xs
xsm
sm
md
lg

ถก “รถไฟฟ้า 20 บาท” BEM-BTS เป็นต่อ! รัฐต้องยอม..แลกนั่งยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม
ส่องนโยบาย “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” เป็นจริง !!! รัฐต้องชดเชยรายได้ให้ทุกสาย ด้าน BEM และBTS รับอานิสงส์ล้วนๆ เชื่อปัญหาข้อถกเถียงก่อนหน้านี้ได้รับการแก้ไข รวมไปถึงอายุสัญญาสัมปทาน หลายฝ่ายคาดไร้ผลกระทบผลประกอบการทรุด จากเงินอุดหนุนของรัฐและผลประโยชน์ที่จะได้รับเพิ่ม

ถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่หลายฝ่ายจับตาว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ สำหรับนโยบาย “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” ที่ขับเคลื่อนโดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยจะมีการรวบรวมข้อมูลสัมปทานเดินรถของเอกชนทุกราย ทุกเส้นทาง จากนั้นจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อ เจรจากับผู้ที่ได้รับสัมปทานทุกราย ซึ่งการเจรจามีรายละเอียดต่างๆ คาดน่าจะได้เห็นความชัดเจนในประมาณ 6 เดือน

ขณะที่ตลาดหุ้นไทยสิ่งที่หลายฝ่ายจับตาคือท่าทีและทิศทางธุรกิจของ 2 หุ้นรถไฟฟ้าที่ซื้อขายบนกระดาน นั่นคือบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียว รถไฟฟ้าสายสีชมพู และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง

20 บาท แดง & ม่วง รัฐต้องชดเชย

ส่วนโครงการเส้นทางที่อยู่ในการเดินรถของรัฐทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง(ตลิ่งชัน-รังสิต) ปัจจุบันอัตราค่าโดยสารราคาอยู่ที่ 14-42 บาท และสายสีม่วง (บางซื่อ-คลองบางไผ่) ซึ่งมีอัตราค่าโดยสารราว 14-42 บาทเท่ากันนั้น คาดว่าจะมีการปรับอัตราค่าโดยสารเป็น 20 บาท (ตลอดเส้นทาง) ได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้ประชาชน

สิ่งที่น่าสนใจคือ การจะทำให้รถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีม่วงมีราคา 20 บาทตลอดสายได้นั้น ภาครัฐจำเป็นต้องชดเชย โดยสายสีแดงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จำเป็นต้องใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลส่วนต่างที่รัฐบาลต้องชดเชย และคาดว่าจะมีการนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.พิจารณาได้ภายเดือนกันยายนนี้ จากนั้นจะเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอปรับอัตราค่าโดยสารต่อไป

ขณะที่สายสีม่วงช่วงบางซื่อ-คลองบางไผ่ภายใต้การกำกับดูแลของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)นั้น สามารถปรับลดค่าโดยสารได้ทันที เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยมีการขออนุมัติ จัดทำโปรโมชันค่าโดยสารในราคาสูงสุด 20 บาทตลอดสายอยู่แล้ว

เบื้องต้นประมาณการว่ารัฐบาลต้องใช้เงินอุดหนุนรวม 136 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นรถไฟฟ้าสายสีแดง 80 ล้านบาทต่อปี และรถไฟฟ้าสายสีม่วง 56 ล้านบาทต่อปี แต่การลดค่าโดยสารจะปรับเปลี่ยน พฤติกรรมประชาชนให้หันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น คาดว่าจะต้องใช้เวลาดำเนินนโยบายถึง 2.8 ปี จึงจะทำให้รถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย มีรายได้กลับมาเท่าเดิม โดยรัฐไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้อีกหลังจากนั้น

มีการประเมินว่า การใช้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะทำให้ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 10% ขึ้นไป และใช้เวลา 2 ปีต่อจากนี้ รายได้จากการใช้บริการถึงจะกลับมาเท่าเดิม ขณะที่รายจ่ายจะคงที่ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นประโยชน์ต่อประชาชน จากปัจจุบันรถไฟสายสีแดง มีปริมาณผู้โดยสาร 2-3 หมื่นคน/วัน จะเพิ่มมากกว่า 3 หมื่นคน/วัน ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วงมีปริมาณผู้โดยสาร 5-6 หมื่นคน/วัน จะเพิ่มกว่า 6 หมื่นคน/วัน

สุริยะนั่งประธานถก BEM-BTS

ส่วนการเจรจากับผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทาน ได้แก่ BEM และ BTS รวมถึงกลุ่มซีพี ที่มาบริหารแอร์พอร์ตลิ้งค์ คาดว่าจะใช้เวลาเจรจาราว 2 ปี โดยกรอบการเจรจาดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ภาครัฐมั่นใจว่าจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร อย่างมีนัยสำคัญในอนาคต

