ในที่สุดบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ก็ได้ฤกษ์เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ให้คนไทยที่สนใจได้เป็นเจ้าของ หลังจากใช้เวลาเนิ่นนานหลายปี เพื่อดำเนินการแยกโอนทรัพย์สินออกจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้าสู่กระบวนการจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนและยื่นไฟลิ่งต่อ ก.ล.ต.
OR เสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 2,610 ล้านหุ้น (ไม่รวมกรีนชู) และมีกรีนชูอีก 390 ล้านหุ้น โดยจัดสรรให้รายย่อยประมาณ 595 ล้านหุ้น ให้จองซื้อหุ้น IPO เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค.-(เที่ยง) วันที่ 2 ก.พ. 2564 ที่ราคาหุ้นละ 16-18 บาท สามารถจองซื้อได้ที่ธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย และกรุงไทย ที่สำนักงานใหญ่และทุกสาขาทั่วประเทศและผ่านช่องทางออนไลน์ โดยจัดสรรแบบวิธี Small Lot First เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับการกระจายหุ้นอย่างทั่วถึงตามเจตนารมณ์ที่ ปตท.ตั้งเป้าหมายไว้แต่แรก เพื่อให้หุ้น OR เป็นหุ้นมหาชนอย่างแท้จริง
OR เข้าซื้อในตลาดหลักทรัพย์วันแรก (First Day Trade) ในวันที่ 11 ก.พ. 2564 มีมูลค่ามาร์เกตแคป 2.16 แสนล้านบาท ใหญ่ติดอันดับ 20 แรก ทำให้หุ้น OR เข้าอยู่ในดัชนี SET 50 ทันทีนับตั้งแต่วันแรกที่เทรดด้วย
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความกังวลของนักลงทุนว่าราคาหุ้น OR หลังเข้าเทรดซื้อขายในตลาดหุ้นอาจจะถูกแรงเทขายออกมาอย่างหนักว่า เรื่องนี้อยากให้นักลงทุนมองปัจจัยพื้นฐานธุรกิจของ OR และการเติบโตของบริษัทในอนาคตเป็นหลัก เพราะหุ้น OR เข้าเทรดซื้อขายแล้วราคาหุ้นจะปรับขึ้นลงตามภาวะตลาดทุนในช่วงเวลานั้น
นอกจากนี้ ปตท.ถือหุ้นใหญ่ใน OR ถึง 75% และบริษัทในเครือ ปตท.เองก็ให้การสนับสนุนและมีความร่วมมือระหว่างกันอยู่แล้ว เช่น หากมีโครงการลงทุนใหม่แต่ยังมีความเสี่ยง ทาง ปตท.ก็จะลงทุนและพัฒนา เมื่อสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ค่อยพิจารณาว่า ปตท.จะทำเองหรือส่งต่อให้บริษัทลูก
อรรถพลได้กล่าวว่า เงินที่ได้จากการขายหุ้น IPO OR อยู่ที่ราว 4-5 หมื่นล้านบาท จะนำไปใช้ขยายการลงทุนใน 3 กลุ่มธุรกิจหลักของ OR คือ ธุรกิจน้ำมัน (oil), ธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ (Non-Oil) และธุรกิจต่างประเทศ โดยเน้นธุรกิจทั้ง Non-Oil และต่างประเทศเนื่องจากมีมาร์จิ้นสูงและมีศักยภาพสร้างการเติบโตให้บริษัทในอนาคต
5 ปีทุ่มเงินขยายธุรกิจ 7.46 หมื่นล้าน
OR ตั้งงบลงทุน 5 ปีนี้ (2564-68) อยู่ที่ 7.46 หมื่นล้านบาท แบ่งสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจน้ำมัน 34.6% ธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ (Non-Oil) 28.6% ธุรกิจต่างประเทศ 21.8% และธุรกิจอื่นๆ 15%
