ส่องสีสัน “OR” น้องใหม่ค่าย ปตท.เข้าเทรดวันแรก ราคาพุ่ง 62.5% รายย่อยยิ้มรับแต๊ะเอียตรุษจีน หลังรวมพลกอดหุ้นแน่น แถมเข้าเก็บต่อเนื่อง จากดีมานต์ที่สูงเกินคาดจนราคาทะลุ 29.25 บาท พร้อมวาดฝันปรับตัวขึ้นต่อ จากเม็ดเงินกองทุนและต่างชาติที่เข้ามาไล่สะสม
แรงสวนตลาด! สมกับการรอคอยสำหรับการเข้าซื้อขายครั้งแรกของหุ้นบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของสัปดาห์ก่อนหยุดรับเทศกาลตรุษจีน นั่นเพราะขณะที่ดัชนีหลักทรัพย์ปิดตลาดที่ระดับ 1,508.35 จุด ลดลง 8.59 จุด หรือ -0.57% มูลค่าการซื้อขาย 1.06 แสนล้านบาท แต่เกือบ 50% ของวอลุ่มซื้อขายกลับเป็นการเข้าซื้อขายในหุ้น OR ซึ่งเป็นหุ้นน้องใหม่ของกลุ่มปตท. หรือประมาณ 4.73 หมื่นล้านบาท จนราคาหุ้นปิดที่ระดับ 29.25 บาท/หุ้น เพิ่มขึ้น 11.25 บาท หรือเพิ่มขึ้น 62.5% เนื่องจากการซื้อขายวันแรกจะไม่มีการคิดคำนวณในมาร์เก็ตแคป
นั่นเพราะความต้องการเข้าถือครองหุ้นOR สะสมไว้ในพอร์ตของนักลงทุนนั้นอยู่ในระดับสูง เนื่องจากนักลงทุนต่างเชื่อว่าธุรกิจของบริษัทมีความมั่นคง และมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก จนนักลงทุนหลายรายเริ่มมองไกลว่าในอนาคตราคาของOR จะไม่น้อยหน้าราคาหุ้น บมจ.ปตท.(PTT) ซึ่งเป็นบริษัทแม่
ดังนั้น เมื่อมีใครสักคนที่ปล่อยขายหุ้นทำกำไรในวันแรก ก็จะมีแรงซื้อเข้ามารับหุ้นOR ทันที เพราะมีนักลงทุน จำนวนมากที่พลาดหวังจากการได้สิทธิจองซื้อหุ้นOR ในราคาIPO ที่ระดับ 18.00 บาท/หุ้น และเชื่อกันว่าราคาหุ้นยังไปได้ อีกไกล จึงเข้ามาสะสมหุ้น OR บนกระดานซื้อขายเพื่อรับโอกาสในอนาคต
ต้องยอมรับว่าการเข้าซื้อขายในกระดานหุ้นวันแรกของ OR นั้นมีสีสันไม่น้อยไปกว่าราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นถึง 11.25 บาท นั่นเพราะก่อนหน้านี้ในตลาดมีมุมมองที่สวนทางกันหรือแตกต่างกันไปในหลายมุม สำหรับการเข้าเทรดวันแรกของหุ้นน้องใหม่แห่งค่ายปตท. เริ่มด้วยฝ่ายหนึ่งมองว่าภาวะตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวยจากสถานสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ในประเทศที่ยังไม่มีท่าทียุติ อีกมุมมองหนึ่งก็เชื่อว่าราคาIPO ที่เปิดขายนั้นสูงเกินไปสำหรับหุ้นตัวนี้ ดังนั้นราคาน่าจะปรับตัวเพิ่มได้ไม่มาก จนถึงขั้น “เต็มมูลค่า” ฯลฯ
แต่อีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ บางส่วนมองว่านี่คือเกมส์ของรายใหญ่ที่ต้องการเก็บหุ้นชั้นดีไว้ใน พอร์ต ดังนั้น การนำเสนอมุมมองว่าราคาหุ้นใกล้เต็มมูลค่า โอกาสการเติบโตทางธุรกิจเหลืออยู่เพียงเล็กน้อย เพียงเพื่อลดความน่าสนใจของนักลงทุนรายย่อย และสะดวกโยธินต่อการเข้าสะสม แต่ด้วยความรู้ด้านลงทุนในโลกปัจจุบันที่เปิดกว้างและเข้าถึงได้มากกว่าในอดีต จึงมีนักลงทุนอีกกลุ่มเชื่อมั่นในศักยภาพทางธุรกิจของบริษัท และมองเห็นโอกาสในการเติบโตของทั้งธุรกิจหลักและธุรกิจเสริม ดังนั้นการเข้าถือหุ้น OR ในราคาช่วงนี้ จึงเป็นการลงทุนระยะยาวเพื่ออนาคต