ขณะเดียวกัน เพื่อให้ทุกอย่างลุล่วง คาดว่าจะมีการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์กับทั้ง BEM , BTS เพิ่มเติม นอกจากนี้จะพิจารณาว่าจะต้องใช้เงินอุดหนุนเท่าไร โดยจะเชิญเอกชนมาเจรจาให้เร็วที่สุด ซึ่งจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการที่มีนายสุริยะเป็นประธานเพื่อเดินหน้านโยบายนี้ให้สำเร็จตามนโยบายรัฐบาล และที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้

ทั้งนี้ มีรายงานว่าการขอให้ผู้ได้รับสัมปทานลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าเหลือ 20 บาทตลอดสาย ภาครัฐต้องพร้อมจ่ายชดเชยให้ผู้รับสัมปทานทั้งสองบริษัทในช่วงแรกประมาณ 2ปี เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีแดงและสีม่วง

เอกชนต้องลงทุนตั๋วร่วม

นอกจากนี้ ด้วยรถไฟฟ้าแต่ละสายมีระยะสัมปทานที่แตกต่างกัน ดังนั้นหากนำนโยบาย 20 บาทตลอดสายมาใช้ ผู้ประกอบการจะต้องมีระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อคำนวณค่าใช้จ่ายในระบบตั๋วร่วมก่อน นั่นหมายความว่าภาคเอกชนอาจจะต้องมีการลงทุนเพิ่มโดยประมาณหลักพันล้านบาท เพื่อแลกกับความคุ้มค่าในอนาคตที่ภาครัฐได้คาดการณ์ไว้

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ มีการประเมินว่า เรื่องดังกล่าวไม่สามารถจบได้ง่ายในเร็ววัน อีกทั้งในระยะเริ่มต้นภาครัฐจำเป็นต้องเป็นผู้แบกรับ โดยใช้เงินเข้ามาชดเชยรายได้ส่วนที่ขาดหายไปของภาคเอกชนผู้ได้สัมปทาน

ก่อนจ่าย 20 บาทต้องสางปัญหาเก่า

อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะเป็นปัญหาฉุดรั้งไม่ให้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายสามารถเกิดขึ้นได้ หนีไม่พ้น ปัญหาคาราคาซังของผู้ประกอบการที่ยังเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหาข้อสรุปกับภาครัฐได้ เช่น กรณีค่าใช้จ่ายการเดินระบบและซ่อมบำรุง (O&M) ที่ยังค้างจ่ายของรถไฟฟ้าสายสีเขียว และกรณีผู้ชนะประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ต้องยอมรับว่าประเด็นเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยลบที่กดดันต่อหุ้นรถไฟฟ้ามายาวนาน แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าเรื่องเหล่านี้จะได้ข้อยุติไปในทางที่ดีก่อนเริ่มใช้นโยบาย 20 บาทตลอดสาย ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยบวกให้กับหุ้น BEM และ BTS

ส่วนเม็ดเงินที่จะถูกนำมาใช้อุดหนุนให้กับหุ้นรถไฟฟ้าทั้ง 2 บริษัทนั้น มีการคาดการณ์ว่าอยู่ที่ประมาณ 4.7 พันล้านบาทต่อปี ภายใต้เงื่อนไขสมมติฐานว่ามีผู้โดยสารเฉลี่ย 1 ล้านเที่ยวต่อวัน และค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 33 บาท/เที่ยว ซึ่งตัวเลขชดเชยดังกล่าวหลายฝ่ายเชื่อว่าจะช่วยทำให้ทั้ง BEM และ BTS ไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสัญจากนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งความกังวลที่ว่าจะถูกผลักภาระให้ปรับลดค่าตั๋วโดยสารลงก็หมดไป

แต่การจ่ายเงินชดเชยให้ภาคเอกชนของรัฐบาล ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อประเมินความเสี่ยง นั่นเพราะหากมีการจ่ายชดเชยให้ภาคเอกชนจริง หมายความว่างบประมาณในด้านพัฒนาของรัฐบาลบางส่วนย่อมลดลงเป็นเงาตามตัว หากระยะเวลา 2 ปีที่คาดการณ์ไว้ตัวเลขผู้โดยสารยังไม่เติบโตเท่าที่ภาคเอกชนคาดหวัง นั่นย่อมทำให้ภาครัฐมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นต่อไป