การให้ความสำคัญในธุรกิจอื่นๆ หรือเป็นการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่ OR ยังไม่เคยลงทุนมาก่อนนั้น ทาง OR จัดสรรเงินลงทุนไว้ถึง 15% ของงบลงทุน 7.46 หมื่นล้านบาท หรือราว 1.2 หมื่นล้านบาทใน 5 ปีนี้ เพื่อให้ธุรกิจใหม่นี้จะเป็นตัวสร้างรายได้อีกช่องทางนำ OR โตอย่างยั่งยืนในยุคที่มีการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
พร้อมเปิดกว้างการลงทุนทั้งในรูปแบบการจัดตั้งบริษัทร่วมค้า (JV) การเข้าซื้อกิจการ (M&A) เพื่อตอบโจทย์ครบวงจร ขยายไปสู่ Mobility Ecosystem และ Life Style Ecosystem เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเติบโตให้กลุ่มธุรกิจ Non-Oil ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่
ในปลายปี 2563 OR ได้เริ่มชิมลางเข้าสู่ Mobility Ecosystem โดยเข้าถือหุ้นราว 9% ใน Flash Express ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ จัดส่งพัสดุอันดับ 3 ของไทย รองจาก Kerry และไปรษณีย์ไทย รองรับอีคอมเมิร์ซครบวงจร
รวมถึงการเข้าไปถือหุ้น 65% ในบริษัท พีเบอร์รี่ ไทย จำกัด ซึ่งทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกาแฟอย่างครบวงจรในไทย ช่วยเพิ่มศักยภาพการจัดหาวัตถุดิบอุปกรณ์ และซ่อมบำรุงอุปกรณ์สำหรับร้านกาแฟรองรับการขยายเครือข่ายของคาเฟ่อเมซอนในอนาคต และมีช่องทางขยายธุรกิจแบรนด์กาแฟในระดับไฮเอนด์ Pacamara อีกด้วย
เร่งขยาย EV Charging เพิ่ม
จิราพร ขาวสวัสดิ์ รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) กล่าวว่า กลยุทธ์การเติบโตใน 5 ปีข้างหน้า บริษัทมีแผนขยายสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ในไทยเพิ่มขึ้นปีละ 108 แห่ง เพิ่มเป็น 2,500 แห่งในปี 2568 จากปัจจุบัน 1,968 แห่ง รวมทั้งมีแผนขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging) ในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station จากปัจจุบันมีอยู่ 25 แห่ง และศูนย์ซ่อมบริการและบำรุงรักษารถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อตอบสนองเทรนด์พลังงานทางเลือกในอนาคต
นอกเหนือจากการขยายสถานีบริการน้ำมัน OR มีแผนขยายตลาดพาณิชย์ให้กับลูกค้าที่มีอยู่ถึง 2,600 รายทั้งน้ำมันและก๊าซแอลพีจี น้ำมันหล่อลื่น และน้ำมันอากาศยาน กล่าวได้ว่า OR มีความครบเครื่องด้านน้ำมันเมื่อเทียบกับบริษัทคู่แข่ง ทำให้ OR เป็นผู้นำตลาดการค้าน้ำมันทั้งตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ในประเทศไทย
ส่วนธุรกิจ Non-Oil บริษัทมีแผนขยายร้านคาเฟ่ อเมซอน เพิ่มอีก 2,100 สาขาใน 5 ปี จากปัจจุบันมีอยู่ 3,100 สาขา รวม 5,300 สาขา ทำให้คาเฟ่ อเมซอนมียอดขายมากกว่า 264 ล้านแก้วต่อปี, การลงทุนตั้งโรงงานผลิตเบเกอรี โรงงานผงผสมเครื่องดื่ม ศูนย์กระจายสินค้าอัตโนมัติ และขยายร้าน Texas Chicken อีกกว่า 20 สาขา/ปี รวมไปถึงการขยายร้านสะดวกซื้อ ทั้งร้าน 7-Eleven และจิฟฟี่
