กพท.เปิดเวทีเสวนา “เผยเบื้องลึกกลไกราคา บินคุ้มค่าหรือเกินจริง” สะท้อนต้นทุนธุรกิจการบินหลังโควิด-19 สร้างความเข้าใจซื้อทีหลัง ได้ราคาสูง แต่ไม่เกินเพดานควบคุม
นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT ร่วมกับสมาคมสายการบินประเทศไทย โดยนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมฯ จัดงานเสวนาในหัวข้อ “เผยเบื้องลึกกลไกราคา บินคุ้มค่าหรือเกินจริง” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกลไกราคาบัตรโดยสารเครื่องบินต่อสาธารณะ โดยงานเสวนาฯ ได้รับเกียรติจาก พ.ต.อ. ประทีป เจริญกัลป์ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) นายทายาท เดชเสถียร (บอล) และนายพิศาล แสงจันทร์ (ยอด) นักเดินทางและเจ้าของเพจหนังพาไป ร่วมพูดคุยบนเวที และมีนิสิตนักศึกษารวมถึงประชาชนทั่วไปเข้าร่วมรับฟัง โดยงานเสวนาฯ ดังกล่าวจัดขึ้น ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 3 เอเชีย เอวิเอชั่น อคาเดมี (ดอนเมือง)
ธุรกิจการบิน ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นระบบคมนาคมที่มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศ สร้างงาน เชื่อมโยงและก่อให้เกิดการค้าการลงทุนในทุกภูมิภาคของประเทศอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดกว่า 3 ปี ส่งผลกระทบรุนแรงทำให้ธุรกิจสายการบินของไทยมีผลดำเนินงานขาดทุน จากนโยบายจำกัดการเดินทาง การปิดพรมแดนของหลายประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด สายการบินทุกสายมีความจำเป็นจะต้องออกมาตรการลดต้นทุนเพื่อความอยู่รอด เช่น การลดขนาดองค์กร การลดจำนวนอากาศยาน การลดเส้นทางบิน ซึ่งส่งผลให้อุปทานทางด้านการบินหายไปเป็นจำนวนมาก และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง อุปสงค์ในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น แต่สายการบินยังไม่สามารถกลับมาให้บริการได้เท่าเดิมเนื่องด้วยข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน เช่น ขั้นตอนการนำเข้าอากาศยาน การซ่อมบำรุงอากาศยาน บุคลากร ฯลฯ จึงส่งผลให้ราคาโดยเฉลี่ยของตั๋วเครื่องบินทั่วโลกเพิ่มขึ้นมาประมาณ 17-18 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ โดยปกติตั๋วเครื่องบินจะถูกกำหนดราคาด้วยหลัก Dynamic Pricing คือการตั้งราคาแบบยืดหยุ่น ซึ่งเป็นวิธีการที่สายการบินทั่วโลกนำมาใช้ ราคาตั๋วเครื่องบิน สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะ ปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารในแต่ละช่วงเวลา และระดับการแข่งขันของสายการบินในเส้นทางต่างๆ สายการบินจะนำปัจจัยเหล่านี้มาพิจารณาร่วมกับต้นทุนการให้บริการ ก่อนนำมากำหนดเป็นราคาตั๋วแต่ละที่นั่งโดยใน 1 เที่ยวบินจะมีราคาตั๋วที่แตกต่างกัน ไล่ระดับราคาเป็นขั้นบันได หรือที่เรียกว่า Fare Class ซึ่งกลไกทางการตลาดนี้เอง ทำให้สายการบินสามารถตั้งราคาตั๋วโดยสารได้หลายระดับ ช่วยให้ผู้โดยสารเข้าถึงบริการได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนช่วงสถานการณ์โควิด-19 การแข่งขันของธุรกิจการบินในประเทศค่อนข้างสูง และมีการนำเอากลยุทธ์ด้านราคามาใช้เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ซึ่งนั่นก็อาจส่งผลให้ประชาชนรู้สึกว่าราคาตั๋วเครื่องบินก่อนช่วงโควิด-19 มีราคาถูกกว่าในปัจจุบัน ด้วยเหตุผลนี้จึงเป็นที่มาของการจัดงานเสวนาฯ ในครั้งนี้ขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับกลไกราคา ตลอดจนเผยให้เห็นถึงต้นทุนในการดำเนินงานที่แท้จริงของสายการบิน
นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายมีปริมาณความต้องการเดินทางภายในประเทศสูงขึ้นมาก ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวชาวไทย ในขณะที่สายการบินยังฟื้นตัวได้ต่ำกว่าระดับการให้บริการในปี 2562 ส่งผลให้ไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินและที่นั่งเพื่อรองรับปริมาณความต้องการได้เพียงพอ จึงเกิดสถานการณ์ที่ผู้โดยสารหลายคนต้องซื้อตั๋วที่นั่งใบท้ายๆ ในราคาสูง โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว โดยที่ผ่านมา กพท.ได้ เร่งกระบวนการอนุมัติ/อนุญาตให้สายการบินสามารถจัดหาอากาศยานเพิ่มเติมให้รวดเร็วขึ้น และผ่อนปรนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สายการบินสามารถจัดหาอากาศยานมาใช้เพิ่มเติม และทันต่อความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร”
“และเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้โดยสารและควบคุมไม่ให้ค่าโดยสารสูงจนเกินไป โดยเฉพาะช่วงที่ประชาชนมีความต้องการเดินทางสูง คณะกรรมการการบินพลเรือนจึงมีประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าโดยสารและค่าระวางสำหรับอากาศยานขนส่งในเส้นทางบินภายในประเทศ พ.ศ. 2561 ซึ่งได้กำหนดเพดานราคาตั๋วขั้นสูงสุดไว้ ผู้โดยสารสามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ www.caat.or.th