BEM โดดเด่นจากการฟื้นตัว

ล่าสุด บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี จำกัด ประเมินว่า การที่จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญแก่หุ้นรถไฟฟ้าทั้งBEM และ BTS นั้น ภาครัฐจำเป็นต้องมีการให้เงินชดเชยจำนวนมาก หรือต้องมีการแก้สัมปทานให้กับภาคเอกชน ดังนั้นภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว ไม่ว่าจะดำเนินไปในแนวทางไหน ก็ไม่น่าจะทำให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนได้ผลประโยชน์ลดลง

สิ่งเหล่านี้ นำไปสู่คำแนะนำ "ซื้อ" ทั้งหุ้น BEM ราคาเป้าหมาย 11.50 บาท และBTS ราคาเป้าหมาย 8.50 บาท โดย BEM มีความโดดเด่นมากกว่าเพราะกำไรมีแนวโน้มเติบโตชัดเจน นอกจากนี้หากภาครัฐเลือกใช้การขยายสัมปทานในการแก้ปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ ยิ่งถือว่าเรื่องดังกล่าวยิ่งเป็นผลดีให้กับภาคเอกชนทั้งสองบริษัท

โดยคาดว่ากำไรของ BEM จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 3/66 เช่นเดียวกับในไตรมาสที่ผ่านมา เพราะเป็นช่วง peak ของฤดูท่องเที่ยว แต่ในทางกลับกัน คาดว่าผลประกอบการของ BTS จะยังคงถูกกดดันจากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอของบริษัทย่อย (VGI) และรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่เพิ่งเปิดใหม่

ด้าน บล.ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีมุมมองเป็นบวกต่อตัวเลขผู้โดยสารรถไฟฟ้าเดือนสิงหาคมของ BEM ซึ่งทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 4.2 แสนเที่ยวต่อวัน เพิ่มขึ้น 31% ว่าถือเป็นการพัฒนาที่ดีขึ้นจากครั้งก่อนๆ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการ คาดว่าจะช่วยสนับสนุนภาคการเดินทางฟื้นตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ BEM ยังได้อานิสงส์งานไทยเที่ยวไทยที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เมื่อเร็วๆนี้ และการทยอยรับรู้ผลบวกจากการเปิดให้บริการของสายสีเหลืองตั้งแต่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้คาดว่ากำไร BEM ในปีนี้อยู่ที่ 3.7 พันล้านบาท เติบโต 50% จากปีก่อน ซึ่งคาดการณ์ ว่ากำไรในครึ่งปีหลังจะโตต่อเนื่อง หนุนโดยภาคการเดินทางทยอยกลับสู่ระดับปกติ และในช่วงไฮซีซันในภาคท่องเที่ยว ซึ่งฝ่ายวิจัยมองว่าราคาหุ้น BEM ปัจจุบันได้สะท้อนความกังวลเรื่องความไม่แน่นอนของนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าของรัฐบาลใหม่แล้ว ขณะที่นโยบายดังกล่าวยังมีโอกาสที่เปิดกว้างและมีเวลามากพอ

พร้อมกันนี้ยังมีปัจจัยบวกจากความคืบหน้าโครงการสายสีส้ม โดยปัจจุบันเหลือเพียงรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด 1 คดี และความคืบหน้าโครงการ Double Deck ไม่เพียงเท่านี้สัญญาจ้างเดินรถสายสีม่วงใต้ คาดจะทยอยเห็นความชัดเจนในครึ่งแรกปีหน้า

BTS เริ่มฟื้นตัวธุรกิจ บ.ร่วมกระเตื้อง

ส่วน บล. ฟิลลิป (ประเทศไทย) ประเมินทิศทางธุรกิจของ BTS ว่า ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา บริษัทขาดทุน 772 ล้านบาท หลักใหญ่มาจากการรับรู้ขาดทุนจากบริษัทร่วม นอกจากนี้หากไม่รวมที่บัญชีบริษัทร่วม BTS จะขาดทุน 127 ล้านบาท ทำให้ภาพในไตรมาส2/67 คาดฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเทียบไตรมาสก่อน แต่ยังลดลงเมื่อเทียบปีก่อน

ส่วนรายได้จากงานก่อสร้างรถไฟฟ้าลดลง นั่นเพราะสายแสงสีเหลืองปิดแล้ว คงเหลือแต่สายสีชมพูที่เตรียมเปิด แต่คาดว่า VGI อัตราการขาย (U Rate) สื่อโฆษณาจะสูงขึ้นในไตรมาสแรกปีหน้า (2567) และส่วนแบ่งขาดทุนจากบริษัทร่วมจะดีขึ้น เนื่องจากในไตรมาสแรกปีหน้า RABBIT มีการด้อยค่าเงินลงทุนใน SINGER ที่ 1.55 พันล้านบาท ทำให้รับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจาก SINGER อีก 583 ล้านบาท หรือโดยรวม RABBIT ขาดทุน 1.81 พันล้านบาท เช่นเดียวกับ JMART ที่รับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจาก SINGER ที่ 604 ล้านบาท ทำให้ JMART ขาดทุน 611 ล้านบาท

