xs
xsm
sm
md
lg

KKP ตั้งเป้าสินเชื่อปีนี้โต 5% เน้นสำรองเข้มรับความเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



KKP เผยผลประกอบการปี 2563 รับอานิสงส์กลยุทธ์กระจายรายได้และเลือกเติบโตอย่างระมัดระวังท่ามกลางวิกฤต สินเชื่อธนาคารโตร้อยละ 12.4 ด้านตลาดทุนรับประโยชน์จากความผันผวนและปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1  และมีเงินไหลเข้าธุรกิจ Wealth Management เพิ่มขึ้นเป็น 6 แสนล้านบาท ตั้งสำรองเข้มข้นรับความเสี่ยงเศรษฐกิจ อัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 170.9 กำไรสุทธิลดลงร้อยละ 14.4 เมื่อเทียบกับปี 2562 ในขณะที่ผลกำไรก่อนตั้งสำรองของทั้งกลุ่มเพิ่มร้อยละ 17.9 เดินหน้าปี 2564 โตสินเชื่ออย่างระมัดระวังอย่างน้อยร้อยละ 5 พร้อมติดตามให้ความช่วยเหลือลูกค้าใกล้ชิด

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) 
เปิดเผยว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมาเป็นปีของการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ไม่ว่าโดยร่วมกับมาตรการของ ธปท.หรือมาตรการของธนาคารเอง เช่น การให้พักชำระเงินต้น/ดอกเบี้ย การเข้าร่วมมาตรการ Soft loan การปรับลดอัตราดอกเบี้ย การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม จากกลยุทธ์การกระจายแหล่งรายได้ของกลุ่มธุรกิจฯ ที่ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และการเลือกที่จะเติบโตอย่างระมัดระวัง ได้ช่วยทำให้ผลประกอบการออกมาในระดับที่น่าพึงพอใจ โดยในส่วนของธนาคารมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อร้อยละ 12.4 อันเนื่องมาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อบรรษัทที่มีมากขึ้นในช่วงที่ภาวะตลาดไม่เอื้อให้บริษัทใหญ่ระดมเงินจากตลาดทุน

ขณะเดียวกัน ด้านธุรกิจตลาดทุนถือเป็นปีที่มีผลประกอบการดีมาก โดย (1) ธุรกิจนายหน้า ได้รับประโยชน์จากมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยของตลาดที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 29 ทำให้มีรายได้ค่านายหน้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และยังคงครองส่วนแบ่งอันดับ 1 ของตลาดที่ร้อยละ 10.85 (2) ธุรกิจ Wealth Management มีปริมาณทรัพย์สินภายใต้คำแนะนำ (Asset Under Advice, AUA) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เป็น 6 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการขยายขอบเขตบริการ โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ และ (3) ธุรกิจการลงทุนโดยตรง มีรายได้จากฝ่ายค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Equity and Derivative Trading) สูงถึง 1 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สำหรับปี 2564 ด้วยแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงเป็นไปอย่างเปราะบาง และสถานการณ์ของลูกหนี้ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หลังพ้นระยะของมาตรการช่วยเหลือที่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด กลุ่มธุรกิจฯ จึงตั้งกรอบการเติบโตของสินเชื่ออยู่ที่อย่างน้อยร้อยละ 5 และรักษาระดับอัตราส่วนเอ็นพีแอลไม่เกินร้อยละ 4.5 ของสินเชื่อรวม ทั้งนี้ การตั้งเป้าหมายสินเชื่อปีนี้ในระดับที่ต่ำกว่าปีก่อนเนื่องจากแนวโน้มความไม่แน่นอนที่ยังสูงในปีนี้ และการเติบโตสินเชื่อในปีก่อนส่วนหนึ่งมาจากการใช้มาตรการพักชำระหนี้

ด้านนายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเติบโตของสินเชื่อในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 2563 มาจาก 3 ส่วนหลัก คือ (1) สินเชื่อรถยนต์ ที่แม้ธนาคารจะใช้เกณฑ์การพิจารณาอย่างระมัดระวัง แต่ด้วยภาวะตลาดที่ทำให้การแข่งขันชะลอตัวลง ได้เปิดโอกาสให้ธนาคารขยายตัวไปในตลาดของสินทรัพย์ที่มีคุณภาพมากขึ้น และเติบโตกว่าร้อยละ 18.00 (2) สินเชื่อรายย่อยที่ไม่ใช่รถยนต์ ที่มีการเติบโตกว่าร้อยละ 9.5 โดยส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และ (3) สินเชื่อบรรษัท ที่ความเชื่อมโยงของธนาคารกับเครือข่ายที่เข้มแข็งของธุรกิจตลาดทุนในการให้คำตอบด้านวาณิชธนกิจแบบองค์รวม ในลักษณะ Wholesale Investment Banking ได้ช่วยให้สินเชื่อในส่วนนี้มีการเติบโตถึงร้อยละ 41