ด้านธุรกิจต่างประเทศ มีแผนขยายสถานีบริการ PTT Station เพิ่มปีละ 64 แห่ง หรืออีกกว่า 350 แห่งใน 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบัน 329 แห่ง พร้อมไปกับการขยายสาขาคาเฟ่ อเมซอนอีกกว่า 310 สาขาจากปัจจุบัน 272 สาขา รวมทั้งขยายร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ในต่างประเทศที่มีเปิดแล้ว 70 แห่ง โดยยอมรับว่าโอกาสในการขยายสาขาจิฟฟี่ในไทยมีน้อยเนื่องจากติดสัญญาร่วมกันกับร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ทำให้แผนการขยายจิฟฟี่ต้องมุ่งไปโตต่างประเทศแทน รวมทั้งขยายตลาดจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นไปต่างประเทศเพิ่มจากปัจจุบันส่งออกไปจำหน่ายแล้วกว่า 40 ประเทศทั่วโลก
ธุรกิจ Non-Oil มีสัดส่วน EBITDA 25%
ด้วยนโยบายการรุกธุรกิจดังกล่าว ทำให้ OR เป็นบริษัทน้ำมันไทยเพียงรายเดียวที่มีสัดส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย, ภาษี, ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) มาจากธุรกิจ Non-Oil สูงถึง 25% มากกว่าบริษัทคู่แข่งอื่นๆ ขณะที่ธุรกิจต่างประเทศมีสัดส่วน EBITDA เกือบ 6% คาดว่าในอนาคตสัดส่วน EBITDA จาก Non-Oil และต่างประเทศจะเพิ่มมากกว่านี้ จากนโยบายเน้นลงทุนทั้งธุรกิจ Non-Oil และธุรกิจต่างประเทศมากขึ้น
ส่วนธุรกิจน้ำมัน ก็ยังมีการขยายการลงทุนต่อเนื่องเช่นกัน เนื่องจากเป็นธุรกิจหลักที่สร้างกำไรให้ OR
พิจินต์ อภิวันทนาพร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารการเงิน บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) กล่าวว่า ผลประกอบการ OR ในปี 2560-2562 มีรายได้จากการขายและบริการเติบโตเฉลี่ยปีละ 3% จากปี 2560 อยู่ที่ 543,275.7 ล้านบาท และปี 2562 อยู่ที่ 577,134.0 ล้านบาท ส่วนงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 OR มีรายได้จากการขายและบริการลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 25.8% มาอยู่ที่ 309,308 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ราคาและปริมาณการขายน้ำมันลดลงในช่วงมีนาคม-เมษายน 2563 ก่อนที่ปริมาณการขายน้ำมันผ่านสถานีบริการและภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวดีขึ้นจนกลับมาสู่ภาวะปกติในช่วงไตรมาส 3/2564 ยกเว้นน้ำมันอากาศยาน (เจ็ต) ที่ยังไม่ดีขึ้นจากธุรกิจท่องเที่ยวและการบินยังไม่กระเตื้อง ส่วนในไตรมาส 4/2563 พบว่าปริมาณการขายน้ำมันดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนด้วย
สำหรับกำไรสุทธิงวดปี 2560-2562 อยู่ที่จำนวน 9,768.7 ล้านบาท 7,851.3 ล้านบาท 10,895.8 ล้านบาทตามลำดับ เติบโตขึ้นเฉลี่ย 5.6 % ต่อปี ส่วนงวดเก้าเดือนแรกปี 2563 อยู่ที่ 5,868.5 ล้านบาท ลดลง 34.4% จากช่วงเดียวของปีก่อนจากพิษโควิด-19 แต่มั่นใจว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2563 จะออกมาดี หลังจากรัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
ด้วยกลยุทธ์การเติบโตของ OR ดังกล่าวทำให้สถานีบริการน้ำมัน PTT Station ร้านคาเฟ่ อเมซอนยังเป็นแบรนด์ที่ครองใจคนไทย และค่อยก้าวไปสู่แบรนด์ระดับโลกอย่างแข็งแกร่งในอนาคต