ขณะที่ KEX ขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 1.04 พันล้านบาท ซึ่งรายการพิเศษจากบริษัทร่วมคาดจะลดลง โดยเฉพาะจาก SINGER ที่มีการตั้งสำรอง NPL ไปมากแล้ว และ BTSGIF ที่คาดส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้นตามผู้โดยสารที่ฟื้นตัว รวมถึงคาดในครึ่งปีหลัง 2567 จะดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก จากการฟื้นตัวของ VGI และบริษัทร่วมต่าง ๆ ที่มีต่อเนื่อง

นอกจากนี้กรมการขนส่งทางรางได้เปิดเผยผู้ใช้บริการสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) หลังเก็บค่าโดยสารตั้งแต่ 3 ก.ค.66 – 4 ก.ย. 66 มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยต่อวันที่ 36,040 คน ซึ่งต่ำกว่าที่ BTS คาดไว้ราว 1 แสนคน/วัน ทำให้ช่วงแรกสายสีเหลืองขาดทุน ต้องใช้เวลาให้ผู้โดยสาร ramp up ในขณะที่สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) จะเปิดให้ประชาชนขึ้นฟรี 1 เดือน ตั้งแต่กลาง พ.ย. 2566 และเปิดเต็มระบบตั้งแต่ 18 ธ.ค. คงต้องดูตัวเลขผู้โดยสาร เพราะสายสีชมพู BTS คาดผู้โดยสารที่ 1 แสนคน/วัน เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การเปิดดำเนินการของสายสีเหลืองและสีชมพูจะไม่ส่งผลต่อสภาพคล่อง เพราะ รฟม. จะทยอยคืนค่าก่อสร้างปีละ 4.76 พันล้านบาท (สีเหลือง 2.51 พันล้านบาท และสีชมพู 2.25 พันล้านบาท) ในช่วง 10 ปีแรก

สำหรับนโยบาย “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” ของรัฐบาลนายกฯเศรษฐา ยังต้องใช้เวลาเพราะปัจจุบันมีผู้ดำเนินการโครงการหลายหน่วยงาน ทั้งของ รฟท. ในสายสีแดง รวมถึง รฟม. ในสายสีม่วงที่ BEM ได้สัญญาบริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่ BEM ได้สัมปทาน สายสีเหลืองและสีชมพูที่ BTS ได้สัมปทาน และกรุงเทพมหานครในสายสีเขียว ซึ่ง BTS ได้สัมปทานในเส้นทางหลักและเดินรถไฟฟ้าในส่วนต่อขยาย ซึ่งหากเป็นโครงการของรัฐน่าจะสามารถดำเนินการได้ก่อนตามที่ รมว. คมนาคม แถลง คือ สายสีม่วงและสีแดงซึ่งก็ต้องมีการชดเชยเช่นกัน ส่วนที่เป็นสัมปทานเอกชนสายสีน้ำเงินของ BEM และสีเขียวของ BTS ต้องมีการเจรจาการชดเชยส่วนต่าง เพราะค่าโดยสารเฉลี่ยของ BEM และ BTS ในไตรมาส 2/66 อยู่ที่ 27.3 บาท และ 34.1 บาท/เที่ยว รวมถึงสายสีเหลืองและสีชมพูของ BTS คงต้องติดตามเงื่อนไขของการชดเชย รวมถึงในอนาคตที่ผู้โดยสารเติบโตและการปรับขึ้นค่าโดยสารจะชดเชยอย่างไร คงไม่ได้ข้อสรุปในช่วงสั้น  ทำให้ปรับคาดการณ์กำไรปีนี้ลง รวมถึงปรับราคาพื้นฐานลงเป็น 8.90 บาท ยังคงคำแนะน้ำ “ซื้อ”ไม่ไตรมาสแรกปี 66 จะขาดทุนสูง แต่ช่วงที่เหลือคาดว่าจะดีขึ้น จากการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุน/กำไร จากบริษัทร่วมที่ดีขึ้น รวมถึง VGI ที่แนวโน้มธุรกิจฟื้นตัว โดยปรับคาดการณ์รายได้ปีนี้เป็น 1.67 หมื่นล้านบาท ลดลง 8.8% และปรับกำไรลงเป็น 901 ล้านบาท หรือลดลง 50.9% เทียบปีก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น