นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในโอกาสพบปะสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการครั้งแรกว่า เศรษฐกิจไทยจะยังคงติดลบต่อเนื่องในไตรมาส 4/63 ไปถึงต้นปี 64 ก่อนจะพลิกฟื้นกลับมาเป็นบวกราวในไตรมาส 2/64 แต่คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับคืนมาเหมือนเดิมช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ในราวไตรมาส 3/65 โดยมองว่าการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จะต้องปรับจากการปูพรมมาแก้ให้ตรงจุดมากขึ้น
ทั้งนี้ นายเศรษฐพุฒิ คาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี 63 จะติดลบราว -7.8% ถึง -8.0%
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงการบริหารนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนว่า เป็นเรื่องที่ต้องสื่อสารและทำความเข้าใจ เนื่องจากการเคลื่อนไหวของค่าเงินไปในทิศทางใดนั้น ย่อมมีทั้งผู้ได้รับผลประโยชน์ และได้รับผลกระทบ ดังนั้น การตัดสินใจเรื่องการบริหารนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนจะต้องดูถึงสาเหตุและปัจจัยรอบด้าน เนื่องจากปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินมีทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ซึ่งจากข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท 85% มีผลมาจากปัจจัยของทิศทางค่าเงินสกุลหลัก เช่น ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินสกุลหลักในภูมิภาค โดยมีเพียง 15% เท่านั้นที่มาจากปัจจัยในประเทศ
อย่างไรก็ดี การที่เงินบาทแข็งค่ากว่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงถึง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ทั้งนี้ พบว่าในต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ต่างก็มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงเช่นกัน แต่ค่าเงินก็ไม่ได้แข็งมาก ซึ่งเป็นเพราะมีการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนในลักษณะของ Recycle Flow ที่ทำให้เงินออกไปต่างประเทศมากขึ้น เช่น การลงทุนในต่างประเทศ
"เกาหลี ไต้หวัน เขาก็เกินดุลสูง แต่ค่าเงินก็ไม่ได้แข็งมาก เป็นเพราะมีวิธีบริหารจัดการ recycle เงินให้กลับออกไปต่างประเทศ เราก็ต้องหาวิธีที่ทำให้เงินออกไปข้างนอก ให้นักลงทุนไทยทั้งสถาบันและรายย่อยนำเงินออกไปลงทุนได้มากขึ้นและสะดวกขึ้น ซึ่งถ้าเทียบกับต่างประเทศแล้วสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศของไทยยังน้อยมาก แนวทางก็คงต้องแก้ในเชิงโครงสร้าง" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
ส่วนที่มีการพูดถึงว่านโยบายการเงินมาถึงทางตันในการช่วยดูแลปัญหาเศรษฐกิจของประเทศหรือยังนั้น นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนอกจากจะอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว ยังถือว่าต่ำสุดในภูมิภาคด้วย จึงทำให้มี room ที่จำกัด ดังนั้นเห็นว่าในช่วงนี้บทบาทของมาตรการทางการคลังคงจะต้องเป็นหลักหรือเป็นพระเอกในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่สิ่งที่ ธปท.คำนึงถึงคือจะต้องให้เรื่องของดอกเบี้ย สภาพคล่องทางการเงิน และสภาวะตลาดเงินโดยรวม ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
"การจะให้มาตรการการเงินเป็นตัวขับเคลื่อน หรือเป็นตัว drive คงเป็นไปไม่ได้ การที่ภาคท่องเที่ยว การบริโภค ซึ่งเป็นดีมานด์ที่หายไปจากประเทศไทยนั้น จะให้ฝั่งนโยบายการเงินหาดีมานด์มาทดแทน คงไม่ใช่ แต่ต้องอาศัยเครื่องมืออื่นๆ เข้ามาช่วย ในขณะที่ฝั่งการเงิน จะต้องทำให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ถ้าเปรียบกับทีมฟุตบอลแล้ว นโยบายการเงินไม่ใช่กองหน้า แต่เราเป็นกองหลัง ซึ่งมีความสำคัญมาก แต่เราก็มีข้อจำกัด เพราะทีมฟุตบอลถ้ากองหลังไม่แข็ง เตะอย่างไรก็แพ้ เราต้องเมกชัวร์ในเรื่องต่างๆ แต่จะให้ทีมชนะเพราะกองหลัง ก็คงไม่ใช่อีก มันต้องมีการประสานกัน และอาศัยเครื่องมืออื่นๆ มาช่วยด้วยในยามนี้ คงไม่เฉพาะไทยเอง แต่ประเทศอื่นๆ ก็คงเช่นกัน" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
สำหรับมาตรการในส่วนที่ ธปท.ดูแลรับผิดชอบที่จะนำออกมาใช้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจนั้น ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุว่า ต้องใช้เวลาและอยู่ในระหว่างการพิจารณา เพื่อให้มาตรการที่จะออกมานี้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด พร้อมระบุว่าไม่ได้เป็นมาตรการที่เร่งด่วนที่ต้องรีบออกมา
"ยาที่จะออกมากำลังดูอยู่ ต้องใช้เวลา ไม่อยากทำอะไรออกมาเหมือนสักแต่คลอดมาตรการเป็นสีสัน อยาก Make sure ว่ายาที่ออกมาจะเหมาะสม เรากำลังดูอยู่ แต่ยืนยันว่าไม่ได้มีความเร่งด่วน" นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
ส่วนปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการชุมนุมขณะนี้ ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวว่า คงจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าจะยืดเยื้อหรือไม่ และสุดท้ายแล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ทั้งในแง่ของการบริโภค การลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยว
"สิ่งที่เรา concern คือเรื่องของการจัดการ บ้านเราชอบพูดเรื่องนโยบายเยอะ มาตรการเยอะ แต่โจทย์ที่เราเจอ และเป็นปัญหาบ่อยๆ คือเรื่องของการจัดการ ต้องดูสถานการณ์ต่อไป ความสามารถของเราในการรองรับ shock ต่างๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นมีอยู่สูง ไม่ว่าจะมิติของเสถียรภาพด้านต่างประเทศ ด้านเสถียรภาพการเงิน แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว