xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.หนุนคลังขับเคลื่อนศก.-ชี้นโยบายการเงินถึงทางตัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 - ผู้ว่าฯ ธปท. ยอมรับวิกฤตโควิด-19 ถ่วงเศรษฐกิจไทยติดลบยาว ก่อนจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 2/64 ขณะที่มาตรการทางการเงินถึงทางตันที่จะใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หนุนใช้มาตรการการคลังแทน พร้อมแนะแก้ปัญหาให้ตรงจุดแทนการปูพรม ขณะที่ม็อบฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน-นักท่องเที่ยว ติดตามใกล้ชิด ด้าน กกร. แนะลูกหนี้เอสเอ็มอีติดต่อธนาคาร ขอยืดเวลาพักชำระหนี้ หลังวิกฤตโควิด-19 ยืดเยื้อ

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึง ทิศทางการขยายทางเศรษฐกิจหลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า เศรษฐกิจไทยจะยังคงติดลบต่อเนื่องไปถึงต้นปี 64 ก่อนจะพลิกฟื้นกลับมาเป็นบวกประมาณไตรมาส 2/64 ซึ่งในปี 63 คาดว่าเศรษฐกิจจะติดลบประมาณ -7.8%-8.0% และแต่คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับคืนมาเหมือนเดิมช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงไตรมาส 3/65 โดยการแก้ไขปัญหาจะต้องปรับจากการปูพรมมาแก้ให้ตรงจุดมากขึ้น

ส่วนการการบริหารนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ว่า จะต้องดูถึงสาเหตุและปัจจัยรอบด้าน เนื่องจากปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงิน มีทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ซึ่งจากข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท 85% มีผลมาจากปัจจัยของทิศทางค่าเงินสกุลหลัก เช่น ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินสกุลหลักในภูมิภาค โดยมีเพียง 15% เท่านั้นที่มาจากปัจจัยในประเทศ

อย่างไรก็ดี การที่เงินบาทแข็งค่ากว่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงถึง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ทั้งนี้ พบว่าในต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ต่างก็มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงเช่นกัน แต่ค่าเงินก็ไม่ได้แข็งมาก ซึ่งเป็นเพราะมีการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนในลักษณะของ Recycle Flow ที่ทำให้เงินออกไปต่างประเทศมากขึ้น เช่น การลงทุนในต่างประเทศ

สำหรับประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตนโยบายการเงินมาถึงทางตัน ในการช่วยดูแลปัญหาเศรษฐกิจของประเทศหรือยังนั้น นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนอกจากจะอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว และต่ำสุดในภูมิภาคด้วย ทำให้มีข้อจำกัด ดังนั้น จำเป็นต้องมาตรการทางการคลังเป็นหลักในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่ ธปท.คำนึงถึง คือ จะต้องให้เรื่องของดอกเบี้ย สภาพคล่องทางการเงิน และสภาวะตลาดเงินโดยรวม ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

"การจะให้มาตรการการเงินเป็นตัวขับเคลื่อน หรือเป็นตัว drive คงเป็นไปไม่ได้ การที่ภาคท่องเที่ยว การบริโภค ซึ่งเป็นดีมานด์ที่หายไปจากประเทศไทยนั้น จะให้ฝั่งนโยบายการเงินหาดีมานด์มาทดแทน คงไม่ใช่ ถ้าเปรียบกับทีมฟุตบอลแล้ว นโยบายการเงินไม่ใช่กองหน้า แต่เราเป็นกองหลัง ซึ่งมีความสำคัญมาก แต่เราก็มีข้อจำกัด เพราะทีมฟุตบอลถ้ากองหลังไม่แข็ง เตะอย่างไรก็แพ้ เราต้องเมคชัวร์ในเรื่องต่างๆ แต่จะให้ทีมชนะเพราะกองหลัง ก็คงไม่ใช่อีก มันต้องมีการประสานกัน และอาศัยเครื่องมืออื่นๆ มาช่วยด้วยในยามนี้ คงไม่เฉพาะไทยเอง แต่ประเทศอื่นๆ ก็คงเช่นกัน" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว

ส่วนปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการชุมนุมขณะนี้ ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวว่า คงจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าจะยืดเยื้อหรือไม่ ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และนักท่องเที่ยว

ในวันเดียวกันนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดย นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ร่วมแถลงข่าวโครงการพักชำระหนี้แก่ผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งกำลังละสิ้นสุดลงในวันที่ 22 ต.ค.นี้

จากข้อมูลของธปท. มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1.05 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 1.35 ล้านล้านบาท โดยแบ่ง 4 กลุ่มคือ 1.กลุ่มที่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติหลังหมดมาตรการ ซึ่งธนาคารประเทศไทย ประมาณว่ามีถึงร้อยละ 60 กว่า ของยอดหนี้ที่เข้าข่ายในการเข้าร่วมโครงการ2.กลุ่มที่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจแต่ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งหลังหมดโครงการธปท. จะให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งธปท.ประมาณว่ามี ร้อยละ 20 กว่า ของยอดหนี้ที่เข้าข่ายในการเข้าร่วมโครงการ

3.กลุ่มที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ ซึ่งหลังหมดโครงการ ธปท.จะให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้พิจารณาขยายระยะเวลาการชำระหนี้เป็นรายกรณี ได้อีกไม่เกิน 6 เดือนนับจากสิ้นปี 2563 ซึ่งประมาณว่ามีร้อยละ 10 ของยอดหนี้ที่เข้าข่ายในการเข้าร่วมโครงการ 4.กลุ่มที่ขาดการติดต่อกับสถาบันการเงิน ซึ่งคาดว่ามีประมาณร้อยละ 6 ของยอดหนี้ที่เข้าข่ายที่สามารถเข้าร่วมโครงการ


กำลังโหลดความคิดเห็น