xs
xsm
sm
md
lg

ทีมนิสิตจุฬาฯ คว้าชัยชนะประกวดโครงการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืนของนิสิตนักศึกษาประจำปี 2566

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เลขาธิการมูลนิธิรากแก้ว และกรรมการตัดสิน แสดงความยินดีกับทีมนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ถ้วยรางวัลชนะเลิศ ครั้งนี้
มูลนิธิรากแก้ว ประกาศผลการประกวดโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนประจำปีนี้ หรือ “2023 Rakkaew Foundation National Exposition : University Sustainability Showcase” ปรากฏว่าทีมนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้าชัยชนะ ด้วยผลงานโครงการวิศวกรรมอาสาพัฒนาชนบท ดำเนินการในพื้นที่บ้านเชตวัน ต.สันทะ อ.นาน้อย จ.น่าน

ทีมนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นทีมชนะเลิศระดับประเทศประจำปี 2566 พร้อมได้รับเงินสนับสนุนโครงการจำนวน 100,000 บาท ด้วยผลงานโครงการวิศวกรรมอาสาพัฒนาชนบท ดำเนินการในพื้นที่บ้านเชตวัน ต.สันทะ อ.นาน้อย จ.น่าน ที่ประชากรส่วนใหญ่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากน้ำไม่เพียงพอ เกิดการเผาพื้นที่เพื่อทำการเกษตรส่งผลให้เกิดปัญหามลพิษจากการเผาผืนป่าและระบบนิเวศถูกทำลาย

ทีมนิสิตจุฬาฯ ได้เริ่มสำรวจพื้นที่และดำเนินโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากชุมชนตั้งแต่ปี 2561 และดำเนินการต่อเนื่องเริ่มจากการสร้างฝาย สร้างแหล่งน้ำสำหรับการบริโภค สร้างระบบกระจายน้ำโดยใช้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ทำให้ชุมชน 43 ครัวเรือน สามารถเข้าถึงน้ำได้ทุกแปลง สามารถนำน้ำมาอุปโภค บริโภค และใช้ในการปลูกพืชแบบผสมผสานได้ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ ส่งเสริมให้ชุมชนปลูกผักสวนครัว 5 ไร่และไม้ผล 105 ไร่ สามารถลดรายจ่ายครัวเรือนละ 35,813 บาทต่อไร่ต่อปี และตลาดชุมชนมีสินค้าหลากหลายมากขึ้น ลดการนำเข้าของสินค้าเกษตรจากนอกพื้นที่ ทางด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชนมีการปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มาปลูกพืชแบบผสมผสาน ส่งผลให้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาต้นข้าวโพด ซึ่งก่อให้เกิดมลพิศทางอากาศ (PM 2.5) จากความสำเร็จนี้ ทำให้ชุมชนเชื่อมั่นและโครงการฯได้รับความร่วมมือจากชุมชนในการขยายผลพื้นที่โครงการจาก 200 ไร่ เป็น 400 ไร่

รองชนะเลิศอันดับ 1 เป็นของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ที่ทำเรื่องอนุรักษ์ผ้าทอไทย ในโครงการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม บนผืนผ้า โดยมีผลสำเร็จของโครงการ ทางด้านเศรษฐกิจ สร้างลวดลายผ้าทอลายใหม่ให้กับชุมชนได้ถึง 25 ลาย ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหม (ตรานกยูงพระราชทาน) นกยูงทอง และลวดลายปูนาปลาช่อน ได้รับการคัดเลือก เป็น 1 ใน 90 ลายผ้าอัตลักษณ์ที่ได้ตีพิมพ์ในเอกสารรายงานเฉลิมพระเกียรติของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทำให้ผู้สูงอายุ ชาวบ้านในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น 52.39% จำนวน 143,650 บาทต่อปี จากการทอผ้าลายใหม่ๆ และสีสันตรงกับความต้องการของตลาด ด้านสังคม สมาชิกกลุ่มผ้าทอมือทั้ง 43 คน ได้รับการพัฒนาทักษะด้านกระบวนการผลิต การออกแบบ การตลาด และการประชาสัมพันธ์ โดยในช่วงโควิดที่ผ่านมาก็ยังสามารถสร้างงานให้กลับกลุ่มวัยทำงานที่ได้รับผลกระทบอีกจำนวน 15 คน นอกจากนั้นโครงการยังสร้างกลุ่มเยาวชนที่ใช้ชื่อเรียกว่า “Young ผการันดูล จำนวน 23 คน ที่ได้เรียนรู้ในเรื่องผ้าไหม และด้านสิ่งแวดล้อม โครงการยังส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติ ลดการใช้ทำให้ผ้าไหมมีความเป็นธรรมชาติ และปลอดภัยต่อผู้สวมใส่

รองชนะเลิศอันดับ 2 เป็นของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ในชื่อโครงการยุวชนอาสามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มีเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะบัณฑิตในศตวรรษที่ 21 สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในทางปฏิบัติ แก้ปัญหาชุมชนด้านความยากจนและคุณภาพชีวิตให้พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2564 ปัจจุบันได้มุ่งพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน ในชุมชนสถานีอู่ตะเภา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการ ทางด้านเศรษฐกิจ คือ สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และการวางแผนการขายของผ่าน Google sheet เกิดนวัตกรรมสร้างสรรค์ SMEs ได้แก่ กระเป๋าสานด้วยยางธรรมชาติ นำรายได้สู่การจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และการสร้างตลาดออนไลน์ผ่าน Facebook Page ด้านสังคม เด็กและเยาวชนรู้เก็บ รู้ใช้ รู้ออม และการมีสุขภาวะกายจิต และสังคมองค์รวมที่ดี และด้านสิ่งแวดล้อม สามารถลดปริมาณขยะ ด้วยนวัตกรรมเส้นหวายเทียมจากยางพาราซึ่งเป็นยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก

