xs
xsm
sm
md
lg

จบข่าว XPG / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ต้นปี 2564 หุ้นบริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XPG ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากบริษัท ซีมิโก้ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ ZMICO ผงาดขึ้นมาเป็นหุ้นดาวรุ่งพุ่งแรง หลังจาก นายระเฑียร ศรีมงคล เข้าซื้อหุ้นจำนวน 100 ล้านหุ้น จากนายสุเทพ วงศ์วรเศรษฐ

แต่ต้นปี 2565 XPG ตกอยู่ในสภาพนกปีกหัก ราคาหุ้นร่วงลงอย่างหนัก และทำให้นักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายย่อย สะบักสะบอมตามๆ กัน

ราคาหุ้น XPG เคยถูกลากขึ้นไปสูงสุดที่ 5 บาท หลังจากนายระเฑียร เข้าถือหุ้น และรั้งตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ก่อนออกหุ้นเพิ่มทุนขายให้พันธมิตร 3 กลุ่ม พร้อมประกาศรุกสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 XPG นำหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 1,035.33 ล้านหุ้น จัดสรรให้บุคคลในวงจำกัด 3 ราย ในราคาหุ้นละ 4.10 บาท ประกอบด้วย บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI จำนวน 403.37 ล้านหุ้น บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) จำนวน 268.91 ล้านหุ้น และนายมงคล ประกิตชัยวัฒนา จำนวน 363.04 ล้านหุ้น

หุ้น XPG อยู่ในสภาพตายซากมานาน แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้บริหารและโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยนายระเฑียร เข้าไปถือหุ้นใหญ่ นักลงทุนจึงแห่เข้าไปเก็งกำไร ทำให้ราคาหุ้นพุ่งทะยานขึ้นมาสูงสุดกว่า 11 บาท ก่อนจะมีการเพิ่มทุน นำหุ้นเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 50 สตางค์

และนำหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 1,035.33 ล้านหุ้น เสนอขายพันธมิตร 3 กลุ่ม พร้อมปรับนโยบายการดำเนินงาน โดยรุกสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

ชื่อของนายระเฑียร ขายได้ในตลาดหุ้น เพราะมีผลงานปั้นบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC จนผลประกอบการเติบโตต่อเนื่องหลายปี ขณะที่ราคาหุ้นพุ่งทะยานขึ้นประมาณ 2,000% ภายในเวลาประมาณ 7 ปี

ทำให้นายมงคล ประกิตชัยวัฒนา ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ของ KTC สัดส่วนประมาณ 16% ของทุนจดทะเบียน ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี กำไรจากหุ้น KTC ตัวเดียวกว่า 30,000 ล้านบาท จนนายมงคล เชื่อในฝีมือนายระเฑียร

เมื่อได้รับการชักชวนให้ร่วมลงทุนใน XPG จึงไม่ลังเล ทุ่มเงินกว่า 1 พันล้านบาท ซื้อหุ้นเพิ่มทุน XPG ในราคาหุ้นละ 4.10 บาท

แต่ราคาหุ้น XPG ไปไกลได้เพียง 5 บาทเท่านั้น ก่อนจะเริ่มโรยราลง เพราะการรุกธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ง่ายแล้ว เพราะบริษัทจดทะเบียนนับสิบรายประกาศลงสนามแข่งขันธุรกิจคริปโตเคอร์เรนซี โดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์

และบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ที่ประกาศจับมือกับ BINANCE ศึกษาจัดตั้งศูนย์ซื้อขายคริปโต

สถานการณ์ XPG ย่ำแย่ไปอีก เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมประกาศห้ามใช้คริปโตใช้ซื้อสินค้าและบริการ

การแข่งขันในธุรกิจนอนแบงก์รุนแรงขึ้น ขณะธุรกิจคริปโตเคอร์เรนซี คู่แข่งเจ้าใหญ่ประกาศลงสนาม ทำให้เส้นทางการเติบโตของ XPG ถูกจำกัด และหมดจุดขายในโลกการเงินยุคใหม่

ราคาหุ้น XPG เดินเข้าสู่ขาลงเต็มตัว เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ถูกถล่มขายจนทรุดลงมาปิดที่ 2.26 บาท และนักลงทุนที่เสียหายหนักคือ 3 พันธมิตรที่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคาหุ้นละ 4.10 บาท

เพราะขาดทุนกันแล้วหุ้นละ 1.84 บาท หรือขาดทุน 44.87% โดย SIRI ขาดทุนทางบัญชีจากการลงทุนในหุ้น XPG จำนวน 742.21 ล้านบาท บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ขาดทุน 667.99 ล้านบาท และนายมงคล ขาดทุน 636.64 ล้านบาท

ส่วนนักลงทุนรายย่อยที่ซื้อหุ้น XPG ตั้งแต่ประมาณกลางปี 2564 และยังไม่ขาย โดยใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ในราคา 50 สตางค์ เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา เจ็บตัวกันถ้วนหน้า ส่วนใครจะเจ็บมากหรือเจ็บน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนหุ้นที่ถือและต้นทุนที่ซื้อไว้

XPG จบข่าวดีแล้ว และกำลังกลับเข้าสู่ปัจจัยพื้นฐานที่เป็นจริง ราคาอยู่ในช่วงขาลงเต็มตัว โดยไม่อาจหยั่งได้ว่า ก้นเหวของหุ้นตัวนี้อยู่ที่ไหน








กำลังโหลดความคิดเห็น