xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์กรุงเทพแจ้งกำไร 9 เดือน 14,783 ล้านบาท ลดลง 46.84% ตั้งสำรองเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิสำหรับ 9 เดือนของปี 2563 จำนวน 14,783 ล้านบาท ลดลง 46.84% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 27,813 ล้านบาท ทั้งนี้ ผลประกอบการดังกล่าวได้รวมผลประกอบการของธนาคารเพอร์มาตา ตั้งแต่วันที่ธนาคารเข้าถือหุ้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ส่วนกำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2563 จำนวน 4,017 ล้านบาท ลดลง 57.43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในระดับ 9,438 ล้านบาท

โดยกำไรสุทธิลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักเนื่องจากการตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นเงินสำรองสำหรับความไม่แน่นอนจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง

ส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 จากช่วงเดียวกันของปี 2562 เป็นผลจากการรวมรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเพอร์มาตา โดยมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.28 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงสาเหตุหลักจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิและรายได้จากเงินลงทุน สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 เป็นผลจากการรวมค่าใช้จ่ายของธนาคารเพอร์มาตา และประมาณการค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการควบรวมสาขาในประเทศอินโดนีเซีย ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 52.0

ทั้งนี้ ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจที่หดตัวทั่วโลก ธนาคารกรุงเทพยังคงยึดมั่นแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ ควบคู่กับการดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินที่ยั่งยืน และเตรียมพร้อมการรองรับการดำเนินธุรกิจตามบริบทใหม่ (New Normal)

ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,367,296 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.6 จากสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคล สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 4.1 ขณะที่ธนาคารยังคงรักษาความมั่นคงของอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตที่ร้อยละ 178.0 ทั้งนี้ ธนาคารยังคงให้ความสำคัญในการดูแลกระบวนการอำนวยสินเชื่อและบริหารความเสี่ยง ควบคู่กับการดำรงค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

ด้านเงินกองทุนและสภาพคล่อง ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 ธนาคารมีเงินรับฝากจำนวน 2,821,883 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.1 จากสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 83.9 สะท้อนถึงสภาพคล่องที่เพียงพอในการรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ในวันที่ 23 กันยายน 2563 ธนาคารออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารภายใต้หลักเกณฑ์ Basel III จำนวน 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเสริมสร้างโครงสร้างเงินกองทุนของธนาคารให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 17.6 ร้อยละ 15.1 และร้อยละ 14.2 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

สำหรับการเข้าถือหุ้นและการเข้าลงทุนเพิ่มเติมของธนาคารกรุงเทพเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 ธนาคารได้ดำเนินการจัดทำคำเสนอซื้อเพื่อเสนอซื้อหุ้นของธนาคารเพอร์มาตาจากผู้ถือหุ้นรายย่อย (Mandatory Tender Offer - MTO) ตามกฎเกณฑ์ของประเทศอินโดนีเซีย เสร็จสิ้นเรียบร้อย โดยธนาคารถือหุ้นในธนาคารเพอร์มาตาทั้งสิ้นร้อยละ 98.71 ของหุ้นที่ออกและชำระแล้วของธนาคารเพอร์มาตา และเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 ธนาคารกรุงเทพเข้าถือหุ้นสามัญในบริษัท บีเอสแอล ลีสซิ่ง จำกัด เพิ่มเติม จากเดิมมีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 35.9 เป็นร้อยละ 90.0 ทำให้บริษัทมีสถานะเป็นบริษัทย่อย

ทั้งนี้ ในไตรมาส 3 ปี 2563 เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน หลังรัฐบาลได้ทยอยผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) การส่งออกและการนำเข้าสินค้าของไทยได้ผ่านจุดต่ำสุด หลังจากธุรกิจทั่วโลกเริ่มกลับมาเปิดกิจการ สำหรับภายในประเทศ การผลิตภาคอุตสาหกรรม การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน ตลอดจนการท่องเที่ยวในประเทศค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น หลังจากประชาชนเริ่มกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ โดยรัฐบาลได้เร่งใช้จ่ายและออกมาตรการเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ ทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐขยายตัวและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ อย่างไรก็ตาม ในการฟื้นเศรษฐกิจ การระบาดรอบที่สองในหลายประเทศ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของประเทศไทยในระยะต่อไป

นอกจากนี้ รัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อผ่อนคลายผลกระทบเชิงลบทางเศรษฐกิจต่อประชาชนและผู้ประกอบการในหลายภาค ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ว่าบางมาตรการในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้จะทยอยสิ้นสุดลง ธปท. ได้หารือกับสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง ในการดูแลลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นระบบและเหมาะสมกับลูกหนี้แต่ละประเภท โดยธนาคารยังคงให้ความสำคัญในการดูแลกระบวนการอำนวยสินเชื่อและบริหารความเสี่ยงด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ รวมทั้งติดตามสถานการณ์ลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างใกล้ชิด และให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจนกว่าโควิด-19 จะคลี่คลาย พร้อมเป็น “เพื่อนคู่คิด” เพื่อให้สามารถก้าวข้ามวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น