“กพท. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลควบคุมและส่งเสริมการดำเนินงานของกิจการการบินพลเรือนให้เป็นไปตามกฎระเบียบและมาตรฐานสากล มีบทบาทในการติดตามตรวจสอบราคาค่าโดยสารเครื่องบินไม่ให้เกินเพดานที่กำหนด หากผู้โดยสารผู้พบราคาตั๋วเครื่องบินที่เกินเพดานค่าโดยสารสามารถร้องเรียนมาที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยผ่านเว็บไซต์ www.caat.or.th/complaint”
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าวว่า ต้นทุนในการดำเนินงานของสายการบินมีส่วนสำคัญในการกำหนดราคาบัตรโดยสาร อย่างที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันสายการบินต่างๆ ต้องแบกรับภาระต้นทุนในการดำเนินงานที่ค่อนข้างสูงมาก เมื่อเทียบกับการขนส่งสาธารณะอื่นๆ ยกตัวอย่างต้นทุนหลักสามารถแบ่งได้เป็น 1. ต้นทุนการดำเนินงาน เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าภาษีอากรน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน Excise Tax ที่ปัจจุบันสายการบินของประเทศไทยถูกเรียกเก็บอยู่ที่อัตรา 4.726 บาท/ลิตร 2. ต้นทุนคงที่ เช่น ค่าจ้างบุคลากรโดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ค่าซื้อ/เช่าอากาศยาน และค่าบริหารจัดการข้อมูลการบินและระบบสนับสนุน และ 3. ต้นทุนอื่นๆ เช่น การตรวจดูแลอากาศยานประจำวัน การซ่อมบำรุงตามกำหนดเวลา และค่าธรรมเนียมการใช้บริการในท่าอากาศยานและภาคพื้นดินหรือลานจอด เป็นต้น
“ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่มักคิดว่าธุรกิจสายการบินเป็นธุรกิจที่ทำกำไรมหาศาล แต่ในความเป็นจริงเมื่อดูราคาเฉลี่ยตั๋วเครื่องบิน เปรียบเทียบกับต้นทุนแล้วพบว่าค่าตั๋วจะมีส่วนต่างกำไรที่น้อย จึงต้องพึ่งพารายได้จากแหล่งทางอื่นมากกว่า เช่น รายได้จากการขนสินค้า รายได้จากการจำหน่ายบริการเสริม น้ำหนักกระเป๋า (สำหรับสายการบินแบบราคาประหยัด) รายได้จากช่องทางอื่น (ancillary) เช่น การโฆษณาในนิตยสาร in-flight หรือการขายของที่ระลึกบนเครื่องบิน เป็นต้น”
"นอกจากนี้ ในปัจจุบันธุรกิจการบินยังต้องเผชิญปัจจัยจำกัดการเติบโตจากภาวะเงินเฟ้อสูง มีผลให้กำลังซื้ออ่อนแอ ส่งผลให้การใช้จ่ายเพื่อสันทนาการหรือเดินทางท่องเที่ยวทางอากาศของลูกค้าเป็นไปอย่างระมัดระวัง และราคาเชื้อเพลิงเครื่องบินที่ปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 70% จากปี 2564 ตามราคาน้ำมันดิบโลก และธุรกิจสายการบินยังมีภาระการลงทุนเพิ่มขึ้นทั้งจากการปรับเกณฑ์ความปลอดภัยให้สอดรับกับมาตรฐานธุรกิจการบินโลก และการยกระดับด้านสุขอนามัยในช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 รวมไปถึงภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการปฏิบัติตามเกณฑ์/พันธกรณี/ข้อบังคับที่ถูกกำหนดขึ้น เช่น เกณฑ์ความปลอดภัยตามมาตรฐานอุตสาหกรรมการบินโลก นโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้สายการบินอาจต้องปรับใช้เชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuels: SAF) ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือออกแบบเครื่องยนต์ใหม่เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการกำหนดราคาตั๋วโดยสารทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ภาระต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของสายการบินจะเพิ่มมากขึ้น ทุกสายการบินก็ยังคงต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ (เพดานค่าโดยสาร) ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยอย่างเคร่งครัด ดังนั้นจึงอยากสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้โดยสารว่าราคาตั๋วของสายการบินในประเทศไทยเป็นราคาที่สมเหตุสมผลแล้ว” นายพุฒิพงศ์กล่าวเสริม
ทั้งนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้มีการเก็บข้อมูลราคาตั๋วเครื่องบินเส้นทางภายในประเทศของสายการบินต่างๆ เป็นระยะ เพื่อใช้ประเมินเเละวางแผนการพิจารณาด้านราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรม ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลสถิติราคาตั๋วเครื่องบิน เส้นทางดอนเมือง-ภูเก็ต วันที่ 19 พ.ค. 66 พบว่าผู้โดยสารส่วนใหญ่ซื้อตั๋วได้ในราคา 1,001-1,500 บาท ถึงร้อยละ 37.9 และซื้อตั๋วในราคาต่ำกว่า 1,000 บาท ร้อยละ 32.8 ส่วนตั๋วราคาสูงที่อยู่ในช่วงราคา 3,001-3,500 บาท มีผู้โดยสารซื้อเพียงร้อยละ 0.8
ทั้งนี้ ราคาตั๋วที่เเตกต่างกันของผู้โดยสารแต่ละคนสอดคล้องกับช่วงเวลาการสำรองที่นั่งตาม Fare Class ซึ่งการวางเเผนการเดินทางล่วงหน้าที่ดีจะมีโอกาสทำให้ผู้เดินทางได้ราคาตั๋วที่ถูก โดยเฉพาะฤดูกาลท่องเที่ยวที่กำลังมาถึง