บล.เอเซียพลัส ประเมินผู้ว่าฯ ธปท.คนใหม่ จ่อตรึงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ไปอีกอย่างน้อย 2 ปี หลังประกาศให้น้ำหนักลดดอกเบี้ยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยลง ช่วยหนุนดัชนีหุ้นไทยปี 64 แตะ 1,450 จุด Upside 20% แนะทยอยสะสมระยะกลาง-ยาว ด้าน TISCO ประเมิน 3 มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ ช่วยหนุนเศรษฐกิจได้เพียงเล็กน้อย แต่มาตรการเพิ่มเงินให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ผลมากที่สุด ส่วนช้อปดีมีคืน อาจวืดเป้า 1.1 แสนล้านบาท
ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส เปิดเผยว่า จากการให้สัมภาษณ์ของนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าผู้ว่าฯ ธปท. ให้น้ำหนักการดำเนินนโยบายการเงินผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายน้อยลง เนื่องจาก มองว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.5% นั้นเป็นระดับที่ต่ำสุดในภูมิภาค และต่ำสุดในประวัติศาสตร์แล้ว ส่งผลให้ช่องว่างหรือความสามารถในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกมีจำกัด ดังนั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป จึงต้องให้น้ำหนักกับมาตรการด้านการคลังแทน
คาดแนวโน้มดอกเบี้ยทรงตัวที่ 0.5% อีก 2 ปี ให้เป้า SET ปี 64 1,450 จุด
ทั้งนี้ มุมมองล่าสุดของผู้ว่าฯ ธปท. ข้างต้น ASPS จึงคาดว่าโอกาสที่ ธปท. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกภายหลังจากนี้จะมีน้อยลง หนุนให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีแนวโน้มทรงตัวต่ำที่ 0.5% ต่อไป ซึ่ง ASPS ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยจะมีแนวโน้มทรงตัวอย่างน้อย 2 ปี สอดคล้องกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งที่ ธปท. คงอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องกันนาน 8 ไตรมาส (2 ปี)
ดังนั้น ประเมินเป้าหมายของดัชนีปี 2564 ด้วยวิธี Market Earning Yield Gap ที่ระดับ 4.5% โดยอิงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่อนุรักษนิยม เพราะสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต 4.25% จะได้ P/E ที่ระดับเหมาะสมในการซื้อขาย 20 เท่า เมื่อนำมาคูณกับ EPS 64F ที่ 72.51 บาท/หุ้น จะได้เป้าหมาย SET Index ณ สิ้นปี 2564 ที่ 1,450 จุด ซึ่งเมื่อเทียบกับดัชนีในปัจจุบันที่ระดับ 1,210.67 จุด ถือว่ามี Upside เกือบ 20% ถือเป็นโอกาสสะสมระยะกลาง-ยาวของนักลงทุน
และในส่วนของมาตรการทางด้านการคลัง ASPS เชื่อว่าในช่วง 4Q63 จะมีเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจไหลเข้าระบบอีกราว 2 แสนล้านบาท (ดังตาราง) โดยให้น้ำหนักมาตรการกระตุ้นการบริโภค เช่น การเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการอีก 500 บาท มาตรการคนละครึ่ง และมาตรการช้อปดีมีคืน ที่จะเริ่มต้นในวันที่ 23 ต.ค.2563 นี้ ซึ่งจะเป็น Sentiment บวกต่อหุ้นค้าปลีกต่อไป เช่น CRC, CPALL, BJC, SPVI, COM7, JMART, HMPRO, ILM เป็นต้น
TISCO ชี้ 3 มาตรการรัฐกระตุ้นใช้จ่าย หนุนจีดีพีไทยไม่มาก
ขณะที่ นายธรรมรัตน์ กิตติสิริพัฒน์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศผ่าน 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการ “คนละครึ่ง” วงเงินประมาณ 30,000 ล้านบาท 2.โครงการ “เพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” วงเงิน 21,000 ล้านบาท และ 3.โครงการ “ช้อปดีมีคืน” โดยให้ประชาชนนำเงินที่ใช้จ่ายในสินค้าและบริการมาหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ แต่ไม่เกิน 30,000 บาท
ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าโครงการที่น่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินใช้จ่ายใกล้เคียงกับงบประมาณที่รัฐตั้งเป้าไว้มากที่สุด คือ โครงการ "เพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" เพราะเสมือนเป็นเงินฟรี หรือเงินให้เปล่า 100% จากรัฐบาล ที่แจกให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้น้อยจำนวน 14 ล้านคน
