ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การออก “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” ของแบงก์กรุงเทพ (BBL) คล้ายเป็นสัญญาณนกรู้คลื่นสึนามิหนี้เสียกำลังมา ต้องรีบก่อกำแพงตุนเงินทุนเสริมแกร่งรับศึกใหญ่ ตามมาด้วยแบงก์กสิกร (KBANK) ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อวันที่ 14 ตุลาฯ ตามรอย BBL ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกร วิเคราะห์ไตรมาส 3/2563 กำไรกลุ่มแบงก์วูบหนักกว่า 66% จากภาวะเศรษฐกิจหดตัวรุนแรง หนี้ด้อยคุณภาพพุ่ง นับเป็นโจทย์ใหญ่ที่ “ขุนคลัง” กับผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนใหม่ กุมขมับหาทาง “พักหนี้” ตามเสียงเรียกร้องภาคเอกชนขอยืดไปอีก 2 ปี รอธุรกิจฟื้นชีพ
แบงก์ใหญ่ขยับส่งสัญญาณพร้อมรับวิกฤตใหญ่ที่ยืดเยื้อ ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทย ได้ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงกรณีการออกและเสนอขายตราสารด้อยสิทธิให้แก่ผู้ลงทุนในต่างประเทศ ระบุว่า เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ธนาคารได้ดำเนินการออกตราสารทางการเงินที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคาร มีชื่อเฉพาะว่า “U.S.$5500,000,000 Additional Tier 1 Subordinated Notes” ภายใต้ U.S.$2,500,000,000 Euro Medium Term Note Programme เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของธนาคาร ซึ่งสภาพแวดล้อมของตลาดการระดมทุนในปัจจุบันเอื้ออำนวยให้ออกและเสนอขายตราสารและช่วยปรับโครงสร้างเงินทุนของธนาคารให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยเงินกองทุนในปัจจุบันของธนาคารยังคงเพียงพอในการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
ตราสารดังกล่าว ธนาคารกสิกรไทย สาขาฮ่องกง เป็นผู้ออก วงเงิน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จัดเครดิตเรทติ้งโดย Moody’s อยู่ที่ Baa1 เป็นประเภทตราสารทางการเงิน ประเภทด้อยสิทธิและไม่มีผู้ถือแทนผู้ถือตราสาร ที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมีข้อกำหนดให้ตราสารสามารถรองรับผลขาดทุนของธนาคารได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด
ส่วนอายุของตราสารไม่มีการกำหนด (Perpetual) หรือชั่วนิรันดร์ อัตราดอกเบี้ย 5.275% ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยทุก 6 เตือน และมีการ Reset อัตราดอกเบี้ยทุก ๆ 5 ปี ซึ่งธนาคารสามารถไถ่ถอนตราสารได้ครั้งแรกในวันที่ 14 ตุลาคม 2568 และครั้งต่อ ๆ ไป ทุกวันที่เป็นวันชำระผลตอบแทนของตราสารภายหลังจากนั้น โดยการไถ่ถอนต้องได้ความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน
การออกตราสารชั่วนิรันดร์ของกสิกร นับเป็นรายที่สอง จากก่อนหน้านี้ธนาคารกรุงเทพ นำร่องไปก่อนแล้ว ตามที่นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา ว่าธนาคารได้ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ที่เป็นตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ภายใต้ Global Medium Term Note Program วงเงิน 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดอกเบี้ย 5% ไม่มีกำหนดชำระคืน แต่ธนาคารมีสิทธิไถ่ถอนตราสารและปรับอัตราดอกเบี้ยหลังจาก 5 ปี เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันในต่างประเทศ โดยผู้ออกและเสนอขายตราสาร คือ ธนาคารกรุงเทพ สาขาฮ่องกง อันดับความน่าเชื่อถือ Ba1 (Moody’s)
ส่วนการชำระผลตอบแทน จะชำระผลตอบแทนปีละ 2 ครั้ง ทุกวันที่ 23 มีนาคม และ 23 กันยายนของทุกปี เริ่มต้นชำระผลตอบแทนงวดแรกในวันที่ 23 มีนาคม 2564 โดยธนาคารมีสิทธิเต็มที่ในการยกเลิกการจ่ายผลตอบแทนเมื่อใดก็ได้โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ
นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL บอกเหตุผลหลักๆ ในการออกตราสารดังกล่าวว่าเพื่อเสริมเงินกองทุนธนาคารต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ BIS เงินกองทุนขั้นที่ 1 ให้มีเพียงพอในระยะยาว ทั้งเพื่อรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในช่วง 2 ปีครึ่งข้างหน้า โดยเฉพาะผลกระทบจากโรคโควิด-19 ที่อาจยืดเยื้อ ทำให้อาจมีเอ็นพีแอลใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นในระบบมากขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้า ดังนั้น การมีเงินทุนที่แข็งแกร่งและอยู่ในระดับสูง จะสามารถเป็นเกราะป้องกันและช่วยรองรับความไม่แน่นอนและรองรับหนี้เสียที่จะเพิ่มขึ้นได้ โดยหากดูเงินกองทุนปัจจุบันของธนาคาร อยู่ที่ 17.5% และคาดว่าในสิ้นปีนี้ เงินกองทุนของธนาคารจะเพิ่มขึ้นได้อีกเป็น 18% ซึ่งถือเป็นตัวเลขระดับสูง และสามารถใช้ในการดำเนินธุรกิจธนาคารต่อเนื่องไปได้อีก 2-3 ปี หรือเพียงพอถึงปี 2565-2566
ทั้งนี้ แบงก์กรุงเทพ มั่นใจว่าลูกหนี้ของแบงก์ทั้งเอสเอ็มอีและรายย่อยส่วนใหญ่ เกิน 50% มีศักยภาพในการกลับมาชำระหนี้ได้แล้ว ส่วนจะเดินหน้าอุ้มลูกหนี้ต่อหลังหมดมาตรการช่วยเหลือหรือไม่แบงก์จะดูแลเป็นรายๆ ไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากบทวิเคราะห์ผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ในไตรมาส 3/2563 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังสะท้อนอาการน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยศูนย์วิจัยฯ คาดว่า กำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทย ในไตรมาส 3/2563 จะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 3.08 หมื่นล้านบาท หรือ -66.5% YoY เมื่อเทียบกับที่มีกำไรสุทธิสูงถึง 9.16 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 3/2562 ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง มีกำไรพิเศษจากการขายหุ้นในบริษัทประกันซึ่งธนาคารถือหุ้นอยู่
อย่างไรก็ดี กำไรสุทธิที่ระดับดังกล่าวขยับขึ้นเล็กน้อยประมาณ 3.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการกันสำรองฯ ในไตรมาส 3/2563 ของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งอาจชะลอลงบางส่วน หลังจากที่มีนโยบายการตั้งสำรองฯ เชิงรุกในระดับที่สูงมากในไตรมาส 2/2563 ที่ผ่านมา ขณะที่ “รายได้จากธุรกิจหลัก” ยังคงไม่ฟื้นตัวขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ที่โดนกระทบหนักจากวิกฤตโควิด-19
สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 4/2563 คาดว่า การประคองทิศทางรายได้และกำไรสุทธิ จะเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้น เนื่องจากต้องรับมือกับการจัดการปัญหาหนี้เสีย การดูแลปรับโครงสร้างลูกหนี้ ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ และอื่นๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นไปพร้อมกัน
ขณะที่สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทย อาจเติบโตในอัตราที่ชะลอลงมาที่ 4.5-4.8% YoY ในไตรมาส 3/2563 จาก 5.1% YoY ในไตรมาส 2/2563 เนื่องจากยังต้องประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกค้าที่มาขอสินเชื่อใหม่อย่างระมัดระวัง ประกอบกับมีการทยอยชำระคืนสินเชื่อของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่บางราย
ด้าน “คุณภาพสินเชื่อ” ในพอร์ตถดถอยลง ตามสัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจ คาดว่าสัดส่วน NPLs ของระบบธนาคารไทยในไตรมาส 3/2563 จะขยับขึ้นไปที่กรอบประมาณ 3.25-3.35% จากระดับ 3.21% ในไตรมาส 2/2563 เนื่องจากยังอยู่ในช่วงของมาตรการพักชำระหนี้ของภาคธุรกิจ ประกอบกับคาดว่า ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะเร่งจัดการปัญหาหนี้เสียในเชิงรุกมากขึ้น ทั้งด้วยวิธีการตัดขายหนี้ด้อยคุณภาพ และเร่งปรับโครงสร้างหนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การตั้งสำรองฯ จะยังอยู่ในระดับสูงในไตรมาส 3/2563 แม้จะมีการตั้งสำรองฯ ก้อนใหญ่ไปแล้วในไตรมาส 2/2563 ดังนั้นสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อ (Credit Cost) อาจชะลอลงเล็กน้อยมาอยู่ในกรอบประมาณ 1.80-1.95% ในไตรมาส 3/2563 เทียบกับ 2.15% ในไตรมาส 2/2563 ซึ่งธนาคารพาณิชย์ต่างๆ คงเตรียมความพร้อมในส่วนนี้ไว้เพื่อรองรับปัญหาคุณภาพหนี้ ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้นหลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทยอยสิ้นสุดลงหลังในเดือนตุลาคมนี้