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนำไปสู่ปรากฎการณ์ GameStop สไตล์ไทยแลนด์ เพราะมีการตั้งกลุ่มทางโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค “ รวมพลคนถือหุ้น OR” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกลุ่มล่าสุดร่วม 2 หมื่นราย ด้วยวัตถุประสงค์เข้าถือหุ้นระยะยาว ไม่หวั่นแม้ราคาหุ้น อาจปรับตัวลง เพื่อสู้กับเจ้ามือ โดยในกลุ่มจะเป็นการพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารของ OR หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ที่ถือหุ้นมองเห็นโอกาสคว้าผลตอบแทนในระดับสูงจากกรเข้าซื้อขายของหุ้น OR ซึ่งท้ายที่สุดวันแรกก็สามารถให้ผลตอบแทนสูงถึง 62.5%
ขณะเดียวกันจากการซื้อขายวันแรกของ OR แล้วเสร็จ พบว่าความคิดเห็นบนโลกโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค มีการถามหาผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญ ที่เรียกกันว่า “กูรู” อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะมุมมองของฝ่ายที่เคยเสนอแนะว่าราคาหุ้นใกล้เต็มมูลค่า ไปได้ไม่ไกล นั่นเพราะจากราคาที่ปิด 29.25 บาท/หุ้นนั้น ถือว่ามาไกลเกินกว่าที่ใครต่อใครวางเป้าหมายไว้ เรียกได้ว่าเป็นอารมณ์สะใจเล็กๆ ของรายย่อยที่มีหุ้น OR อยู่ในพอร์ตและตัดสินใจไม่ปล่อยหุ้นออกจากมือ ขณะที่ผู้จะเข้ามาเก็บเกี่ยวหุ้นในช่วงต่อจากนี้ คงต้องยอมรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนส่วนมากเชื่อว่าท้ายที่สุด กลุ่มสถาบันและกองทุนจะเป็นผู้เข้ามาสะสมหุ้น OR เป็นจำนวนมากเช่นเดิม เพียงแต่คราวนี้ต้นทุนที่ใช้อาจไม่ใช่ดังที่ตั้งเป้าหมายไว้ นั่นเพราะรายย่อยรวมใจเลือกที่จะกอดหุ้นไว้ในพอร์ตมากกว่าปล่อยขายทำกำไร พร้อมคาดหวังราคาหุ้นในวันต่อๆไปจะยังปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าปิดตลาดวันแรก และสูงสุดของแรงคาดหวัง คือราคาไม่น้อยหน้าหุ้นแม่อย่าง PTT
นอกจากนี้โดยรวมหลายต่อหลายคนเชื่อว่า การปล่อยขายหุ้นOR ในวันแรกส่วนใหญ่เกิดจากหุ้นในมือของ สถาบันหรือบรรดากองทุนต่างๆ เพื่อทำกำไรจากราคา IPO และกลับเข้ามาเก็บหุ้นในราคาที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพียงแต่ทุกอย่างต้องพลิกล็อกเมื่อแรงเทขายที่ปล่อยหุ้นออกมา กลับไม่สามารถกดดันให้ราคาหุ้นลดต่ำลงได้ เมื่อเจอกับแรงซื้อของรายย่อยที่ต้องการเป็นเจ้าของ OR ซึ่งมีมากล้นเหลือ ดังนั้นการจะเอาหุ้น OR กลับคืน หรือสะสมหุ้นเข้าพอร์ตตามสัดส่วนที่ตั้งเป้าหมายไว้ จึงมีราคาที่ต้องจ่ายมากขึ้น