ส่วนโครงการที่น่าจะสัมฤทธิผลรองลงมาคือ โครงการ “คนละครึ่ง” เพราะมีลักษณะกึ่งการแจกเงินเหมือนกัน แต่เป็นการแจกเงินในรูปแบบที่รัฐช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่งของการใช้จ่ายสำหรับสินค้าที่ดำรงชีวิตประจำวัน โดยผู้เข้าโครงการจะได้รับเงินอุดหนุนสูงสุด 3,000 บาทต่อคน จากยอดใช้จ่าย 6,000 บาท ซึ่งเสมือนกับว่าผู้ใช้จ่ายได้เงินกลับคืนมา 50%
สำหรับโครงการ “คนละครึ่ง” ไม่ได้คาดหวังว่าจะมียอดใช้จ่ายเต็มจำนวน เพราะหากดูโครงการในอดีตเมื่อปลายปี 62 อย่างโครงการ “ชิมช้อปใช้” ที่ให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยผ่าน G-Wallet 2 เพื่อรับเงินคืนสูงสุด 20% ก็มีผู้ใช้สิทธิไม่ถึงครึ่งหนึ่ง แม้โครงการคนละครึ่งจะได้เงินกลับคืนมาสูงกว่า 50% น่าจะช่วยสร้างแรงจูงใจในการใช้จ่ายมากกว่า แต่ประชาชนยังต้องควักเงินในกระเป๋าออกเองครึ่งหนึ่งอยู่ดี
ระบุ ช้อปดีมีคืน อาจมีเม็ดเงินใช้จ่ายไม่ถึงเป้า 1.1 แสนล้านบาท
โครงการ “ช้อปดีมีคืน” นั้นเป็นไปได้ยากที่จะก่อให้เกิดเม็ดเงินใช้จ่ายถึง 111,000 ล้านบาท ตามที่รัฐตั้งเป้าหมายไว้ เพราะแรงจูงใจในการใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับอัตราภาษีเงินได้ของแต่ละบุคคลที่ต้องเสียภาษี ตั้งแต่อัตราภาษีที่เสีย 5% ไปจนถึงอัตราสูงสุดที่ 35% ดังนั้น ผู้ใช้จ่ายจะ “ได้เงินคืนกลับมา 5-35%” ตามแต่ขั้นของอัตราภาษีเงินได้ของผู้ใช้จ่าย หรือคิดเป็นเงินได้กลับคืนมาสูงสุด 1,500-10,500 บาท ของแต่ละขั้นอัตราภาษีจ่าย
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากข้อมูลจำนวนผู้เสียภาษีในแต่ละฐานอัตราภาษีในปี 58 พบว่า มีผู้ต้องเสียภาษีในอัตรา 5% และ 10% จำนวนประมาณ 2.5 ล้านคน ซึ่งคนกลุ่มนี้หากเข้าร่วมมาตรการและใช้จ่ายเต็มจำนวนที่ 30,000 บาทจะได้รับเงินคืนคิดเป็น 1,500 บาท และ 3,000 บาท ตามลำดับเท่านั้น จะเห็นได้ว่าจำนวนเงินที่ได้กลับคืนมานั้นไม่เกินกว่าจำนวนเงินที่รัฐช่วยออกให้สูงสุด 3,000 บาทภายใต้โครงการคนละครึ่ง
และจากการที่รัฐกำหนดให้เลือกรับสิทธิในโครงการใดโครงการหนึ่งหนึ่งเท่านั้น อาจทำให้คนในกลุ่มดังกล่าวอาจเกิดความลังเลที่จะเลือกเข้าร่วมมาตรการช้อปดีมีคืน แต่เลือกเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งมากกว่า (ตอนนี้มีผู้ลงทะเบียนขอรับสิทธิโครงการคนละครึ่งแล้ว 6.6 ล้านคน จากที่เปิดรับทั้งหมด 10 ล้านคน) เพราะได้รับเงินคืนกลับมาสูงสุดที่ 3,000 บาทเหมือนกัน แต่ใช้จ่ายสูงสุดเพียงแค่ 6,000 บาทเท่านั้น และเป็นการใช้จ่ายในสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และผู้บริโภคยังต้องระมัดระวังในเรื่องของการใช้จ่ายอยู่
ดังนั้น คงต้องลุ้นกันมากพอสมควรที่จะให้การใช้จ่ายภายใต้โครงการช้อปดีมีคืนเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐตั้งเป้าไว้ถึง 1 แสนกว่าล้านบาท อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยทั้ง 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ช่วยให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยคึกคักขึ้นในไตรมาส 4/63 และส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยเล็กน้อย จากปัจจุบันมองว่าเศรษฐกิจปี 63 จะติดลบที่ระดับ 8%
ส่วนในปี 2564 หลังมาตรการกระตุ้นการบริโภคสิ้นสุดลงแล้ว มีความเป็นไปได้สูงว่าประชาชนอาจกลับมาระมัดระวังการใช้จ่ายภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า หลังจากที่ได้มีการเร่งใช้จ่ายไปแล้วในช่วงก่อนหน้าเพื่อรับสิทธิประโยชน์จากมาตรการข้างต้น ประกอบกับตลาดแรงงานที่ยังเปราะบางอยู่มาก โดยในไตรมาสที่ 2/ 63 มีผู้ว่างงานชั่วคราว (ผู้มีงานทำแต่ไม่ได้ทำงาน) สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 2 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 6% ของกำลังแรงงานทั้งหมด อีกทั้งเรื่องของการเมืองที่ดูมีความระอุมากขึ้น เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะเข้ามาซ้ำเติมเศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่แล้วได้