xs
xsm
sm
md
lg

D-Ticket เรื่องวุ่นๆ ของแอปฯ จองตั๋วรถไฟ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เพิ่งมีโอกาสได้ใช้บริการแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า D-Ticket ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยนำมาให้บริการแทนระบบ STARS-2 ที่ใช้กันมานานถึง 20 ปี

อันที่จริงระบบ D–Ticket ทดลองให้บริการผ่านเว็บไซต์ไปเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ก่อนที่จะพัฒนาแอปพลิเคชัน เปิดให้ดาวน์โหลดเมื่อเดือนเมษายน 2564 ปัจจุบันมีผู้ดาวน์โหลดมากกว่า 1 หมื่นคน

ระบบนี้พัฒนาโดย บริษัท แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ที่ชนะการประมูลโครงการจ้างพัฒนาระบบการจำหน่ายตั๋วโดยสาร และสำรองที่นั่ง (D – Ticket) ลงนามสัญญาไปเมื่อ 23 ธันวาคม 2562

ปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทย ให้บริการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางรถไฟ มีเส้นทางรถไฟรวมกันทั้งหมด 4,507 กิโลเมตร มีสถานีให้บริการทั้งหมด 444 สถานี ใน 47 จังหวัดทั่วประเทศ

ตอนที่แอปพลิเคชันออกมาใหม่ๆ เคยถามนายสถานีรถไฟที่รู้จักกัน เล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมามีคนที่พิมพ์ตั๋วด้วยกระดาษ A4 มาสอบถาม ยืนยันว่าสามารถใช้เป็นหลักฐานขึ้นรถไฟได้เลยโดยไม่ต้องออกตั๋วตัวจริงที่สถานี

แต่เคสซื้อตั๋วผ่านแอปพลิเคชันยังไม่เคยเจอ โดยปกติพนักงานตรวจตั๋วจะมีรายชื่อผู้โดยสารอยู่ในมือแล้ว เห็นว่าสามารถแสดงหลักฐานจากหน้าจอมือถือ แทนตั๋วรถไฟแบบกระดาษได้

ก่อนหน้านี้เคยดาวน์โหลดและสมัครไว้นานแล้ว แต่มานึกออกก็ตอนที่ไปสวนนงนุชเมื่อปีที่แล้ว ซื้อตั๋วเฉพาะขาไป แต่ขากลับลืมซื้อ เลยได้ใช้งานอย่างจริงจัง พบว่าจ่ายผ่านบัตรเครดิตได้ ก็เลยซื้อตั๋วผ่านแอปพลิเคชันเป็นอันสำเร็จ

ปรากฏว่าตอนที่จะขึ้นรถไฟ คุยกับพนักงานตรวจตั๋วรถไฟว่า ซื้อตั๋วผ่านแอปพลิเคชันไปแล้ว นำหน้าจอมาแสดงได้ไหม พนักงานแจ้งว่าอนุโลมให้ แต่แนะนำว่าให้พิมพ์ตั๋วรถไฟเป็นกระดาษ แล้วนำมาแสดงจะดีกว่า

เขาอธิบายว่า ปกติแล้วเวลาซื้อตั๋วรถไฟ ถ้าเอาหน้าจอมือถือมาแสดงนั้นอนุโลมให้ แต่จะประสบปัญหาหากเกิดอุบัติเหตุ เวลาเอาตั๋วไปแสดง หากมือถือพัง ข้อมูลสูญหายก็เคลมไม่ได้

พอขากลับจากสวนนงนุช นำไฟล์ PDF มาแสดง พอพนักงานเช็กชื่อและที่นั่ง ก็ผ่านได้ตามปกติ

ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ระหว่างค้างแรมที่โคราช จ.นครราชสีมา จะไปต่อที่ จ.บุรีรัมย์ ก็จองตั๋วรถไฟผ่านแอปพลิเคชัน เพราะกลัวที่นั่งเต็ม เนื่องจากเส้นทางจากโคราช จะไปแถบอีสานใต้ ถ้าไปทางรถไฟจะเร็วกว่ารถทัวร์


