xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ชี้ผลดำเนินงานปีนี้ดีขึ้น เดินหน้ารุกธุรกิจใหม่ทั้งดิจิทัล-โลจิสติกส์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปตท.คาดผลดำเนินงานปี 64 ดีกว่าปีที่แล้ว เหตุแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังมีการใช้วัคซีนโควิด-19 และราคาน้ำมันดิบมีเสถียรภาพมากขึ้น ยอมรับราคาก๊าซฯปรับลดตามสูตรราคาและกลุ่มปิโตรเคมีได้รับประโยชน์ พร้อมเดินหน้ารุกธุรกิจใหม่ในกลุ่มดิจิทัล โลจิสติกส์ และ Life Science

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2564 มีโอกาสดีขึ้นจากปีก่อน ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดฟื้นตัวหลังมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ออกมาใช้ ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นและราคาน้ำมันมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลดีต่อการดำเนินงานเติบโตขึ้นกว่าปี 2563 ที่ได้รับผลกระทบจากการขาดทุนสต๊อกน้ำมันและมาร์จิ่นธุรกิจที่ลดลง

ทั้งนี้ ปตท.ประเมินราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบปีนี้อยู่ที่ราว 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และไม่ผันผวนแรงเหมือนในปีที่แล้ว ภายใต้เงื่อนไขวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีภาพชัดเจนในทางบวก และกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) ยังคงร่วมมือลดกำลังการผลิตตามแผน และเศรษฐกิจที่เป็นลักษณะของการทยอยฟื้นตัว แต่คงยังไม่กลับไปดีเหมือนในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 เหมือนในปี 2562

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจในกลุ่มก๊าซธรรมชาติ ด้าน บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ.อาจจะได้รับผลกระทบจากมาร์จิ้นที่ลดลง หลังทิศทางราคาก๊าซธรรมชาติลดลงตามโครงสร้างสูตรราคาที่ส่วนหนึ่งผูกกับราคาน้ำมันย้อนหลัง 6-12 เดือน แต่ ปตท.สผ.ก็มีแผนที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยเป้าหมายลดต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) ให้อยู่ที่ระดับ 25 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยปัจจุบันทำได้แล้วในระดับ 28-29 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากเดิมที่เคยทำไว้ในระดับ 31 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล รวมถึงยังมีแผนมองหาการลงทุนในแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งในส่วนนี้ก็จะช่วยลดผลกระทบเรื่องมาร์จิ้นที่ลดลงได้

แม้ว่าราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลงอาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจต้นน้ำอย่าง ปตท.สผ. แต่ก็จะส่งผลดีต่อธุรกิจขั้นปลายในกลุ่มปิโตรเคมีที่รับก๊าซธรรมชาติมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต ทำให้ภาพรวมของ ปตท.มีความสมดุลในตัวเองอยู่แล้ว

นายอรรถพลกล่าวว่า ปตท.ยังคงเดินหน้ามองหาการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ในกลุ่ม Life science ซึ่งล่าสุดได้ตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด รองรับการลงทุนดังกล่าวเพื่อให้เกิดความคล่องตัว โดยจะโฟกัสใน 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจยา, ธุรกิจ Nutrition และธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์

ส่วนธุรกิจใหม่ ในกลุ่ม Digitalization มีความร่วมมือกับบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ศึกษาและพัฒนานวัตกรรมด้านคลาวด์และดิจิทัล และล่าสุด ปตท.ได้จัดตั้งบริษัท เมฆาเทคโนโลยี จำกัด ให้บริการระบบสารสนเทศหลากหลายรูปแบบผ่านอินเทอร์เน็ต (Public Cloud) เช่น การให้บริการจัดเก็บข้อมูล ประมวลผล จัดการข้อมูลต่างๆ ให้แก่บริษัท องค์กรต่างๆ รวมถึงกลุ่ม ปตท.ด้วย

ส่วนกลุ่มโลจิสติกส์ยังอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบที่จะผลักดันการขยายตัว ล่าสุดลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ในการศึกษาโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งตู้สินค้าในท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) เป็นการศึกษาและพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งภายใน ทลฉ.ในการรองรับและสนับสนุนแผนพัฒนา 3 โครงการหลักของ ทลฉ. ได้แก่ โครงการพัฒนา ทลฉ.ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อรองรับความต้องการการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ในส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มโลจิสติกส์ด้วย ส่วนความร่วมมือกับ GULF ในโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) นั้น เบื้องต้นเป็นเรื่องของงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และยังมีโอกาสได้สิทธิเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ด้วย

นอกจากนี้ ในส่วนธุรกิจใหม่ ในกลุ่มพลังงานใหม่ (New Energy) ซึ่งรวมถึงการพัฒนาแบตเตอรี่ ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่ง ปตท.มีการดำเนินการใน 2 เทคโนโลยี ได้แก่ การดำเนินการโดย บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ซึ่งอยู่ระหว่างจัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่ โดยขณะนี้สามารถผลิตแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยี Semi-solid เซลล์แรกของประเทศไทย หรือ "G-Cell" ได้แล้ว และการดำเนินการของ ปตท.ผ่านทางสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ที่ได้ตั้งโรงงานพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและลิเทียมซัลเฟอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการกักเก็บไฟฟ้า ซึ่งทั้งสองเทคโนโลยียังอยู่ในช่วงของการทำต้นแบบ


กำลังโหลดความคิดเห็น