ผู้ว่าฯ ธปท.หว่งหนี้ครัวเรือนยังพุ่ง ไตรมาส 2 อยู่ที่ 83.8% จากผลกระทบของโควิด-19 ทำรายได้ครัวเรือนลด ภาคบริการกระทบหนัก หลายฝ่ายต้องช่วยกันดูแลภาคครัวเรือนให้สารถชำระหนี้ได้
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานมหกรรมทางการเงิน ครั้งที่ 20 ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงต้นปีนี้ ได้ซ้ำเติมความเปราะบางทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และมีผลกระทบโดยเฉพาะต่อรายย่อย ทำให้ครัวเรือนประสบปัญหาการขาดรายได้ ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง สถานการณ์โควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะจบลงอย่างไร โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ความไม่แน่นอนนี้จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในหลายปีที่ผ่านมา 1 ใน 3 ของคนไทยในปัจจุบันมีภาระหนี้สูง จนกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งการอุปโภคบริโภค โดยการศึกษาของธปท.พบว่า คนไทยเป็นหนี้เร็ว เริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยกว่าครึ่งหนึ่งของคนอายุ 30-40 ปี เป็นหนี้ โดยมากเกิดจากหนี้ส่วนบุคคล หรือหนี้บัตรเครดิต
คนไทยเป็นหนี้นาน โดย 80% ของหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นในระยะเวลา 9 ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ถึง 2561) มาจากผู้กู้รายเดิม และ 1 ใน 5 ของคนหลังเกษียณยังเป็นหนี้ โดยคนช่วงอายุ 61-65 ปี มีหนี้เฉลี่ยสูงกว่าแสนบาท
หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากประมาณ 80% ต่อ GDP เมื่อสิ้นปี 2562 มาอยู่ที่ 83.8% ต่อ GDP ในไตรมาส 2 ของปีนี้ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบ เพื่อให้ภาคครัวเรือนสามารถผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปได้ ซึ่งพิจารณาตามสถานะของลูกหนี้ที่แตกต่างกัน
สำหรับลูกหนี้ที่มีปัญหาระยะสั้นที่ต้องการสภาพคล่องเป็นการชั่วคราว มาตรการที่เหมาะสมกับลูกหนี้กลุ่มนี้ เช่น พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวด และการลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำจาก 10% เหลือ 5% สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีวงเงินหมุนเวียน
สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบระยะยาว ธปท. ส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ เปลี่ยนสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งเป็นสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว (term loan) รวมถึงโครงการคลินิกแก้หนี้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้แก่กลุ่มครัวเรือนที่รายได้ลดลงเมื่อกลับมาทำงานภายหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง
อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ส่งผลให้ที่ผ่านมา ธปท. จึงร่วมกับสถาบันการเงินในการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งลูกหนี้บางกลุ่มมีชั่วโมงการทำงานที่ลดลง หรือถูกเลิกจ้าง จึงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้
การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน จะไม่ใช่การปูพรมและช่วยเหลือเป็นการทั่วไป เนื่องจากเป็นสิ่งที่ไม่ดีสำหรับลูกหนี้ และไม่ได้เป็นทางออกในการแก้ไขปัญหา เพราะการพักหนี้นั้นเป็นการพักเงินต้น แต่ในด้านอัตราดอกเบี้ยยังคงเดินอยู่ ดังนั้น มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จะเน้นเป็นกลุ่มตามความจำเป็น
มาตรการด้านการคลังเป็นผู้นำในการดูแลเศรษฐกิจ เพราะทุกฝ่ายมีบทบาทที่จะต้องช่วยกัน ร่วมมือกัน ทุกวันนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นกระทบต่อเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวติดลบสูง ซึ่งเป็นปัญหาการจ้างงานเป็นหลัก ส่วนการส่งออก 3 กลุ่มหลัก คือ อิเล็กทรอนิกส์ ยายยนต์ คิดเป็น 50% ของการส่งออกทั้งหมด แต่มีการจ้างงานแค่ 4% ดังนั้น ภาคบริการจึงน่าหว่งต่อหนี้ครัวเรือนมากที่สุด ดังนั้น การจะทำให้อุปสงค์กลับมานั้น ภาครัฐจะเป็นบทบาทสำคัญ ขณะที่ ธปท.จะมีบทบาทในการสนับสนุนดูแลในเรื่องการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดอกเบี้ย สภาพคล่องโดยรวม สภาวะในตลาดการเงินโดยรวม เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