บสย. เพื่อนแท้ SMEs ไทย ประกาศความสำเร็จประเดิมก้าวสู่ปีที่ 30 ด้วยผลงาน “ยอดค้ำประกันสินเชื่อสะสมผ่านเส้นชัย 1 ล้านล้านบาท” ตอกย้ำบทบาทสำคัญสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ กลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย. เริ่มต้นศักราชใหม่ ปี 2564 ด้วยผลงานความสำเร็จแรกแห่งปี “ค้ำฯ เติมทุน” ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ เป็นผลสำเร็จ ด้วยยอดการค้ำประกันสินเชื่อสะสม ทะลุ 1 ล้านล้านบาท บันทึก ณ วันที่ 29 มกราคม 2564 ด้วยวงเงิน 1,000,493 ล้านบาท (หนึ่งล้านสี่ร้อยเก้าสิบสามล้านบาท) โดยบรรลุเป้าหมายเร็วกว่าแผนงานเดิม 2 ปี นับเดิมที่ บสย. ได้เคยมีประกาศไว้ในปี 2561 ตั้งเป้าครบล้านล้านบาทภายในปี 2566 ตอกย้ำความมุ่งมั่น ทุ่มเท พยายามด้วยความรับผิดชอบต่อบทบาทและการทำหน้าที่กลไกของรัฐขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ส่งผ่านความช่วยเหลือครบทุกมิติ ทั้งการสร้างสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยเป็นมูลค่ามากกว่า 1.42 ล้านล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 560,000 ราย ก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 1.11 ล้านตำแหน่ง รักษาการจ้างงานกว่า 7 ล้านตำแหน่ง เป็นเครื่องมือสำคัญสร้างความมั่นใจให้สถาบันการเงินกล้าปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยที่ยังเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้เพียง 2 ใน 3
ไฮไลต์สำคัญตลอดระยะเวลา 29 ปีที่ผ่านมา ของการทำหน้าที่ในฐานะรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง คือ การเป็นเครื่องมือของรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญทุกมิติ ผ่านกลไกค้ำประกันสินเชื่อ นับตั้งแต่ บสย. จัดตั้งขึ้นภายใต้ “พระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม พ.ศ.2534” ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 400 ล้านบาท และเริ่มดำเนินกิจการค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs แบบ Individual Guarantee สู่ปฐมบทการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านกลไกรัฐ ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 เป็นต้นมา โดยมียอดอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ ปีแรก 168 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 140 ราย
ในปี 2543 รัฐบาลเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 4,000 ล้านบาท ส่งผลให้ บสย. สามารถสร้างยอดค้ำประกันสินเชื่อในปี 2544 พุ่งทะยานจากหลักร้อยล้าน สู่หลักพันล้าน ปิดยอดค้ำฯ ที่ 2,505 ล้านบาท จากนั้นรัฐบาลได้เพิ่มทุนจดทะเบียนให้ บสย. อีก 2 ครั้งในปี 2551 และปี 2552 ทำให้มีทุนจดทะเบียนรวม 6,839.94 ล้านบาท
ในปี 2552 บสย. ได้นำการเปลี่ยนแปลงมาเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจครั้งสำคัญ มีการปรับรูปแบบการค้ำประกันสินเชื่อจากการค้ำประกันแบบ Individual Guarantee เป็น Portfolio Guarantee Scheme เพื่อรับมือวิกฤตเศรษฐกิจ และสร้างความมั่นใจแก่สถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ การปรับรูปแบบการค้ำประกันสินเชื่อครั้งใหม่ ส่งผลให้ยอดค้ำประกันสินเชื่อเติบโตก้าวกระโดดจากหลักพันล้านบาท สู่หลักหมื่นล้านบาท โดยปิดยอดค้ำประกันสินเชื่อที่ 21,558 ล้านบาท จากนั้น ในปี 2553 ยอดค้ำประกันสินเชื่อเพิ่มขึ้นเท่าตัวที่ 42,585 ล้านบาท และมียอดค้ำประกันสินเชื่อสะสมครบ 1 แสนล้านบาท ต่อเนื่องมาในปี 2556 ยอดค้ำประกันสินเชื่อสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนล้านบาท และในปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนล้านบาท ตามลำดับ
ในปี 2560 มีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (ฉบับที่ 2) แก้ไขเพิ่มเติม” ขยายขอบเขตการค้ำประกันสินเชื่อให้ครอบคลุมธุรกรรมแฟกตอริ่ง เช่าซื้อ และลีสซิ่ง รวมถึงธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายสินเชื่อ และขยาย “นิยาม” ของสถาบันการเงิน ให้ บสย. สามารถค้ำประกันสินเชื่อกลุ่ม Non-Bank การแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว ส่งผลให้ในปี 2561 บสย. มียอดค้ำประกันสะสมเพิ่มเป็น 7 แสนล้านบาท ในปีนั้น บสย. จึงประกาศตั้งเป้าช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อให้ครบ 1 ล้านล้านบาทภายใน 5 ปี หรือภายในปี 2566
นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ภายใต้การเข้ามาบริหารจัดการของ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร บสย. ได้ประกาศปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ สู่การ Transform องค์กร สอดรับการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ปรับ Mind set การทำงานแบบเชิงรุก คิดใหม่ ทำใหม่ ปรับกระบวนการทำงานภายใน ควบคู่กับการบริหารวิกฤตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและผู้ประกอบการ SMEs ทุกภาคส่วน ทั้งการท่องเที่ยว โรงแรม ธุรกิจบริการ ร้านอาหาร ในฐานะเครื่องมือของรัฐ บสย. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินมาตรการตามนโยบายรัฐบาลร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อผ่านกลไกการค้ำประกันกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้ประกอบการ SMEs และรายย่อย กลุ่มอาชีพอิสระ เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยผลดำเนินงานสิ้นสุดปี 2563 บสย. สามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อมากกว่า 166,000 ราย และมียอดอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ จำนวน 141,888 ล้านบาท ทุบสถิติในรอบ 29 ปีนับจากการก่อตั้ง บสย. อีกทั้งยังได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ อีกครั้ง ประเดิมผลงานแรกปี 2564 ประสบความสำเร็จ ณ วันที่ 29 มกราคม 2564 บสย. ได้บรรลุเป้าหมายการช่วยเหลือ SMEs เข้าถึงสินเชื่อด้วยยอดค้ำประกันสินเชื่อสะสมครบ 1 ล้านล้านบาท สำเร็จ และเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ 2 ปี ช่วยผู้ประกอบการ SMEs 560,000 ราย หรือประมาณ 20% ของจำนวน SMEs ในประเทศ
ดร.รักษ์ กล่าวว่า เป็นการก้าวสู่ปีที่ 30 ของ บสย. ที่ท้าทาย จากความผันผวนทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยในปี 2563 พบว่าการจดทะเบียนเลิกกิจการมีจำนวน 20,920 รายมีมูลค่าทุนจดทะเบียน 91,859 ล้านบาท เกิดการเลิกจ้าง และลดเงินเดือน ขณะที่กลุ่มอาชีพอิสระขาดเงินหมุนเวียน และกลุ่ม SMEs เกิดใหม่ต้องการเงินทุน และยังมีกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่มีปัญหาการค้างชำระ ต้องการพักชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ และต้องการสินเชื่อต้นทุนต่ำ 1,000,493 ล้านบาท (หนึ่งล้านสี่ร้อยเก้าสิบสามล้านบาท)
“การค้ำประกันสินเชื่อ คือกลไกหลักเชื่อมโยงระหว่างเงินทุนกับผู้ประกอบการ SMEs ที่สำคัญมากโดย บสย. พร้อมเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจและดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มที่ในทุกมาตรการเพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อและแหล่งทุน” ดร.รักษ์ กล่าว
ภายใต้วิสัยทัศน์ (Vision) บสย. “เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงเงินทุนและโอกาสทางธุรกิจแห่งชาติให้แก่ SMEs เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน” และค่านิยมองค์กร (Corporate Values) T (True innovative financial-partner for SMEs) เป็นคู่คิดทางการเงิน C (Connectivity for business possibilities) เชื่อมโยง SMEs สู่โอกาสทางธุรกิจ G (Governance for sustainable growth) เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยหลักธรรมาภิบาล โดยผลดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อ ณ 31 มกราคม 2564 อนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 10,680 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 21,103 ราย และอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ จำนวน 30,133 ฉบับ โดยมี 3 โครงการค้ำประกันสินเชื่อสูงสุดคือ 1.โครงการ บสย. SMEs ไทยสู้ภัย COVID-19 วงเงิน 3,900 ล้านบาท 2.โครงการ บสย. SMEs ดีแน่นอน วงเงิน 2,788 ล้านบาท และ 3.โครงการ บสย. Micro ไทยสู้ภัยโควิด 1,041 ล้านบาท