เช้าวันรุ่งขึ้นไปที่สถานีรถไฟ เพราะคิดว่าน่าจะพิมพ์ตั๋วออกมาได้ ถามไปว่า ขอพิมพ์ตั๋วได้ไหม ปรากฏว่าพนักงานบอกว่ามีไฟล์ PDF ไหม ตอบว่ามี เสียเวลาเปิดอีเมลออกมา พนักงานแจ้งว่าให้แคปหน้าจอออกมาแสดงได้เลย

แต่วันนั้นมีเวลาไปกินกาแฟที่ร้าน CLASS CAFÉ แถววัดบูรพ์ มีเครื่องปริ้นเตอร์ Double A Fastprint ที่สั่งพิมพ์เอกสารผ่านมือถือได้ เลยถือโอกาสพิมพ์ตั๋วออกมา วันนั้นเลยใช้ตั๋วรถไฟที่พิมพ์จากกระดาษ A4 มาแสดงแทน

อีกวันหนึ่ง ระหว่างออกจาก จ.ศรีสะเกษ จะไปยัง จ.บุรีรัมย์ เพื่อไปเที่ยวต่อ จองตั๋วรถไฟผ่านแอปพลิเคชัน เพราะกลัวที่นั่งเต็ม เนื่องจากเป็นวันหยุดวันสุดท้าย ก่อนวันทำงานในเช้าวันรุ่งขึ้น

พอไปที่สถานีรถไฟ ปรากฏว่า ที่นี่ไม่มีพิมพ์ตั๋ว ต้องพิมพ์ตั๋วออกมาเอง ตอนนั้นประมาณ 6 โมงเช้าเศษ ไม่มีร้านค้าไหนเปิดนอกจากตลาดสด แต่ด้วยความที่พนักงานที่โคราช บอกว่าแคปหน้าจอไฟล์ PDF ได้ เลยลองทำดู

ปรากฏว่าเมื่อพนักงานตรวจตั๋วรถไฟขึ้นมา เราแสดงหน้าจอไฟล์ PDF ที่แคปเอาไว้ พนักงานถามว่า ในตั๋วระบุว่าคันที่เท่าไหร่ พอเราบอกไปอย่างถูกต้อง ก็ไม่ได้ตรวจอะไรอีก

พอมานึกย้อนตอนที่ไปสวนนงนุช ก็เลยรู้สึกงงกับมาตรฐานของพนักงานแต่ละคน


สำหรับหลักการจองตั๋วรถไฟผ่านระบบ D-Ticket นั้น เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแล้วสมัครสมาชิก โดยใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือ หลังสมัครแล้วต้องยืนยันตัวตนผ่านอีเมลอีกครั้ง จึงจะสามารถใช้งานได้

ระบบ D-Ticket สามารถจองและซื้อตั๋วรถไฟได้สูงสุด 10 ที่นั่งต่อครั้ง เฉพาะขบวนรถบริการเชิงพาณิชย์ ได้แก่ รถเร็ว รถด่วน รถด่วนพิเศษ ส่วนรถธรรมดาจองไม่ได้ และถ้ามีราคาอัตราพิเศษ ห้ามขายก่อนรถออก 2 ชั่วโมง

วิธีชำระเงิน สะดวกที่สุดคือชำระเงินผ่านบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต ใช้ Payment Gateway ของธนาคารกรุงไทย เมื่อชำระเงินเสร็จเรียบร้อย ระบบจะส่งตั๋วรถไฟให้ทางอีเมลที่สมัครสมาชิกเอาไว้

ส่วนคนที่จองและชำระเงินผ่านช่องทางอื่นๆ สามารถชำระเงินได้ที่สถานีรถไฟทุกแห่ง โดยรหัสชำระเงินมีอายุ 24 ชั่วโมง หากไม่ชำระ ระบบจะยกเลิกการจองโดยอัตโนมัติ


ปัญหาก็คือ แม้ระบบจะมีเมนู “ตั๋วของฉัน” ก็ตาม แต่ก็มีเพียงแค่ QR CODE ที่ใช้กับแอปพลิเคชันของพนักงานตรวจตั๋วรถไฟเท่านั้น ไม่ได้ระบุข้อมูลผู้โดยสารใดๆ นอกจากต้องดูที่เมนู “ประวัติการซื้อ” เท่านั้น

คำแนะนำสำหรับคนที่จะดาวน์โหลดแอปพลิเคชันก็คือ คนที่สมัครสมาชิกผ่านแอปพลิเคชัน ระบบจะไม่ได้กรอกข้อมูลส่วนตัวให้นอกจากชื่อ นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ และอีเมล

