นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเก็บภาษีจากการขายหุ้นว่า ตลท.กำลังทำงานร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยเตรียมกระบวนการรองรับจัดเก็บภาษีขายหุ้นเพื่อให้มีภาระต้นทุนที่ต่ำ และมีประสิทธิภาพในการทำงานของทั้งอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ จะเตรียมข้อเสนอในรายละเอียดการจัดเก็บภาษีให้กระทรวงการคลัง เพื่อไม่ให้เกิดการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อนจากผู้ลงทุนในบางประเภทธุรกรรม ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะแจ้งข้อมูลความคืบหน้าให้ทราบต่อไป
ด้าน นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) มองว่าหากมีการเก็บภาษีขายหุ้น (Financial Transaction Tax) ในอัตรา 0.1% จริง จะกระทบต่อปริมาณการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องด้วยค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยของทั้งอุตสาหกรรมอยู่ที่ 0.11% การเก็บภาษี 0.1% เพิ่มเข้ามาจะทำให้นักลงทุนมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่คาดว่าจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 2-5 เท่าตัว และนักลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้นราว 60%
ด้านฝั่งบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ต้องดูว่าจะส่งผลกระทบแค่ไหน เนื่องด้วยหลายๆ ธุรกรรมไม่ได้มีการเก็บค่าธรรมเนียม เช่น Derivative Warrants (DW), Block trade เป็นต้น ซึ่งหากมีการเก็บภาษีขายหุ้นต้องรอดูรายละเอียดว่าจะครอบคลุมในส่วนนี้หรือไม่ หากมีการเก็บทั้งหมดจะเพิ่มต้นทุนให้บริษัทหลักทรัพย์
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การเก็บภาษีขายหุ้นยังเป็นเพียงขั้นตอนการรับหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเท่านั้น ยังต้องผ่านขั้นตอนของกฤษฎีกา ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่งถึงจะทราบชัดเจนว่าจะเก็บอย่างไร มีรูปแบบอย่างไร
ส่วนนายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่า การเก็บภาษีหุ้นกว่าจะเริ่มเก็บจริงคงราววันที่ 1 เม.ย.66 และเก็บภาษีปีแรกในอัตรา 0.55% ซึ่งตามผลการศึกษาของสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) คาดว่าจะมีผลกระทบต่อมูลค่าการซื้อขาย 20-30% หรือลดลงไม่เกิน 10% โดยการเก็บภาษีแบบขั้นบันไดจะทำให้นักลงทุนเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุนจากที่เทรดซื้อขายบ่อยอาจซื้อแล้วถือหุ้นขนาดกลางและใหญ่มากขึ้น และภาครัฐยังมีเวลาให้ปรับตัวกว่าจะเก็บอัตราสูงสุดที่ 0.11% ผลกระทบอาจไม่รุนแรงอย่างที่คาดไว้
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง คือ ธุรกิจหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ นักลงทุนรายใหญ่อาจขอต่อรองค่านายหน้า รวมถึงนักลงทุนที่ชอบหุ้นขนาดเล็ก ซึ่งปกติจะอาศัยสภาพคล่องในตลาดสูงๆ ถ้าสภาพคล่องน้อยลงจะทำให้ราคาไม่ค่อยเคลื่อนไหว ตลาด mai ที่เป็นตลาดหุ้นขนาดเล็ก อาจจะรับผลกระทบจากสภาพคล่องที่ลดลง นอกจากนั้น ยังเป็นอุปสรรคต่อสินค้าใหม่ บริษัทจดทะเบียนใหม่ และนักลงทุนใหม่ รวมถึงกระแสเงินทุนต่างชาติด้วย