ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ ชี้ 3 มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐช่วยหนุน GDP ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยประเมินมาตรการเพิ่มเงินให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ผลมากที่สุด ขณะที่มาตรการช้อปดีมีคืน อาจวืดเป้า 1.11 แสนล้านบาท
นายธรรมรัตน์ กิตติสิริพัฒน์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ หรือ TISCO ESU เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศผ่าน 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการ “คนละครึ่ง” วงเงินประมาณ 30,000 ล้านบาท 2.โครงการ “เพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” วงเงิน 21,000 ล้านบาท และ 3.โครงการ “ช้อปดีมีคืน” โดยให้ประชาชนนำเงินที่ใช้จ่ายในสินค้าและบริการมาหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) คาดว่าโครงการที่น่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินใช้จ่ายใกล้เคียงกับงบประมาณที่รัฐตั้งเป้าไว้มากที่สุด คือ โครงการ “เพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ขณะที่โครงการ “ช้อปดีมีคืน” อาจทำได้ไม่ถึงเป้าที่รัฐคาดหวังไว้
“TISCO ESU คาดว่า โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐน่าจะสัมฤทธิผลมากที่สุด เพราะเสมือนเป็นเงินฟรี หรือ “เงินให้เปล่า 100%” จากรัฐบาล ที่แจกให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้น้อยจำนวน 14 ล้านคน ขณะที่โครงการที่น่าจะสัมฤทธิผลรองลงมาคือ โครงการ “คนละครึ่ง” เพราะมีลักษณะกึ่งการแจกเงินเหมือนกัน แต่เป็นการแจกเงินในรูปแบบที่รัฐช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่งของการใช้จ่ายสำหรับสินค้าที่ดำรงชีวิตประจำวัน โดยผู้เข้าโครงการจะได้รับเงินอุดหนุนสูงสุด 3,000 บาทต่อคน จากยอดใช้จ่าย 6,000 บาท ซึ่งเสมือนกับว่าผู้ใช้จ่าย “ได้เงินกลับคืนมา 50% (cash back)” นายธรรมรัตน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการ “คนละครึ่ง” ทางศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ ก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะมียอดใช้จ่ายเต็มจำนวน เพราะหากดูโครงการในอดีตเมื่อปลายปี 2562 อย่างโครงการ “ชิมช้อปใช้” ที่ให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยผ่าน G-Wallet 2 เพื่อรับเงินคืนสูงสุด 20% ก็มีผู้ใช้สิทธิไม่ถึงครึ่งหนึ่ง แม้โครงการคนละครึ่งจะได้เงินกลับคืนมาสูงกว่า 50% น่าจะช่วยสร้างแรงจูงใจในการใช้จ่ายมากกว่า แต่ประชาชนยังต้องควักเงินในกระเป๋าออกเองครึ่งหนึ่งอยู่ดี ทำให้ความสัมฤทธิผลคงไม่เทียบเท่ากับโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่รัฐเป็นผู้ควักเงินในกระเป๋าออกมาให้ใช้จ่ายแทนทั้งหมด
สำหรับโครงการ “ช้อปดีมีคืน” นั้นเป็นไปได้ยากที่จะก่อให้เกิดเม็ดเงินใช้จ่ายถึง 111,000 ล้านบาท ตามที่รัฐตั้งเป้าหมายไว้ เพราะแรงจูงใจในการใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับอัตราภาษีเงินได้ของแต่ละบุคคลที่ต้องเสียภาษี ตั้งแต่อัตราภาษีที่เสีย 5% ไปจนถึงอัตราสูงสุดที่ 35% ดังนั้น ผู้ใช้จ่ายจะ “ได้เงินคืนกลับมา 5-35%” ตามแต่ขั้นของอัตราภาษีเงินได้ของผู้ใช้จ่าย หรือคิดเป็นเงินได้กลับคืนมาสูงสุด 1,500-10,500 บาท ของแต่ละขั้นอัตราภาษีจ่าย
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากข้อมูลจำนวนผู้เสียภาษีในแต่ละฐานอัตราภาษีในปี 2558 พบว่า มีผู้ต้องเสียภาษีในอัตรา 5% และ 10% จำนวนประมาณ 2.5 ล้านคน ซึ่งคนกลุ่มนี้หากเข้าร่วมมาตรการและใช้จ่ายเต็มจำนวนที่ 30,000 บาทจะได้รับเงินคืนคิดเป็น 1,500 บาท และ 3,000 บาท ตามลำดับเท่านั้น จะเห็นได้ว่าจำนวนเงินที่ได้กลับคืนมานั้น ไม่เกินกว่าจำนวนเงินที่รัฐช่วยออกให้สูงสุด 3,000 บาทภายใต้โครงการคนละครึ่ง และจากการที่รัฐกำหนดให้เลือกรับสิทธิในโครงการใดโครงการหนึ่งหนึ่งเท่านั้น อาจทำให้คนในกลุ่มดังกล่าวอาจเกิดความลังเลที่จะเลือกเข้าร่วมมาตรการช้อปดีมีคืน แต่เลือกเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งมากกว่า (ตอนนี้มีผู้ลงทะเบียนขอรับสิทธิโครงการคนละครึ่งแล้ว 6.6 ล้านคน จากที่เปิดรับทั้งหมด 10 ล้านคน) เพราะได้รับเงินคืนกลับมาสูงสุดที่ 3,000 บาทเหมือนกัน แต่ใช้จ่ายสูงสุดเพียงแค่ 6,000 บาทเท่านั้น และเป็นการใช้จ่ายในสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และผู้บริโภคยังต้องระมัดระวังในเรื่องของการใช้จ่ายอยู่
ขณะที่มีจำนวนผู้เสียภาษีที่เหลืออีกเพียงประมาณ 1 ล้านคนเศษเท่านั้น ที่ต้องเสียภาษีในอัตราตั้งแต่ 15% ขึ้นไป หากสมมติให้คนกลุ่มนี้ใช้จ่ายเงินเต็มที่ที่ 30,000 บาท เพื่อนำไปหักภาษี ก็จะก่อให้เกิดเม็ดเงินใช้จ่ายเพียง 30,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น คงต้องลุ้นกันมากพอสมควรที่จะให้การใช้จ่ายภายใต้โครงการช้อปดีมีคืนเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐตั้งเป้าไว้ถึง 1 แสนกว่าล้านบาท อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยทั้ง 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ช่วยให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยคึกคักขึ้นในไตรมาส 4/2563 และส่งผลบวกต่อ GDP เล็กน้อย จากปัจจุบันมองว่า GDP ปี 2563 จะติดลบที่ระดับ 8%
ส่วนในปี 2564 หลังมาตรการกระตุ้นการบริโภคสิ้นสุดลงแล้ว มีความเป็นไปได้สูงว่าประชาชนอาจกลับมาระมัดระวังการใช้จ่ายภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า หลังจากที่ได้มีการเร่งใช้จ่ายไปแล้วในช่วงก่อนหน้าเพื่อรับสิทธิประโยชน์จากมาตรการข้างต้น ประกอบกับตลาดแรงงานที่ยังเปราะบางอยู่มาก โดยในไตรมาสที่ 2/2563 มีผู้ว่างงานชั่วคราว (ผู้มีงานทำแต่ไม่ได้ทำงาน) สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 2 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 6% ของกำลังแรงงานทั้งหมด อีกทั้งเรื่องของการเมืองที่ดูมีความระอุมากขึ้น เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะเข้ามาซ้ำเติมเศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่แล้วได้