xs
xsm
sm
md
lg

เก็บภาษีขายหุ้น...จุดจบนักเก็งกำไร / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การเก็บภาษีขายหุ้น นำไปสู่ข้อถกเถียงและกระแสต่อต้านจากคนในแวดวงตลาดหุ้นมาพักใหญ่ แต่ล่าสุดคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบเก็บภาษีขายหุ้น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ประมาณวันที่ 1 เมษายน 2566

แม้ตลาดหุ้นจะไม่ได้รับผลกระทบทันทีทันใด หลังคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันอังคารที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่คาดกันว่า เมื่อการเก็บภาษีขายหุ้นมีผลบังคับใช้จริง ผลกระทบจะเกิดขึ้นรุนแรง โดยเฉพาะมูลค่าการซื้อขายหุ้นที่จะลดลงอย่างฮวบฮาบ

ภาษีขายหุ้นในปีแรกจะเก็บในอัตรา 0.055% ของมูลค่าการขาย โดยการขายหุ้นวงเงิน 1 ล้านบาท เสียภาษีจำนวน 550 บาท แต่ปีต่อไปจะเพิ่มเป็น 0.11% หรือขายหุ้นวงเงิน 1 ล้านบาท ต้องจ่ายภาษี 1,100 บาท

ภาระต้นทุนการซื้อขายหุ้นที่เพิ่มขึ้นจะพลิกโฉมหน้าการลงทุนในตลาดหุ้นครั้งใหญ่ โดยพฤติกรรมการเพื่อเก็งกำไรระยะสั้นถูกจำกัดลง การซื้อขายหุ้นรายวันหรือเดย์เทรดแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะมีความเสี่ยงจากการแบกรับผลขาดทุนสูง

และบรรดานักลงทุนขาใหญ่หรือเจ้ามือหุ้น ซึ่งอยู่เบื้องหลังความร้อนแรงของราคาหุ้นนับร้อยบริษัทจะต้องคิดหนักในการสร้างราคาหุ้น หรือปั่นหุ้น

เพราะถ้าจุดไฟไม่ติด ปั่นหุ้นแล้วไม่มีรายย่อยตามแห่เก็งกำไร ขาใหญ่หรือเจ้ามือหุ้นต้องแบกรับต้นทุนค่านายหน้าซื้อขายและภาระภาษีขายหุ้น

อัตราค่านายหน้าซื้อขายหุ้นสำหรับนักลงทุนรายย่อย หลายโบรกเกอร์ใช้กลยุทธ์ด้านราคาในการแข่งขัน โดยคิดค่านายหน้าประมาณ 0.04% หรือล้านละ 400 บาท

ส่วนนักลงทุนรายใหญ่ มูลค่าซื้อขายสูง สามารถต่อรองค่านายหน้าเหลือประมาณ 0.02%

ขณะที่การซื้อขายด้วย ROBOT หรือปัญญาประดิษฐ์จะจ่ายค่านายหน้าเพียง 0.01% เศษ

อัตราภาษีขายหุ้นจึงสูงกว่าอัตราค่านายหน้าซื้อขายหุ้น และกลายเป็นภาระต้นทุนสำคัญของการซื้อขาย โดยเฉพาะการเก็งกำไรระยะสั้นที่มีการซื้อขายด้วยความถี่ หรือซื้อขายวันละหลายรอบ

ขณะที่นักลงทุนขาใหญ่ เจ้ามือ หรือนักปั่นหุ้น ซึ่งตั้งนอมินีโยนคำสั่งซื้อขายเพื่อสร้างภาพลวงตา ต้องมั่นใจว่าการปั่นหุ้นแต่ละรอบสามารถลากแมลงเม่าบินเข้ากองไฟได้

เพราะถ้าประเมินสถานการณ์พลาด ไม่มีเหยื่อ “ติดกับ” นักลงทุนรายย่อยไม่ตามแห่เก็งกำไร เจ้ามือจะตายเสียเอง ยิ่งปีที่ 2 ซึ่งอัตราภาษีขายหุ้นจะเก็บเต็มรูปแบบ เพิ่มขึ้นอีก 100% ในอัตรา 0.11% ทั้งนักเก็งกำไรระยะสั้น ทั้งนักปั่นหุ้นจะต้องยอมศิโรราบ

ภาษีขายหุ้นจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักลงทุน จากนักเก็งกำไรระยะสั้น ซื้อขายด้วยความถี่ กลายเป็นนักลงทุนที่ถือหุ้นยาวนานขึ้น และให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานหุ้นมากขึ้น

หุ้นร้อน หุ้นเก็งกำไรโดยไร้ปัจจัยพื้นฐานรองรับจะกลายเป็นหุ้นตายซาก หมดกระแสความนิยมจากนักลงทุน

บริษัทโบรกเกอร์กว่า 40 ราย เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด เพราะมูลค่าการซื้อขายหุ้นจะลดฮวบ ทำให้รายได้จากค่านายหน้าทรุดตาม และอาจมีโบรกเกอร์ขนาดเล็ก มูลค่าซื้อขายน้อยไปไม่รอด

มูลค่าซื้อขายหุ้นเฉลี่ยวันละเฉียด 1 แสนล้านบาท บางโบรกเกอร์บางแห่งยังต้องแบกภาระขาดทุนอยู่ ถ้ามูลค่าซื้อขายหุ้นลดลงเหลือวันละ 3-4 หมื่นล้านบาท

โบรกเกอร์หลายแห่งอาจถอดใจ โบกมือลาตลาดหุ้น

ตลาดหุ้นปีหน้าดูจะไม่สนุกนัก เพราะนอกจากเผชิญภัยคุกคามจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว ยังถูกซ้ำเติมจากภาษีขายหุ้นอีก

หุ้นปั่นเตรียมตัวตายได้ และโบรกเกอร์หลายรายคงไปไม่รอด








กำลังโหลดความคิดเห็น