xs
xsm
sm
md
lg

ปิดฉากหุ้น ALL / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ก่อนเปิดการซื้อขายหุ้นเมื่อวันพุธที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ออกคำเตือนด่วน ขอให้นักลงทุนศึกษาและติดตามข้อมูลความคืบหน้า การผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ของบริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL

หุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระหนี้มีทั้งหมด 7 รุ่น วงเงินต้นคงค้าง 2,334 ล้านบาท รวมดอกเบี้ยที่ค้างชำระจนถึงวันผิดนัดหรือวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 อีกจำนวน 82 ล้านบาท และยังมีหนี้ของธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP อีกจำนวน 264 ล้านบาท ซึ่งจะถูกดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมาย

ALL แจ้งว่า จะเร่งดำเนินการขายทรัพย์สินและหาแหล่งเงินทุนมาชำระคืนหนี้หุ้นกู้ แต่คำถามคือ อีกเมื่อไหร่จะชำระหนี้หุ้นกู้คืนได้

คำประกาศเตือนของตลาดหลักทรัพย์ แม้จะเป็นข่าวร้ายที่ตอกย้ำปัญหาฐานะการเงินของ ALL แต่แทบไม่มีผลกระทบใดต่อราคาหุ้นของบริษัทฯ

เพราะหุ้น ALL ตกอยู่ในสภาพตายซาก ราคาเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 6-7 สตางค์มาตลอดเดือนกรกฎาคม โดยล่าสุดวันที่ 2 สิงหาคมปิดที่ 6 สตางค์

ALL เข้าจดทะเบียนในตลาด MAI เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 หลังจากนำหุ้นเสนอขายนักลงทุนเป็นครั้งแรกในราคา 4.90 บาท และเดือนเมษายน 2565 แตกพาร์จาก 1 บาท เหลือ 50 สตางค์ ซึ่งหมายถึงหุ้นที่เสนอขายนักลงทุนครั้งแรกมีราคา 9.80 บาท

การแตกพาร์ไม่ได้ช่วยกระตุ้นราคาหุ้น ALL มากนัก เช่นเดียวกับการออกวอร์แรนต์ หรือใบสำคัญแสดงสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญรุ่นที่ 1 จำนวน 139.06 ล้านหน่วย กำหนดสัดส่วนการแปลงสภาพ 1 วอร์แรนต์ต่อ 2.2 หุ้นสามัญ ราคาแปลงสภาพ 1.2725 บาท ซึ่งไม่อาจปลุกหุ้นให้ฟื้นแต่อย่างใด

และวอร์แรนต์ ALL รุ่นที่ 1 หมดอายุเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 โดยมีผู้นำไปแปลงสภาพเพียง 1,635 หน่วยเท่านั้น

ผลประกอบการ ALL ย่ำแย่ตั้งแต่ปี 2564 โดยขาดทุนสุทธิ 347.20 ล้านบาท และปี 2565 ขาดทุนหนักจำนวน 1,494.79 ล้านบาท ส่วนไตรมาสแรกปีนี้ขาดทุน 346.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 77.38 ล้านบาท

ALL เป็นบริษัทจดทะเบียนแห่งแรกในปีนี้ที่ประกาศผิดนัดชำระหนี้ดอกเบี้ยหุ้นกู้ และส่งผลให้นักลงทุนหวั่นไหวในการลงทุนหุ้นกู้ เพราะมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการไถ่ถอนเมื่อครบกำหนดระยะเวลา แต่บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งยังทยอยออกหุ้นกู้ต่อเนื่อง โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงๆ เพื่อจูงใจ

อย่างไรก็ตาม การผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ที่เกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งทำให้ตลาดหุ้นกู้ไม่คึกคักมากนัก

สำหรับ ALL ส่งสัญญาณมีปัญหาตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2566 หลังประกาศผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ วงเงินเพียง 10.65 ล้านบาทเท่านั้น และถ้านักลงทุนที่ถือหุ้นอยู่รีบตัดสินใจเทขายหุ้นออกทันทีจะช่วยลดความสูญเสีย

เพราะราคาหุ้น ALL ในวันที่เปิดเผยการผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ครั้งแรก ยังเคลื่อนไหวอยู่ 30 สตางค์เศษ ก่อนจะปรับฐานลงต่อเนื่องจนเหลือเพียงไม่กี่สตางค์ และแทบมองไม่เห็นโอกาสที่หุ้นจะดีดตัวกลับขึ้นมาใหม่

จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย ALL มีทั้งสิ้น 7,453 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 69.92% ของทุนจดทะเบียน โดยกลุ่มนายธนากร ธนวลิทธิ์ ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนประมาณ 22% ของทุนจดทะเบียน

จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย ALL เพิ่มขึ้นมาก ระหว่างปี 2565 ถึง 2566 โดยปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยมีเพียง 3,134 คนเท่านั้น ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 33.36% ของทุนจดทะเบียน

แต่ปิดสมุดทะเบียนวันที่ 29 มีนาคม 2566 จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยเพิ่มเป็น 7,453 ราย และทั้งหมดกลายเป็นเจ้าทุกข์ต้องเสียหายยับเยิน ขาดทุนป่นปี้จากหุ้น ALL ซึ่งตกอยู่ในสภาพหุ้นที่ไร้อนาคต

การผิดนัดหนี้หุ้นกู้จำนวน 2,334 ล้านบาท และหนี้ KKP อีก 264 ล้านบาท กลายเป็นอวสานของ ALL

4 ปีของการปล่อยให้ ALL เข้าจดทะเบียนในตลาด MAI เหลือไว้แต่ความเสียหายของนักลงทุนในตลาดหุ้นเกือบ 8 พันชีวิต และผู้ซื้อหุ้นกู้อีกหลายพันชีวิต

การพิจารณารับหุ้นใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ต้องทบทวนปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เข้มข้นขึ้น ป้องกันหุ้นเน่าไม่ให้เข้ามาสร้างหายนะกับนักลงทุน เหมือนหุ้น ALL








กำลังโหลดความคิดเห็น