเงินลงทุนในตราสารทุนของบริษัทจดทะเบียน 134 ล้านบาท

และยังมีรายการเงินให้กู้ยืม 100 ล้านบาทแก่บริษัทจดทะเบียนอีกแห่งหนึ่งที่บริษัทลงทุนและมีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน โดยชี้แจงภายในวันที่ 26 ตุลาคม 2566

EE ถูกสั่งให้ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 2 ปี 2566 เกี่ยวกับการบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าของค่าความนิยมและเงินลงทุน รวมทั้งบันทึกค่าเผื่อการปรับลดมูลค่าสินค้าในธุรกิจค้าและผลิตกัญชง รวม 94 ล้านบาท ซึ่งเป็นธุรกิจหลักเพียงธุรกิจเดียวของบริษัท ขณะที่คู่สัญญาไม่ต่อสัญญาการปลูกกัญชง

นอกจากนั้น ยังมีผลขาดทุนจากการวัดมูลค่าเงินลงทุนในตราสารทุนที่เป็นบริษัทจดทะเบียนอีก 66 ล้านบาท รวม 160 ล้านบาท ทำให้งวด 6 เดือน ปี 2566 มีผลขาดทุนสุทธิ 164 ล้านบาท กระทบต่อผลการดำเนินงาน ฐานะการเงิน และสภาพคล่องอย่างมีนัยสำคัญ โดยขอให้ชี้แจงข้อมูลภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2566

ตลาดหลักทรัพย์ต้องการคำชี้แจงเหตุผลการทำธุรกรรมทางการเงินที่ถูกผู้สอบบัญชีตั้งข้อสังเกต และคณะกรรมการบริษัทใช้ความระมัดระวังเพียงใดเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินงาน สภาพคล่องและฐานะทางการเงินของบริษัท

การสั่งให้ 4 บริษัทจดทะเบียนชี้แจงธุรกรรมการเงินที่มีปมน่าสงสัยเป็นผลพวงจากมาตรการกำกับดูแลที่มีความเข้มข้นขึ้น โดยบริษัทจดทะเบียนใดมีพฤติกรรมที่น่าสงสัย และอาจส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์จะตรวจสอบ สั่งให้บริษัทจดทะเบียนชี้แจงข้อมูล และส่งสัญญาณเตือนนักลงทุนทันที

การส่งสัญญาณให้ระมัดระวังหุ้น CIG MORE OTO และ EE อาจช้าไปหน่อยอยู่ดี เพราะราคาหุ้นทั้ง 4 บริษัทถูกถล่มขายร่วงลงมาหนักแล้ว แต่จะช่วยให้นักลงทุนได้เห็นถึงพฤติกรรมผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน และสามารถวางกลยุทธ์ได้ว่า ควรลงทุนหุ้นที่มีความเสี่ยงจากการดำเนินงานไม่โปร่งใสหรือไม่

ในรอบ 12 เดือน CIG เคยถูกลากขึ้นไปสูงสุดที่ 65 สตางค์ แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมาปิดที่ 18 สตางค์ มีผู้ถือหุ้นรายย่อยติดค้างอยู่ 3,317 ราย

หุ้น MORE เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 2.98 บาท ล่าสุดปิดที่ 17 สตางค์ มีผู้ถือหุ้นรายย่อยติดอยู่จำนวน 14,431 ราย

OTO เคยพุ่งขึ้นสูงสุดที่ 24.40 บาท สุดปิดที่ 88 สตางค์ มีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 1,507 ราย

และ EE เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 72 สตางค์ ล่าสุดปิดที่ 31 สตางค์ มีผู้ถือหุ้นรายย่อยติดค้างอยู่จำนวน 12,378 ราย

รวม 4 บริษัทจดทะเบียนที่ถูกผู้สอบบัญชีตั้งข้อสังเกตในธุรกรรมการเงิน มีผู้ถือหุ้นติดค้างอยู่จำนวน 31,633 ราย โดยทั้งหมดน่าจะขาดทุนย่อยยับ จนตัดขาดทุนขายไม่ไหว

และต้องทนถือหุ้นเพื่อรอคอยอย่างไร้ความหวัง โดยเฉพาะเมื่อตลาดหลักทรัพย์เกาะติด ธุรกรรมการโยกเงินบริษัท จนอาจเกิดความเสียหายตามมา

4 บริษัทจดทะเบียนที่มีธุรกรรมการเงินน่าสงสัย ฐานะการดำเนินงานคงไม่สดใสนัก แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ชะตากรรมผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนกว่า 3 หมื่นราย

เพราะ “ติดกับ” หุ้นที่มีพฤติกรรมนำพานักลงทุนไปสู่ความล่มจม








กำลังโหลดความคิดเห็น