ธนาคารกรุงไทย (KTB) แจ้งกำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2563 จำนวน 3,057 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 51.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 6,354 ล้านบาท และในรอบ 9 เดือน มีกำไรสุทธิ 13,279 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 39.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 21,825 ล้านบาท โดยธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานช่วง 9 เดือนปี 2563 เท่ากับ 54,149 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ไตรมาส 3 กำไรจากการดำเนินงาน เท่ากับ 16,572 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.0 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจากรายได้ดอกเบี้ยพิเศษ ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานลดลง โดยธนาคารได้ตั้งสำรองเพื่อเสริมระดับ Coverage ratio รองรับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 3/2563 เท่ากับ 16,572 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.0 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นจากรายได้ดอกเบี้ยพิเศษ นอกเหนือจากการบริหารจัดการทางการเงิน ท่ามกลางสภาวะดอกเบี้ยขาลง ประกอบกับรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายพิเศษจากการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงาน ในไตรมาส 3/2562 ส่งผลให้ Cost to Income ratio ลดลงเป็นร้อยละ 45.3 จากร้อยละ 53.0 ในไตรมาส 3/2562
ธนาคารได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 12,414 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 103.6 เมื่อเทียบกับการตั้งสำรองในไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ส่งผลให้กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร ลดลงเป็น 3,057 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 51.9
ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงาน 9 เดือนปี 2563 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเท่ากับ 68,023 ล้านบาท ขยายตัวขึ้นร้อยละ 0.6 ท่ามกลางสภาวะดอกเบี้ยนโยบายที่ถูกปรับลดจนต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีสาเหตุหลักจากการได้รับรายได้ดอกเบี้ยพิเศษ นอกเหนือจากการบริหารจัดการทางการเงิน จึงช่วยลดผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ นอกจากนี้ รายได้จากการดำเนินงานอื่นเติบโตร้อยละ 13.3 และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงร้อยละ 13.8 จากรายการพิเศษสำรองด้อยค่าทรัพย์สินรอการขาย และการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ Cost to Income ลดลงเป็นร้อยละ 42.2 จากร้อยละ 48.8 ในช่วงเดียวกันของปี 2562
อย่างไรก็ตาม จากการพิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ ประมาณการภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างรุนแรงและมีความไม่แน่นอน ที่อาจส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อ ธนาคารจึงได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 35,649 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 87.7 จากค่าใช้จ่ายสำรองในช่วงเดียวกันของปี 2562 ส่งผลให้มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 13,279 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 39.2 ขณะที่อัตราส่วน Coverage Ratio เพิ่มระดับขึ้นเป็นร้อยละ 135.6 จากร้อยละ 131.8 และ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 มี NPLs Ratio-Gross ที่ร้อยละ 4.21 ลดลงจากร้อยละ 4.33 โดยธนาคารยังคงให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงเกณฑ์ของ ธปท.ในการผ่อนปรนการจัดชั้นลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการชั่วคราว
ณ 30 กันยายน 2563 ธนาคารมียอดสินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิ 2,149,620 ล้านบาท โดยธนาคาร (งบการเงินเฉพาะ) มีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 15.01 และอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยงที่ร้อยละ 18.42 ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ ในเดือนตุลาคม 2563 ธนาคารและบริษัทย่อยได้จัดตั้งบริษัท อินฟินิธัส บาย กรุงไทย จำกัด (Infinitas by Krungthai) เป็นบริษัทย่อยเพิ่มเติม เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ ให้บริการด้านการพัฒนา Innovation & Digital Platform เพื่อเข้าสู่ Open Banking, Virtual Digital Banking Service รวมถึง New Business Model อย่างเต็มรูปแบบ