เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นำผู้ป่วย-ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก สปสช.ได้ยกเลิกสัญญาการให้บริการบัตรทองใน กทม.กว่า 190 แห่ง ยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาและสั่งการตั้ง กก.สอบ
วันนี้ (6 ต.ค.) เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ ทำเนียบรัฐบาล นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้นำผู้ป่วยและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ได้ยกเลิกสัญญาการให้บริการบัตรทองของสถานพยาบาลต่างๆ ใน กทม.กว่า 190 แห่ง หลังจากตรวจพบการทุจริตการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเป็นจำนวนมาก กระทบประชาชนรวมกว่า 2 ล้านคนนั้น
ทั้งนี้ ชาวบ้านและหรือผู้ป่วยบัตรทองทั่วกรุงเทพมหานคร รวมทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลต่างๆ จำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของ สปสช.ในการยกเลิกสัญญาดังกล่าว เห็นว่าการดำเนินการของ สปสช.มีข้อพิรุธ และมีข้อสงสัยในความโปร่งใสหลายประการ โดยเฉพาะยังไม่ปรากฏว่าจะมีการสอบสวนเอาผิดผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ สปสช.ที่มีส่วนร่วมหรือรู้เห็นการทุจริตบัตรทองแต่อย่างใด มีแต่ปล่อยข่าวเล่นงานเฉพาะสถานพยาบาลต่างๆ ประหนึ่งจะกลบเกลื่อนความผิดของพวกพ้องกันเอง จึงได้นำความมายังร้องนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาสั่งการ ดังนี้
1) ขอให้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ม.11(6) เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษ ขึ้นมาเพื่อดำเนินการตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะผู้บริหาร ผู้บริหาร และพนักงานเจ้าหน้าที่ของ สปสช.ที่มีพฤติการณ์ หรือการกระทำในลักษณะที่เอื้อประโยชน์ให้แก่สถานพยาบาลทั้ง 190 แห่ง หรือมากกว่านั้น ที่มีการตรวจพบการทุจริตการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ตามการแถลงของ สปสช.ผ่านสื่อมวลชน
2) สั่งการให้รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ใช้อำนาจตาม ม.18 (7) แห่งพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ในการปรับปรุงแก้ไขการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ในการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้น จากการสวมสิทธิ์หรือแอบอ้างสิทธิ์ของผู้รับบริการ เพื่อนำไปดำเนินการการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และค่าเสียหายที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรับการบริการยังสถานบริการแห่งใหม่ที่มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น และเสียเวลามากขึ้นด้วย ทั้งนี้ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย และ 3) สั่งการให้ประธานบอร์ด สปสช.ใช้อำนาจตาม ม.18(11) แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ในการปรับปรุงแก้ไขการกำหนดหลักเกณ์เพื่อ “แยกปลาออกจากน้ำ” เกี่ยวกับการลงโทษปรับทางปกครอง และเพิกถอนการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการต่างๆ ให้มีรายละเอียดการลงโทษที่ชัดเจนและมีพยานหลักฐานที่เชื่อถือได้ มิใช่การเหมาเข่ง โดยที่หน่วยบริการที่ถูกผลของคำสั่งมิได้ชี้แจง หรืออุทธรณ์ ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 ทั้งนี้ ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย