ผู้ว่าฯ ธปท.หนุนปรับโครงสร้างหนี้ บรรเทาภาระหนี้ครัวเรือน พร้อมเพิ่มภูมิคุ้มกัน ขณะที่ภาคครัวเรือนมีศักยภาพในการชำระหนี้ลดลงจากปัญหารายได้ที่ไม่เติบโตเท่าที่ควร
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางการเงินของคนไทย ทำให้มีภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น โดยล่าสุด สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยในไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 83.8% ต่อจีพีดี หรือคิดเป็นมูล่า 13.58 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 62 ที่อยู่ในระดับ 80% ต่อจีดีพี หรือคิดเป็นมูลค่า 13.49 ล้านล้านบาท และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"สถานการณ์โควิด-19 ทำให้สุขภาพการเงินของคนไทยอ่อนแอมากขึ้น จากการลดชั่วโมงการทำงาน การถูกเลิกจ้าง ส่งผลทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวในการเปิดงานมหกรรมการเงิน Money Expo 2020
ทั้งนี้ จากแนวโน้มหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ ธปท.ได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินในการออกมาตรการช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนที่เป็นลูกหนี้สามารถก้าวผ่านวิกฤตไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย การลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำของสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ดี ในระยะยาวจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับรูปแบบของสินเชื่อระยะสั้นเป็นระยะยาว ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 ขณะเดียวกัน การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยั่งยืนจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง และส่งเสริมความรู้ทางการเงินควบคู่ไปด้วย
ผู้ว่าฯ ธปท. ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมในภายหลังว่า ภาคครัวเรือนมีศักยภาพในการชำระหนี้ลดลงจากปัญหารายได้ที่ไม่เติบโตเท่าที่ควร หลังจากจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ลดลง ภาวะการจ้างงานที่ยังไม่กลับไปสู่ปกติ ส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจึงยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี หรือราวไตรมาส 3/65 กว่าที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะกลับมาเท่ากับข่วงก่อนที่เกิดโควิด
"ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น คือ รายได้ครัวเรือนที่ถูกกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวนชั่วโมงการทำงานลดลง จึงกระทบรายได้ และกระทบความสามารถในการชำระหนี้" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
พร้อมระบุว่า ปัญหาที่เห็นในขณะนี้คืออุปสงค์หายไปมากจากภาคท่องเที่ยวและการส่งออก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่หายไปค่อนข้างมาก การจะทำให้อุปสงค์กลับมาก็ต้องมาจากการบริโภค การลงทุน ซึ่งหน้าที่นี้เป็นบทบาทของภาครัฐ กระทรวงการคลัง ตลอดจนธนาคารพาณิชย์ แต่ในส่วนที่ ธปท.ทำได้ คือการสร้างความมั่นใจให้แก่ระบบสถาบันการเงินว่ายังมีความเข้มแข็งและมีเสถียรภาพ
"หน้าที่ ธปท.ไม่ใช่การไปสร้างถนนหนทาง กองหน้า คือ ภาครัฐ กระทรวงการคลัง บริษัทเอกชน หรือธนาคารพาณิชย์ที่ต้องช่วยปล่อยสินเชื่อ หน้าที่ของ ธปท.คือ เมกชัวร์ว่าระบบทำงาน สภาพคล่องเพียงพอ เพื่อให้กองหน้าทำงานได้ แต่ไม่ได้หมายความว่ากองหลังไม่ทำงาน เราต้องทำงานร่วมกัน แต่บทบาทต่างกันไป เราต้องเมกชัวร์ว่าระบบสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อได้ มีเสถียรภาพที่จะให้เอกชนและภาคครัวเรือนเดินต่อไปได้" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ส่วนมาตรการที่จะช่วยออกมาแก้ปัญหานั้น ยืนยันว่า ธปท.กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อให้เกิดความเหมาะสมมากที่สุด ซึ่งต้องไม่ใช่มาตรการให้ความช่วยเหลือในลักษณะเหมือนปูพรม หรือเหมาเข่งเพราะไม่ใช่ทางออกที่ดี แต่มาตรการให้ความช่วยเหลือจะต้องตรงจุดและครบถ้วน มีการแยกแยะลูกหนี้ได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย
"จำเป็นอยู่แล้วที่จะต้องออกมาตรการเพิ่ม แต่จะออกเมื่อไรนั้น เรากำลังดูอย่างเคร่งครัด ดูความเหมาะสม เพราะวิกฤตรอบนี้ใช้เวลานาน และมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้น มาตรการต่างๆ ที่ออกมาต้องยืดหยุ่น ครบถ้วน ครบวงจร เราดูตลอดเวลา ไม่ได้ละเลย บางเรื่องต้องแก้เร็ว เรื่องที่สำคัญคือ การดูแลการปรับโครงสร้างหนี้" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