ด้านของมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เมื่อสิ้นปี 2563 พบว่า สัดส่วนลูกค้าสินเชื่อรายย่อยที่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ คือมากกว่าร้อยละ 75 ในขณะที่ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจในส่วนที่หมดระยะมาตรการช่วยเหลือแล้ว ก็สามารถกลับมาชำระหนี้ได้มากกว่าร้อยละ 75 เช่นกัน ทำให้ปัจจุบันธนาคารมีลูกค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 11 ของสินเชื่อรวมของธนาคาร อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงมีการพิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ระดับสูง และเตรียมความพร้อมสำหรับการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าผู้มีความจำเป็นซึ่งเป็นภารกิจที่ธนาคารให้ความสำคัญภายใต้สถานการณ์การระบาดและผลกระทบที่ยังคงไม่สิ้นสุด

นายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจฯมีกำไรสุทธิเท่ากับ 5,123 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14.4 จากปี 2562 โดยเป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 1,221 ล้านบาท ในส่วนของการตั้งสำรอง ปริมาณการตั้งสำรองสำหรับปี 2563 อยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับปี 2562 โดยมีอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ร้อยละ 170.9 ปรับเพิ่มขึ้นจาก 111.2 ในปี 2562 ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจฯ มีกำไรสุทธิที่ลดลง ในขณะที่ก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้สำหรับปี 2563 กลุ่มธุรกิจฯ มีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 17.9 ทั้งนี้ สำหรับปี 2563 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 14,679 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 จากปี 2562 ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 6,554 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.3 จากปี 2562 ปริมาณสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (Stage 3) มีจำนวน 7,751ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.9 ของสินเชื่อรวม ลดลงจากร้อยละ 4.0 ณ สิ้นปี 2563 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรถึงสิ้นไตรมาส 4/2563 อยู่ที่ร้อยละ18.15 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะเท่ากับร้อยละ 14.14

**คาด กนง.ลดดอกเบี้ย/FIDF**
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บล.เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า KKP Research ได้ปรับลดอัตราการเติบโต GDP เป็นร้อยละ 2 จากเดิมที่ระดับร้อยละ 3.5 โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างช้าๆ ผลกระทบกับภาคส่วนต่างๆ แตกต่างกัน และมีความไม่แน่นอนสูงจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่นำไปสู่การออกมาตรการจำกัดการระบาดและการชะลอลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนต่างๆ อาจทำให้ความสามารถในการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศล่าช้าออกไปอีก ในกรณีเลวร้ายหากประเทศไทยไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ จนต้องมีมาตรการจำกัดที่ยาวนานขึ้น และไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เลยตลอดทั้งปี อาจมีความเสี่ยงที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยหดตัวถึงร้อยละ -1.2 ในปีนี้

ทั้งนี้ 3 ปัจจัยหลักที่กำหนดเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ได้แก่ ความสำเร็จในการควบคุมการระบาดระลอกใหม่ ผลกระทบจากมาตรการควบคุมของรัฐ และขีดจำกัดของระบบสาธารณสุข ซึ่งหากการแพร่ระบาดใช้ระยะเวลานานในการควบคุม หรือจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกินความสามารถในการรองรับด้านสาธารณสุข อาจนำไปสู่การยกระดับความเข้มของมาตรการควบคุมภาครัฐ ส่งผลให้การใช้จ่ายของภาคเอกชนและการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศชะลอตัวลงอีกครั้ง รวมถึงประสิทธิผล ผลข้างเคียง และการกระจายวัคซีน หากวัคซีนไม่เป็นไปตามแผนทั้งในแง่ประสิทธิผลของการป้องกัน ผลข้างเคียงที่รุนแรง หรือความล่าช้าในการได้รับและการกระจายฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน อาจส่งผลต่อการควบคุมการระบาดและการเปิดการท่องเที่ยว และนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเพื่อเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ประคับประคองความอยู่รอดของภาคธุรกิจและแรงงาน และกระตุ้นเพื่อชดเชยกำลังซื้อและความต้องการในการลงทุนที่หายไปจนกว่าเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อีกครั้ง

ด้านนโยบายการเงิน มองว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือค่าฟี FIDF เพื่อเป็นการลดต้นทุนให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่มาตรการทางการคลังเองก็ควรที่จะเร่งการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมองว่าหากมีความจำเป็นที่่รัฐบาลจะต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นก็สามารถทำได้ แต่จะต้องใช้อย่างคุ้มค่า สามารถเพิ่มศักยภาพ-สร้างรายได้เพิ่มในระยะยาว และมีการรั่วไหลน้อยที่สุด

นอกเหนือจากการรับมือปัญหาเฉพาะหน้าจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว ประเด็นระยะยาวที่ KKP Research เห็นว่าควรได้รับความใส่ใจ คือ (1) ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสที่จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 ทั้งโอกาสในการศึกษาและโอกาสด้านการทำงาน และ (2) ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งด้านการแข่งขันในตลาดส่งออกและการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ที่จะยิ่งเป็นปัญหามากยิ่งขึ้นจากความต้องการของผู้บริโภค โครงสร้างการค้า และห่วงโซ่การผลิตโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไปหลังโควิด-19


กำลังโหลดความคิดเห็น