นอกจากนี้ มูลนิธิรากแก้วยังมอบรางวัลต่างๆ ดังนี้
•รางวัลโครงการพัฒนาดีเด่นทางเศรษฐกิจ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง โครงการ “จาก” วิถีชีวิต สู่เศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมผลิตภัณฑ์จาก “ต้นจากทะเล Nypa Palm”

•รางวัลโครงการพัฒนาดีเด่นทางสังคม ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โครงการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพคนพิการ “เฮ็ดดี”

•รางวัลโครงการพัฒนาดีเด่นทางสิ่งแวดล้อม ได้แก่ วิทยาลัยชุมชนปัตตานี โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากป่าชายเลน ต้นทุนจากภูมิปัญญาซั้งปลา

•รางวัลชมเชย ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โครงการ “สวนเกษตร ครูน้อย” มหาวิทยาลัยทักษิณ โครงการ “ตรวจจับน้ำมันรั่วด้วยเซนเซอร์ความจุไฟฟ้า” และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โครงการ “SoChange & SoChamp”

คณะกรรมการตัดสิน


สำหรับการประกวดผลสำเร็จของโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน 2566 หรือ “2023 Rakkaew National Exposition: University Sustainability Showcase” จัดโดยมูลนิธิรากแก้วที่ดำเนินงานมาแล้วมากกว่า 16 ปีในการส่งเสริม สนับสนุน สร้างกระบวนการ เตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้เป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่เข้าใจปัญหาสังคม และมีจิตสำนึกในการช่วยเหลือสังคม โดยโครงการรากแก้วมีวัตถุประสงค์นิสิตนักศึกษารวมกลุ่มกัน คิดและลงมือทำโครงการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของการจริงของชุมชนหรือกลุ่มคนที่ประสบปัญหาด้านต่าง ๆ และนำความรู้จากห้องเรียน ความคิดสร้างสรรค์ และศักยภาพ มาพัฒนาเป็นโครงการที่สามารถแก้ไขปัญหาและสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีผู้สนับสนุนหลักได้แก่ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่เป็นผู้สนับสนุนโครงการมายาวนาน และมูลนิธิเอสซีจี

ศ.ดร. สัมพันธ์ ฤทธิเดช ประธานมูลนิธิรากแก้ว กล่าวว่า "การทำโครงการรากแก้วเปรียบเสมือนพื้นที่แห่งการเรียนรู้
ให้นิสิตนักศึกษา ได้สัมผัสเรียนรู้ปัญหาชุมชนและสังคมไทย และได้พัฒนาทักษะต่าง ๆ ระหว่างการทำโครงการ นอกจากนี้ มูลนิธิรากแก้วยังสร้างโอกาสและพื้นที่ในการเผยแพร่ผลงา และผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นจากโครงการที่ทำขึ้นจริงร่วมกับชุมชนและสังคม ออกไปสู่สายตาของสาธารณชน ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 เริ่มดีขึ้น มูลนิธิฯ จึงจัดพื้นที่การแสดงศักยภาพของนิสิตนักศึกษาเพื่อ กระตุ้นและสร้างบรรยากาศให้นิสิตนักศึกษาได้กลับมาทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่ยั่งยืน จึงได้เชิญชวนสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศส่งโครงการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเกณฑ์โครงการรากแก้ว โดยในปี 2566 นี้ มีมหาวิทยาลัย 35 แห่งทั่วประเทศส่งโครงการฯจำนวน 52 โครงการ และ มูลนิธิฯ ได้พิจารณาคัดเลือก 18 โครงการจาก 16 มหาวิทยาลัยเข้ามานำเสนอและแสดงผลสำเร็จของโครงการ โดยโครงการทั้ง 52 โครงการนี้ได้สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชนกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 5,261 คน"

หลังจากนี้มูลนิธิฯได้วางแผนการทำประชาสัมพันธ์การเปิดรับโครงการปี 2567 โดยเน้นการสร้างความเข้าใจกับผู้บริหาร คณาจารย์ และผู้นำนิสิตนักศึกษาสถาบันอุดมศึกษาตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นไป จัดกิจกรรมสัมมนาผู้นำนิสิตนักศึกษา และคณาจารย์เพื่อเสริมศักยภาพ ความรู้ด้านการพัฒนาโครงการเพื่อความยั่งยืน ขยายเครือข่ายนิสิตนักศึกษาขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยคาดว่าในปี 2567 จะมีสถาบันอุดมศึกษาจำนวนมากเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ มูลนิธิฯจะเชื่อมโยงการสนับสนุนจากภาคธุรกิจให้กับทีมที่เข้าร่วมไม่ว่าจะเป็นในเรื่องคำแนะนำในการพัฒนาโครงการ และเงินทุน ในขณะเดียวกันมูลนิธิฯ ได้จัดเตรียมหาเวทีประกวดในระดับภูมิภาค หรือระดับโลก เพื่อให้ทีมชนะเลิศประจำประเทศไทย ได้มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำโครงการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกับเยาวชนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก นับเป็นการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยให้เติบโตเป็นผู้นำในอนาคตที่มีจิตใจรับใช้สังคม สามารถร่วมพัฒนา แก้ไขปัญหาและสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน สังคม และประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน