xs
xsm
sm
md
lg

เคทีซีเปิด 2 โมเดลลุยธุรกิจปี 65 ลุ้นดันกำไรนิวไฮกว่า 6 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




เคทีซี พร้อมเดินเครื่อง หวังดันพอร์ตเกินแสนล้านบาท สร้างกำไรนิวไฮระลอกใหม่ หลังวิกฤตโควิด-19 ปักธง 2 โมเดลธุรกิจขับเคลื่อนอนาคต (New S Curve) บนเส้นทางใหม่ (New Voyage) 1.“MAAI By KTC” ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ให้บริการด้านลอยัลตีแพลตฟอร์มแบบครบวงจรแก่พันธมิตรธุรกิจ ในรูปแบบของโมบายแอปพลิเคชัน 2.“เคทีซี พี่เบิ้ม” ปรับเป้าสินเชื่อสิ้นปี 2565 ขึ้นเป็น 11,500 ล้านบาท โดยผนึกความร่วมมือผ่านเครือข่ายทั่วประเทศ “ธนาคารกรุงไทย” และกรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง รุกธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกันเต็มกำลัง รวมทั้งขยายฐานสมาชิกบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล พร้อมสร้างเครือข่ายร้านค้าไปยังกลุ่มพรีเมียมและไลฟ์สไตล์มากขึ้น ตอบโจทย์การใช้บัตรเครดิตที่ครอบคลุมทุกความต้องการของสมาชิก และขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนอย่างรับผิดชอบ

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTC) 
เปิดเผยว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น และมีการเปิดประเทศตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา ส่งผลให้เศรษฐกิจและการใช้จ่ายของผู้บริโภคมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีกับตลาดสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค และเป็นโอกาสที่จะผลักดันธุรกิจเคทีซีให้เติบโต และมีความเป็นไปได้ที่จะสร้างสถิติใหม่ของการทำกำไรสูงสุดมากกว่า 6 พันล้านบาท กับพอร์ตสินเชื่อที่เกินแสนล้านบาท ด้วย 2 โมเดลธุรกิจใหม่ที่เราตั้งใจสร้างขึ้นกับการออกเดินทางครั้งใหม่ เพื่อส่งความสุขเป็นของรับขวัญสมาชิก หลังผ่านความทุกข์จากวิกฤตโควิด-19 รวมทั้งการเดินหน้าธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล เพื่อขยายฐานสมาชิกกลุ่มใหม่และดูแลคุณภาพพอร์ตลูกหนี้ ตลอดจนคัดสรรสิทธิประโยชน์ที่ทรงคุณค่า ตอบสนองทุกความต้องการของสมาชิกกว่า 3.3 ล้านบัญชี

"2 โมเดลธุรกิจที่จะเป็นเรือธงขับเคลื่อนธุรกิจเคทีซีให้สามารถสร้าง New S Curve และมีรายได้เติบโตอย่างยั่งยืน คือ แพลตฟอร์ม “MAAI BY KTC” ซึ่งเป็นการต่อยอดจากความแข็งแกร่งของเคทีซีในการทำระบบคะแนนสะสม และความเชี่ยวชาญด้านการตลาดในการบริหารคะแนน KTC FOREVER ที่ตอบโจทย์และครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์"

ทั้งนี้ “MAAI BY KTC จะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่จากเคทีซีที่ให้บริการกับพันธมิตรธุรกิจที่มีความต้องการใช้ลอยัลตี แพลตฟอร์มแบบครบวงจร โดยมีโซลูชันที่สำคัญ คือ 1.ระบบบริหารจัดการสมาชิก 2.ระบบบริหารจัดการคะแนนในการทำ Loyalty Program โดยคะแนน MAAI POINT นี้ สามารถใช้เป็นคะแนนกลางในการแลกเปลี่ยนกับคะแนนอื่นๆ ในกลุ่มพันธมิตรบน MAAI Platform ได้ด้วย และ 3.ระบบบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ในรูปแบบคูปองอิเล็กทรอนิกส์ (e-Coupon Management) เพื่อให้การแลกคะแนนมีความหลากหลาย ตรงใจกลุ่มลูกค้าสมาชิก ไม่ว่าจะแลกเป็นอีคูปอง หรือแลกสินค้าได้ที่ร้านค้าพันธมิตรทั่วไป ครอบคลุมทุกหมวดการใช้จ่าย โดยจะเริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 และในเดือนมกราคม 2565 นี้ จะเปิดให้พนักงานเคทีซีได้ทดลองใช้ในช่วงเริ่มต้นกับ 16 ร้านค้า และจะขยายพันธมิตรร้านค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

"ที่มาของคำว่า MAAI (มาย) มาจากคำว่า MAK MAAI (มากมาย) หมายถึงสิทธิประโยชน์ที่มากมายกับร้านค้าพันธมิตรที่มากมาย และความสะดวกในการใช้ที่มากมาย อีกทั้งยังพ้องเสียงกับคำว่า Mine ที่ต้องการสื่อถึงสิทธิประโยชน์ที่เป็นของผู้ใช้และเพื่อผู้ใช้ (user) โดยสามารถดาวน์โหลดแอปเพื่อใช้งานผ่าน Apple Store, Play Store และ Huawei Store"

อีกหนึ่งโมเดลธุรกิจถัดมาคือ สินเชื่อมีหลักประกัน “เคทีซี พี่เบิ้ม” โดยเคทีซีจะเร่งขยายฐานสมาชิกต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้พอร์ตโตแบบก้าวกระโดดและบรรลุเป้าสินเชื่อที่ 11,500 ล้านบาทในปี 2565 เน้นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่แบบเชิงรุกผ่านบริการพี่เบิ้ม เดลิเวอรี โดยใช้ทีมขายของเคทีซีทั่วประเทศ ไปให้บริการสินเชื่อถึงบ้านของลูกค้า หรือสถานที่ที่ลูกค้าสะดวกด้วยความรวดเร็ว ผูกไปกับช่องทางของเครือข่ายธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศกว่า 900 สาขา และกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง (KTBL) 11 สาขา ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลัก และจะเน้นสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเปิดรับเป็นหลัก รวมทั้งสร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายครบทุกความต้องการของตลาด ไม่ว่าจะเป็นบัตรกดเงินสด “เคทีซี พี่เบิ้ม” พร้อมนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการสมัครและอนุมัติสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการมีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น และขยายวงเงินเพิ่มถึง 1 ล้านบาท อนุมัติใน 2 ชั่วโมง พร้อมรับเงินทันที

ด้านธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเคทีซีในปี 2565 จะมุ่งเน้นการเติบโตของพอร์ตลูกหนี้ที่มีคุณภาพดี ขยายกลุ่มเป้าหมายใหม่ ตลอดจนรักษาฐานสมาชิกปัจจุบัน และในปี 2565 จะใช้ความแข็งแกร่งของเครือข่ายพันธมิตรขยายไปยังร้านค้ากลุ่มพรีเมียมและไลฟ์สไตล์มากขึ้น เพื่อตอบรับความต้องการของกลุ่มสมาชิกระดับบนที่มีอยู่ และดึงดูดกลุ่มเป้าหมายใหม่เพิ่มขึ้น รวมทั้งจะพัฒนาบริการต่างๆ เพื่อให้สมาชิกบัตรได้รับความสุขจากการใช้งานผ่านแอป KTC Mobile หรือ KTC Phone รวมไปถึงบริการด้านการเดินทางท่องเที่ยวกับ “KTC World Travel Service” และการซื้อสินค้าบนอีมาร์เก็ตเพลซ “KTC UShop” โดยคาดว่ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2565 จะเติบโต 10% จากปี 2564 หรือประมาณ 220,000 ล้านบาท

ขณะที่กลยุทธ์ของธุรกิจสินเชื่อบุคคลจะมุ่งขยายฐานสมาชิกใหม่ในกลุ่มที่มีศักยภาพ ด้วยการนำเสนอสินเชื่อบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” (KTC PROUD) กับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ประจำและมีฐานรายได้สูงขึ้น ด้วยแคมเปญแบ่งเบาภาระสมาชิก ลดดอกเบี้ยเหลือเพียง 0.93% ต่อเดือน และเพิ่มเวลาผ่อนให้นานถึง 60 งวด นอกจากนี้ ในปี 2565 คนไทยจะได้รับความสะดวกขึ้นไปอีกขั้นกับการสมัครขอสินเชื่อออนไลน์ได้ด้วยตนเองผ่านโมบาย แอปพลิเคชัน ในรูปแบบของใบสมัครออนไลน์ผ่านระบบยืนยันตัวตนแบบดิจิทัลหรือ E-KYC โดยปัจจุบันมีฐานสมาชิกสินเชื่อบุคคลปัจจุบันกว่า 7 แสนราย และคาดว่ายอดลูกหนี้ในปี 2565 จะเติบโต 7% จากปี 2564

และในส่วนของกลยุทธ์การขยายฐานสมาชิก ในปีนี้จะใช้จุดแข็งของแต่ละผลิตภัณฑ์เป็นจุดขาย ผนวกเข้ากับจุดแข็งของช่องทางการจัดจำหน่าย ผ่านธนาคารกรุงไทยเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ โดยคาดว่าความต้องการสินเชื่อบุคคลในปีนี้จะมีความต้องการสูง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเพิ่งเริ่มฟื้นตัว แต่เป็นความท้าทายที่เคทีซีจะต้องกลั่นกรองความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อท่ามกลางสภาวะทางเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบาง โดยตั้งเป้าปี 2565 เพิ่มสมาชิกใหม่บัตรเครดิตไม่ต่ำกว่า 250,000 ราย และเคทีซี พราว ไม่ต่ำกว่า 100,000 ราย

“การบริหารการเงินให้มีประสิทธิภาพเป็นหัวใจหลักอีกเรื่องในการทำธุรกิจ บริษัทฯ จะมุ่งบริหารต้นทุนทางการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้เป็นสำคัญ โดยจะเพิ่มสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นมากขึ้น และคาดว่าสิ้นปี 2565 จะมีสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นต่อเงินกู้ยืมระยะยาว (Original Term) อยู่ที่ 20:80 และต้นทุนการเงินจะใกล้เคียงกับปี 2564 ที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี ทั้งนี้ จะมีการระดมเงินกู้ยืมระยะยาวในจำนวนไม่เกิน 12,000 ล้านบาท เพื่อรองรับหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2565 จำนวน 9,500 ล้านบาท และสนับสนุนการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อเคทีซี อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจยังเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อทิศทางของดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ การประกาศปรับลดวงเงินคิวอี การคาดการณ์ขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และความสามารถในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ”
กำลังโหลดความคิดเห็น