xs
xsm
sm
md
lg

วอลุ่มซื้อขายหุ้นหด..โบรกเกอร์เล็กเสี่ยงตาย / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจากอินเทอร์เน็ต
มูลค่าการซื้อขายหุ้นวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ลดฮวบลงอย่างน่าตกใจ โดยเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนว่า นักลงทุนทุกกลุ่มชะลอการซื้อขาย พากันพักรบในตลาดหุ้น

มูลค่าซื้อขายวันศุกร์ที่ผ่านมาซบเซามาก เคาะซื้อเคาะขายกันเพียง 36,767.60 ล้านบาท และถือเป็นตัวเลขตกต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี นับจากวันที่ 30 ธันวาคม 2562 ซึ่งมีวอลุ่มซื้อขายเพียง 29,564 ล้านบาท

แม้จะเผชิญผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นับจากต้นปี 2563 แต่จำนวนนักลงทุนในตลาดหุ้นกลับเพิ่มขึ้น โดยมีนักลงทุนหน้าใหม่เปิดบัญชีซื้อขายต่อเนื่อง ขณะที่มูลค่าการซื้อขายหุ้นเพิ่มขึ้น

จำนวนนักลงทุนเมื่อสิ้นสุดเดือนตุลาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 2.31 ล้านราย โดยไม่นับบัญชีที่เปิดซ้ำกัน ส่วนมูลค่าซื้อขายหุ้นเฉลี่ยต่อวันปี 2564 มีจำนวน 93,845.64 ล้านบาท และ 10 เดือนแรกปีนี้ มูลค่าซื้อขายหุ้นเฉลี่ยต่อวัน 80,208 ล้านบาท

การค้าขายหุ้นถือเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูงสุด มากกว่าการค้าใดในประเทศไทย รวมทั้งการส่งออก ซึ่งมีมูลค่าเดือนละหลายแสนล้านบาท แต่การซื้อขายหุ้นเฉลี่ยเดือนละหลายล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อย่างเข้าสู่เดือนพฤศจิกายน มูลค่าซื้อขายหุ้นลดลงต่อเนื่อง เหลือวันละ 6 หมื่นล้านบาท 5 หมื่นล้านบาท และ 4 หมื่นล้านบาท จนวันศุกร์ที่ผ่านมาลดฮวบเหลือเพียง 3.67 ล้านบาท

สาเหตุที่มูลค่าซื้อขายหุ้นแฟบลงเกิดจากหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งเป็นช่วงปลายปี ซึ่งนักลงทุนชะลอการซื้อขาย โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ตลาดอยู่ในช่วงขาดแคลนปัจจัยชี้นำ

นอกจากนั้น ยังมีผลกระทบที่แทรกซ้อนเข้ามาจากหุ้นบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ซึ่งตกเป็นข่าวฉาวโฉ่กรณีการซื้อขายหุ้น MORE ช่องเปิดการซื้อขายหรือ ATO จำนวน 1,531.77 ล้านหุ้น เมื่อเช้าวันพหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน ซึ่งเข้าข่ายพฤติกรรมอำพรางเพื่อสูบเงินจากโบรกเกอร์ และอยู่ระหว่างการสอบสวนขบวนการที่อยู่เบื้องหลัง

คดีหุ้น MORE ทำให้นักลงทุนเกิดการเทขายหุ้นร้อน โดยเฉพาะหุ้นขนาดเล็กที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง และมีพฤติกรรมสร้างราคา โดนมีเจ้ามือ หรือนักลงทุนขาใหญ่อยู่เบื้องหลัง

และโบรกเกอร์ยังระมัดระวังการปล่อยวงเงินสินเชื่อเพื่อการซื้อหลักทรัพย์ หรือวงเงินมาร์จิ้นกับหุ้นร้อน และบางแห่งระงับวงเงินมาร์จิ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงของตัวเอง

ขณะที่นักลงทุนต่างชาติที่ซื้อขายด้วยระบบ ROBOT ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 40% ของมูลค่าซื้อรวมของตลาด อาจชะลอการซื้อขาย เพราะหุ้นเก็งกำไรตัวเล็ก นักลงทุนเลิกเล่น วอลุ่มน้อย

ROBOT จึงไม่มีโอกาสที่จะเข้าไปซื้อขายหากินจากส่วนต่างราคา

หุ้นเก็งกำไรตัวเล็กมีอยู่นับ 100 บริษัท และแม้มูลค่าราคาตลาดรวม หรือมาร์เกตแคปจะไม่สูง แต่เมื่อซื้อขายเก็งกำไรกันหลายรอบ ทำให้มูลค่าการซื้อขายหุ้นขนาดเล็กบวมโปง จนมูลค่าซื้อขายก่อนหน้าพุ่งขึ้นระดับเฉียด 1 แสนล้านบาทต่อวัน

แต่เมื่อถูกตัดวงเงินมาร์จิ้น นักเก็งกำไรมีอำนาจการซื้อลดลง ขณะที่รายย่อยส่วนหนึ่งเข็ดขยาดกับการเล่นหุ้นตัวเล็ก กลัวหมดเนื้อหมดตัวเหมือนนักเก็งกำไรที่หลงไปเป็นเหยื่อหุ้น MORE จึงพากันหันหลังให้หุ้นร้อน

วอลุ่มการซื้อขายหุ้นมีแนวโน้มจะหดวูบลง ตลาดหุ้นจะกลับสู่ความซบเซา และมูลค่าซื้อขายจะสะท้อนสถานการณ์ที่เป็นจริงมากขึ้น โดยเคาะซื้อขายกันวันละไม่กี่หมื่นล้านบาท

วอลุ่มซื้อขายที่พุ่งวันละเฉียด 1 แสนล้านบาท ไม่เพียงแต่สร้างความภาคภูมิใจให้ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ แต่ยังช่วยให้โบรกเกอร์ประมาณ 40 บริษัทพออยู่กันได้

ส่วนโบรกเกอร์รายใหญ่ที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุดในอันดับต้นๆ เบิกบานสำราญใจ เพราะกำไรงามๆ จากค่าต๋ง

แต่ถ้าวอลุ่มซื้อขายหุ้นหดเหลือ 3-4 หมื่นล้านบาทต่อวัน โบรกเกอร์เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะโบรกเกอร์ที่มีมูลค่าซื้อขายน้อย อยู่ในอันดับโบรกเกอร์ท้ายตารางมีโอกาสล้มตาย เพราะแบกต้นทุนไม่ไหว

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการเก็งกำไรที่เปลี่ยนไปหลังจากโศกนาฏกรรมหุ้น MORE จะช่วยให้นักลงทุนรายย่อยปลอดภัยขึ้น การเก็งกำไรอย่างบ้าคลั่งจะลดลง

หุ้นร้อนที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายปั่นจะถูกจำกัดวงเงินมาร์จิ้น นักลงทุนจะไม่เก็งกำไรเกินตัว หรือเกินวงเงินลงทุนที่มีอยู่

หุ้นปั่นที่เป็นตัวสร้างวอลุ่มให้โบรกเกอร์จะอยู่ในสภาพที่ตายซาก

วอลุ่มซื้อขายเมื่อวันศุกร์ที่ทรุดฮวบเหลือเพียง 3 หมื่นบ้านบาทเศษ โบรกเกอร์ทั้งใหญ่และเล็กมีเสียวแน่ และต้องเตรียมตัวรับมือด่วน

เพราะถ้าวอลุ่มยืนระยะ 3 หมื่นล้านบาทยาวนาน เตรียมเก็บศพโบรกเกอร์รายเล็กๆได้

นักลงทุนต้องระวังตัวเหมือนกัน เพราะหุ้นกำลังย้อนยุคสู่ความเงียบเหงาซบเซา และเกิดขึ้นมาแล้วในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา










กำลังโหลดความคิดเห็น