xs
xsm
sm
md
lg

NAT ระดมทุนผ่าทางตัน SI ขีดเส้น 3 ปีมีรายได้รีเคอร์ริ่ง 30%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สุธี อภิชนรัตนกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แนท แอบโซลูท เทคโนโลยีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ NAT
"แนท แอบโซลูท เทคโนโลยีส์" หรือ NAT ผู้ให้บริการด้านงานโครงสร้างระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสัญชาติไทยประกาศเดินหน้านำธุรกิจเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ MAI ปี 2566 มั่นใจปีนี้ตลาดไอทีเงินสะพัดส่งบริษัทวางเป้าหมายรายได้ทะลุ 1,500 บาท เพิ่มขึ้น 30-50% จากปี 65 ยอมรับธุรกิจวางโครงข่ายระบบไอทีหรือ SI มีจุดอิ่มตัวทำให้บริษัทวางแผนปั๊มรายได้จากธุรกิจสมาชิกเพื่อให้เกิดรายได้รีเคอร์ริ่งไม่ต่ำกว่า 30% ใน 3 ปี เบื้องต้นวางแผนโฟกัสตลาดไทยก่อนข้ามไปประเทศอื่น มุ่งจับเทรนด์ไซเบอร์ซิเคียวริตี และคลาวด์ที่องค์กรใหญ่มีทิศทางการลงทุนต่อเนื่อง

นายสุธี อภิชนรัตนกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แนท แอบโซลูท เทคโนโลยีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ NAT กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าเป็นผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีครบวงจรอันดับ 1 แก่องค์กรไทย และการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ MAI ปีนี้จะช่วยขยายกลุ่มเป้าหมายหลักของบริษัททั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กลุ่มโรงพยาบาล และกลุ่มพลังงาน คาดว่าจะส่งผลให้การเติบโตของรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

"ตลาดไอทีเติบโตมาก ทำให้ยอดขายของเราเติบโตจากหลัก 400 ล้านบาทไปแตะ 1,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ตัวแปรสำคัญคือการทำระบบคลาวด์ ทุกอย่างมาจากโควิด-19 ซึ่งทำให้คลาวด์และคอนแทร็กเซ็นเตอร์เป็นที่ต้องการ ซึ่งเมื่อคลาวด์มา ไซเบอร์ซิเคียวริตีก็มาด้วย การเติบโตจากนี้ทำได้ด้วยการขยายกลุ่มลูกค้า และเพิ่มเทคโนโลยีเข้ามา เป้าหมายที่บริษัทมองว่าจะทำให้เกิดการเติบโตที่เสถียรคือการเติบโต 30% ต่อปีต่อเนื่อง 3 ปี สำหรับปีนี้เชื่อว่าจะเพิ่มขึ้น 30-50% โดยขยายในส่วนอื่นด้วย"

รายได้ย้อนหลัง 3 ปีของบริษัทมีการเติบโตกระโดดเป็น 1,098 ล้านบาทในปี 2565 จากปี 64 และ 63 ที่ทำรายได้ 451 ล้านบาท และ 492 ล้านบาทตามลำดับ
การยื่นเข้าตลาด MAI ของ NAT จะเริ่มที่ไตรมาส 3 บนความคาดหวังว่าจะแล้วเสร็จปีนี้ เงินทุนที่ระดมได้จะถูกนำไปขยายทรัพยากร เพิ่มกระแสเงินหมุนเวียน ซึ่งที่ผ่านมา NAT ย้ำว่าไม่ได้มีรายได้จากการซื้อมาขายไป แต่มีรายได้จากการบริการเป็นหลักด้วย

สำหรับ NAT นั้นเป็นชื่อที่รวมอักษรย่อชื่อผู้ก่อตั้ง คือ "หนึ่ง เอ และโต้ง" ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานมากว่า 19 ปี บริษัทพัฒนาองค์กรจากธุรกิจประกอบคอมพิวเตอร์ขาย มาสู่งานติดตั้งและที่ปรึกษา ก่อนจะแปรสภาพบริษัทพร้อมเปลี่ยนชื่อในปีที่ผ่านมา โดยรายได้ย้อนหลัง 3 ปีของบริษัทมีการเติบโตกระโดดเป็น 1,098 ล้านบาทในปี 2565 จากปี 64 และ 63 ที่ทำรายได้ 451 ล้านบาท และ 492 ล้านบาทตามลำดับ