โดยรวมการเข้าจดทะเบียนของ OR ถือว่าสร้างประวัติศาสตร์ให้กับตลาดทุนไทย คือ 1.เป็นหุ้น IPO ที่มีระยะ เวลาเปิดให้จองซื้อหุ้นนานที่สุด 10 วัน 2.ผู้ลงทุนรายย่อยจองซื้อหุ้นมากที่สุด และ 3.มูลค่าระดมทุนสูงสุดเป็นอันดับ 2 ที่ 4.69 หมื่นล้านบาท (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน)
และด้วยบริษัท เน้นการบริหารจัดการต้นทุนให้ลดลง เพื่อส่งผลให้รายได้และกำไรเติบโตต่อเนื่อง จึงทำให้หุ้น OR ถูกยกให้เป็นหุ้นที่มีการเติบโต (Growth Stock) และยังเป็นหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลสูง (DividendStock) เพราะมีนโยบายการจ่ายเงินปันผล ไม่น้อยกว่า 30% ของกำไรสุทธิหลังหักสำรองตามที่กฎหมายและข้อบังคับของบริษัท และกำหนดจ่ายปีละ 2 ครั้งสิ่งที่น่าสนใจสำหรับ OR ต่อจากนี้คือ การซื้อขายในวันต่อๆไปจากนี้ ดีมานต์ความต้องการหุ้นจะสร้างแรงซื้อจนราคาหุ้นทะยานต่อเนื่องได้หรือไม่?
และคำตอบของเรื่องดังกล่าว เหมือนถูกเขียนเป็นบทภาพยนตร์อยู่แล้ว เพราะแค่วันแรกที่เข้าเทรดก็มีข่าวออกมาว่า OR มีโอกาสที่จะเข้าคำนวณดัชนีในดัชนี SET50 และ SET100 ด้วยเกณฑ์ Fast-track ภายใน 3 วันทำการนับจากวันที่เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะเป็นวันที่ 17 ก.พ. 2564 และมีโอกาสเข้าคำนวณดัชนีระดับโลก (FTSE) ประมาณวันที่22-23 ก.พ. และเข้า MSCI ในเดือนมี.ค. 2563 ซึ่งจะทำให้มีกองทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในหุ้น OR เพิ่มขึ้น เพราะต้องลงทุนตามน้ำหนักในดัชนีดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ OR กำลังสร้างความสุขให้กับผู้ถือหุ้น ก็ยังมีนักลงทุนบางส่วนกำลังกังวล เนื่องจากแม้จอง ซื้อหุ้น OR ได้ แต่ยังไม่ได้รับหุ้นเข้ามาสู่บัญชีหลักทรัพย์ของตนมากกว่า 1,000 ราย เนื่องจากกรอกข้อมูลไม่ครบถ้วน หรือ ไม่ถูกต้อง และกำลังรอการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ทำให้พอสรุปได้ว่า ราคาหุ้น OR ยังมีโอกาสที่จะไปต่อ โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้การเปลี่ยนแปลงของราคาขึ้นอยู่กับอารมณ์ในการซื้อขายที่มีอยู่สูง และด้วยการกระจายหุ้นในรอบนี้ โควต้าหรือสัดส่วนของสถาบันและนักลงทุนต่างประเทศนั้นน้อยมาก ขณะที่ OR คือบริษัทลูกของ ปตท. ซึ่งที่ผ่านมาได้ บริษัทลูกของ PTT ล้วนมีศักยภาพ จึงได้รับการตอบรับที่ดี จากนักลงทุนสถาบันและต่างประเทศทุกครั้ง นั่นหมายถึง เราจะได้เห็นการเข้ามาทยอยสะสมหุ้น OR ของกองทุน และนักลงทุนต่างประเทศเพื่อให้ได้สัดส่วนที่ต้องการเป็นที่แน่ชัด
สอดคล้องกับรายงานล่าสุดที่เปิดเผยว่า MSCI ประกาศนำ OR เข้าเข้าคำนวณในดัชนี MSCI Global Standard นั่นยิ่งกระตุ้นให้รายใหญ่เพิ่มน้ำหนักต่อหุ้น OR มากขึ้น แม้ปัจจุบันราคาหุ้นที่ระดับ 29.25 บาท จะทำให้ P/E ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 30-40 เท่า จนมีนักลงทุนบางส่วนมองว่าเกินพอดีก็ตาม
ไม่เพียงเท่านี้ ราคาที่เพิ่มขึ้นของ OR ยังมาจากแรงคาดหวังต่อผลประกอบการ ซึ่งเชื่อกันว่าอาจได้เห็นกำไรในปี นี้ของบริษัทอยู่ในระดับ 1 หมื่นล้านบาท จากก่อนหน้าทำได้ระดับ 8-9 พันล้านบาท แม้ค่า P/E หากเทียบกับผู้ประกอบในธุรกิจที่ใกล้เคียงกันโดยเฉพาะธุรกิจน้ำมันที่อยู่ระดับ 10 เท่า ซึ่งถือว่า OR นั้นอยู่สูงสุดของกลุ่ม แต่หากเทียบกับกลุ่มธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ในประเทศพบว่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน
ดังนั้น ภาพรวมราคาหุ้น OR ตอนนี้อยู่ในลักษณะตึงตัว แต่มีโอกาสไปต่อจากความต้องการของรายใหญ่ที่มีอยู่อีกมาก โดยเฉพาะกองทุนและนักลงทุนต่างประเทศ เพราะถือว่าราคาปัจจุบันยังไม่แพงเกินไปจนไม่สามารถจับต้องได้ และที่ผ่านมาเคยมีตัวอย่างบริษัทขนาดใหญ่บางแห่ง แรกเริ่มกระจายสัดส่วนให้นักลงทุนรายย่อยมากกว่าสถาบัน แต่ท้ายที่สุดสัดส่วนดังกล่าวก็เปลี่ยนแปลงกลับไปเป็นสถาบันและนักลงทุนต่างประเทศเข้าถือหุ้นในสัดส่วนที่มากกว่ารายย่อย เพียงแต่ต้องใช้ระยะเวลาในการเข้าสะสม
จึงเป็นที่มาของคำเตือนที่เริ่มออกมาเสนอแนะผู้ถือหุ้น OR ว่าหากเมื่อใดที่ขายทำกำไรจากส่วนต่างของราคาแล้ว หากต้องการกลับเข้ามาถือหุ้น OR รอบที่สอง อาจจำเป็นต้องใช้ทุนที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่า การซื้อขายในรอบใหม่เป็นการซื้อขายบนยอดภูเขาน้ำแข็งที่อาจถูกกดดันมากกว่าเดิม
ส่วนโอกาสที่ราคาหุ้น OR จะลดลงจนต่ำกว่าราคา IPO ที่ระดับ 18.00 บาทต่อหุ้น หลายฝ่ายเห็นสอดคล้องกันว่ามีความเป็นไปได้น้อยมากในช่วงเวลานี้ เนื่องจากดีมานต์ความต้องการสะสมหุ้นของนักลงทุนทุกกลุ่มยังอยู่ในระดับสูงกว่าปริมาณหุ้นที่ซื้อขายบนกระดาน อีกทั้งด้วย ปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจที่มีศักยภาพของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นทำเลที่ตั้ง โอกาสเติบโตทางธุรกิจ รวมถึงศักยภาพทางการเงินของบริษัทที่อยู่ในระดับสูง ล้วนช่วยการันตีการปรับตัวลดลงของราคาหุ้น OR ในช่วงนี้เป็นไปได้ยาก
ล่าสุด ผู้จัดการกองทุน เริ่มแสดงความเห็นต่อราคาหุ้น OR ในปัจจุบันว่า OR เป็นหุ้นที่น่าสนใจและเชื่อว่าน่าจะมีโอกาสขยับขึ้นไปได้อีก หากประเมินภาพธุรกิจระยะยาวซึ่งมีโอกาสที่จะเติบโตได้ปีละ 10-15% จากธุรกิจค้าปลีก Non-Oil เป็นหลัก เช่น กลุ่มธุรกิจกาแฟ โดยคาดว่ากองทุนส่วนใหญ่ต้องการถือหุ้นOR ประมาณ 1.2% ซึ่งจะเป็นการเข้ามาเก็บในระยะยาว ทำให้โอกาสเกิดการไล่ราคาเป็นไปได้น้อย
สำหรับทิศทางธุรกิจ นักวิเคราะห์ต่างเชื่อว่า ด้านปัจจัยพื้นฐานพบว่า หุ้น OR มีแนวโน้มการเติบโตในช่วง 3 ปี ข้างหน้า 2564-2566 โดยจะมีการเติบโตในระดับ 30%, 14% และ 15% จากการขยายสถานีให้บริการน้ำมัน และการเปิดสาขาร้านคาเฟ่อเมซอน รวมถึงยังมีร้าน 7-Eleven ในสถานีบริการน้ำมัน และร้านสะดวกซื้อแบรนด์ "จิฟฟี่" ในสถานีน้ำมัน นอกจากนี้ในปี 2564 คาดว่า ผลประกอบการของบริษัทจะฟื้นตัวตามราคาน้ำมันที่ดีขึ้น รวมถึงการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องทั้งสถานีให้บริการน้ำมันและร้านคาเฟ่อเมซอน
นั่นเพราะจุดแข็งของ OR คือการมีสถานีให้บริการน้ำมัน ที่มีมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 รวมถึงร้านค้าปลีกในสถานี น้ำมันก็เป็นอันดับ 1 และร้านอเมซอน ที่มีมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 ขณะที่เมื่อพิจารณาช่วง 5 ปี คาดการณ์ว่ายอดขายร้าน 7- Eleven ในสถานีบริการน้ำมันจะมีการเติบโต 7.2% เมื่อเทียบกับร้านที่อยู่นอกสถานีบริการน้ำมัน จะมียอดขายเติบโตเพียง 3% ส่วนร้านค้าปลีกในสถานีบริการน้ำมัน เติบโต 11% นอกสถานีบริการเติบโต 9%
ทำให้ในปี 2564 คาดว่าผลประกอบการจะกลับมาฟื้นตัว หรือมีกำไร 1.2 หมื่นล้านบาท เติบโต 34.6% จากปีก่อน ซึ่งเป็นการฟื้นตัวในทุกกลุ่มธุรกิจ และเชื่อว่าจะสามารถเติบโตในระยะยาวได้จากการมีเครือข่ายที่ใหญ่ขึ้น และมีกำไรจากธุรกิจค้าปลีกที่ขยายตัวเพิ่มทั้งในประเทศและต่างประเทศ
สิ่งที่ต้องติดตามต่อสำหรับ OR นั่นคือ เงินที่ได้จากการระดมทุนราว 5.4 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะนำมาใช้ขยาย ทุกกลุ่มธุรกิจของ OR ตามแผนกลยุทธ์ในปี 2564-2568 โดยเป้าหมายหลักจะเพิ่มสถานีบริการน้ำมันสู่ระดับ 2.5 พันสถานี และร้านคาเฟ่อเมซอน สู่ 5.2 พันสาขา ภายในปี 2568 จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 2 พันสถานี และ 3.2 พันสาขา ตามลำดับ รวมถึงการลงทุนในต่างประเทศ
และสิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่านั่นคือ “การตัดสินใจ”ของนักลงทุนรายย่อย เพราะเมื่อเวลานี้ยังมีโอกาสในการทำกำไร จากราคาหุ้น OR ที่อยู่ในระดับสูงจะเดินไปในทิศทางใดต่อไป ไม่ว่าจะเลือกทำกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้นที่สูงขึ้นมามากและอาจเพิ่มเติมขึ้นอีก หรือจะยืนยันเจตนารมณ์ลงทุนระยะยาว แม้ราคาหุ้นอาจปรับตัวลง จนทำให้ช่วงเวลาถ่ายเทหุ้นไปสู่รายใหญ่ยืดเยื้อออกไป ด้วยมุมมองที่รองรับนั่นคือความเชื่อมั่นต่อธุรกิจของบริษัทที่มีโอกาสเติบโตอีกมากในระยะยาว ซึ่งหากถือครองต่อไปอาจทำกำไรได้มากกว่าช่วงเวลาปัจจุบัน