พอจะเปลี่ยนอีเมลเพื่อใช้รับตั๋วรถไฟแบบ PDF ปรากฏว่าแก้ไขไม่ได้ กดปุ่มยืนยันยังไงก็ไม่ตอบสนอง ถึงบางอ้อ เพราะเข้าสู่ระบบผ่านเว็บไซต์ ปรากฏว่าที่แก้ไขข้อมูลไม่ได้เพราะข้อมูลไม่ครบ ต้องกรอกให้ครบถึงจะแก้ไขข้อมูลได้

อย่างต่อมา คือ เมื่อจองตั๋วรถไฟและชำระเงินผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ระบบจะส่งตั๋วรถไฟแบบ PDF ทางอีเมล แนะนำให้ใช้อีเมลที่ส่งตรงเข้าเครื่องมือถือได้เลย จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเข้าสู่ระบบอีเมลเพื่อดาวน์โหลด

ส่วนคนที่ไม่มีบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต สามารถออกบัตรเสมือนที่เรียกว่า Virtual Card ผ่านแอปพลิเคชันธนาคารหรืออี-วอลเล็ต เพื่อใช้แทนบัตรพลาสติกได้เช่นกัน อย่าลืมเปิด-ปิดบัตรเพื่อความปลอดภัยด้วย

สิ่งที่อยากจะเสนอเผื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาอ่านก็คือ ประการแรก เวลาเข้าสู่แอปพลิเคชันทุกครั้ง ต้องกรอกอีเมลหรือเบอร์มือถือ กับรหัสผ่านทุกครั้ง ซึ่งยุ่งยากมากโดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน

น่าจะให้เข้าสู่ระบบโดย Passcode จำนวน 6 หลัก หรือไม่ก็ Touch ID ผ่านลายนิ้วมือ, Face ID ผ่านสแกนใบหน้า แบบเดียวกับแอปพลิเคชันธนาคาร จะเข้าสู่ระบบง่ายกว่านี้

ประการต่อมา D-Ticket ในแอปพลิเคชัน น่าจะระบุข้อมูลที่หน้าตั๋ว มากกว่าแค่คิวอาร์โค้ด ถ้าไม่รู้ว่าจะดูตัวอย่างได้จากตรงไหน ให้ดูตั๋วเครื่องบินที่ Apple Wallet ในไอโฟนก็ได้

ข้อมูลที่ระบุบนหน้าตั๋ว อาจจะเป็นชื่อ นามสกุลผู้โดยสาร วันที่ เลขขบวน ต้นทาง ปลายทาง เวลารถออก เวลาถึง คันที่ แถวที่นั่ง ถ้าจะให้ดีหากเป็นระบบ iOS สามารถบันทึกลงใน Apple Wallet ได้ด้วยก็ดี

อีกประการหนึ่ง การชำระเงินค่าตั๋วรถไฟ น่าจะมีระบบชำระผ่านพร้อมเพย์คิวอาร์โค้ด (PromptPay QR Code) หรือระบบ “เตือนเพื่อจ่าย” (Pay Alert) นอกเหนือจากบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต เพื่อความสะดวก

เมื่อซื้อตั๋วรถไฟผ่านแอปพลิเคชันเสร็จแล้ว คนที่เขาต้องการตั๋วตัวจริง น่าจะสามารถพิมพ์ตั๋วรถไฟตัวจริง ที่สถานีรถไฟใกล้บ้านได้ มากกว่าให้พิมพ์ตั๋วเป็นกระดาษ A4 เพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องที่ดีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ผลักดันระบบ D-Ticket และแอปพลิเคชัน ที่ตอนนี้คนใช้บริการรถไฟ เริ่มดาวน์โหลดติดเครื่องและใช้งานกันบ้างแล้ว อยากให้พัฒนาแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ

เชื่อว่านอกจากการพัฒนาเส้นทางรถไฟใหม่ การปรับปรุงทางรถไฟให้อย่างน้อยๆ เป็นรถไฟทางคู่แล้ว การนำเทคโนโลยีมาใช้ก็ทำให้ผู้โดยสารสะดวกสบาย จูงใจให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการรถไฟในการเดินทางมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น