รายได้ส่วนใหญ่ของ NAT มาจากธุรกิจ SI โดยในปี 2565 บริษัทมีสัดส่วนรายได้เมื่อแบ่งตามลักษณะการประกอบธุรกิจ ได้แก่ (1) ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์พร้อมติดตั้ง และรับเหมาวางระบบที่เกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 97.15% (2) ธุรกิจให้บริการเจ้าหน้าที่ไอที 1.52% และ (3) รายได้จากการให้บริการอื่นๆ 1.33% โดยบริษัทมีกลุ่มลูกค้าภาครัฐในสัดส่วน 85.66% และ ภาคเอกชน 14.34% ของรายได้จากการขายและบริการ

เบื้องต้น NAT มีแผนขยายธุรกิจในกลุ่มรัฐวิสาหกิจ ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนลูกค้าภาครัฐและเอกชนให้เป็นสัดส่วน 60-40 เบื้องต้นยังไม่เห็นสัญญาณลบจากตลาดเนื่องจากแม้โควิด-19 จะหายไป แต่พฤติกรรมคนทำงานยังคงติดกับการทำงานได้จากทุกที่ทุกเวลา

"เราเห็นการลงทุนเพิ่มขึ้นที่ชัดเจนในประเทศไทย โดยเฉพาะด้านซิเคียวริตี การลงทุนไอทีเกิดขึ้นในทุกองค์กร เช่นเดียวกับภาครัฐที่มีนโยบายลงทุนเต็มที่ทุกพรรคการเมือง"

ปัจจุบัน NAT มีพนักงาน 77 คน คาดว่าจะมีการขยายยิ่งขึ้นหลังการเข้าตลาด MAI โดยเฉพาะบุคลากรกลุ่มวิศวกรด้าน SI ที่ต้องมีความรู้มุมกว้าง
สำหรับแผนธุรกิจปี 66 ของ NAT คือการเน้น 5 จุดเด่น คือ 1.ความเชี่ยวชาญด้าน Infratech ที่มีโอกาสเติบโตสูง 2.การเป็นที่ปรึกษา และให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารครบวงจร 3.การมีพันธมิตรทางธุรกิจเทคโนโลยีระดับโลก ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าในวงกว้าง 4.การมุ่งเน้นกลยุทธ์พัฒนาโซลูชันด้วยเทคโนโลยีชั้นนำ เสริมบริการด้าน Cyber Security สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และ 5.การขยายพอร์ตลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยที่ NAT เป็นพันธมิตรหลักของเดลล์ เทคโนโลยีส์ (Dell Technologies) ในไทย โดยเป็น 1 ใน 4 เจ้า SI ไทยที่ไต่ระดับ Titanium Partner ซึ่งเป็นระดับพันธมิตรทางธุรกิจขั้นสูงสุด

นอกจาก Dell พันธมิตรของ NAT ยังมี Genesys ผู้นำด้าน Customer Experience แบบ Omnichannel และผู้ให้บริการ Cloud Contact Center ระดับโลกจากประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึง Radware ผู้นำด้านเทคโนโลยี DDoS Protection และผู้นําระดับโลกด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ และบริษัท วีเอ็มแวร์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Vmware ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และให้บริการด้านระบบคลาวด์

ในอนาคตบริษัทมีแผนขยายธุรกิจไปที่เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีเอสจี และมีความคาดหวังจะเพิ่มรายได้ส่วนรีเคอร์ริ่งให้มีไม่ต่ำกว่า 30% ของรายได้รวม คาดว่าจะต้องใช้เวลาก่อร่างธุรกิจใหม่ราว 3 ปีจึงจะทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้


กำลังโหลดความคิดเห็น