อีกทั้งยังประเมินว่า เมื่อจบไตรมาส 3/2563 สินเชื่อที่ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์จะมีสัดส่วนประมาณ 28.5% ต่อสินเชื่อรวม ลดลงเล็กน้อยจากสัดส่วนประมาณ 31.0% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 2/2563 เนื่องจากลูกหนี้บางส่วนกลับมาชำระคืนหนี้ได้ตามปกติหลังมาตรการช่วยเหลือรอบแรกทยอยสิ้นสุดลง
“การประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้บุคคลและลูกหนี้ธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs หลังจากมาตรการพักหนี้สิ้นสุดลง ยังคงเป็นโจทย์ยากและมีความท้าทายสำหรับธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากลูกหนี้กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังมีสถานะทางการเงินที่เปราะบาง ขณะที่สัญญาณอ่อนแอทางเศรษฐกิจที่ลากยาวต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้กลุ่มนี้ได้อีกในอนาคต”
ดังนั้น แม้มาตรการพักชำระหนี้ธุรกิจเป็นการทั่วไปจะทยอยสิ้นสุดลง แต่ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะยังคงให้ความช่วยเหลือกับลูกหนี้ทั้งลูกหนี้ธุรกิจและลูกหนี้รายย่อยในรูปแบบอื่นต่อไป ควบคู่ไปกับการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ตามแนวทางของธนาคาร หรือผ่านโครงการ DR BIZ มาตรการรวมหนี้ ตลอดจนมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2 ซึ่งยังสามารถเข้าโครงการได้จนถึงสิ้นปี 2563
สำหรับในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาดว่าจะยังเป็นช่วงที่ธนาคารมีค่าใช้จ่ายรวมสูงกว่าไตรมาสอื่นๆ เพราะมีทั้งค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ที่น่าจะยังอยู่ในระดับสูง ค่าแคมเปญการตลาด ค่าอุปกรณ์และสถานที่ และรายจ่ายค่าธรรมเนียม ซึ่งท้ายที่สุด คาดว่าจะมีผลกดดันให้กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยติดลบ YoY ต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 โดยระดับกำไรสุทธิมีแนวโน้มลดต่ำลงกว่ากำไรสุทธิในไตรมาส 3/2563 ซึ่งคาดไว้ที่ประมาณ 3.08 หมื่นล้านบาท
ขณะที่แบงก์หาทางเสริมแกร่งและหาทางดูแลลูกหนี้ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปให้ได้ในช่วงเศรษฐกิจเปราะบางอย่างยิ่งนี้ ฟากฝั่งรัฐบาลโดยศูนย์การบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 (ศบศ.) ที่มีนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน ก็โยนโจทย์ยากให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นโต้โผจัดประชุมร่วมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอี คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งตัวแทนของสถาบันการเงินต่างๆ
การระดมสมองของ ศบศ. ก็เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หลังหมดระยะเวลาพักหนี้ในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ ซึ่งตามที่แบงก์ชาติประเมินคือ หลังการคลายล็อกให้เศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้มีลูกหนี้ที่กลับมาจ่ายหนี้ทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นได้แล้ว 60% ที่เหลือ 40% ยังเป็นกลุ่มที่อาจต้องมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม
ตามข้อเสนอของภาคเอกชนคือ ให้ตั้งกองทุนขึ้นมาดูแลผู้ประกอบการเพิ่มเติม โดยนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. ยืนยันต้องขยายระยะเวลาพักหนี้ออกไปเป็นเวลา 2 ปี แต่ให้จ่ายดอกเบี้ยบางส่วนเพราะเอสเอ็มอี ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างมาก หากใช้วิธีปรับโครงสร้างหนี้อย่างเดียว ตามแนวทางของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน โดยไม่มีการต่ออายุการพักชำระหนี้เอสเอ็มอี 1 ล้านราย อาจต้องปิดกิจการและปลดคนออกอีกจำนวนมาก โดยภาคธุรกิจท่องเที่ยวน่าห่วงที่สุดเพราะยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวในช่วงนี้ แต่อีกสองปีเชื่อมั่นว่าฟื้นได้แน่นอน
“ภาคเอกชนได้เสนอให้จัดตั้งกองทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจขนาดกองทุนประมาณ 100,000-200,000 ล้านบาท โดยใช้กลไกจากตลาดทุนในการระดมทุน หรือออกพันธบัตรระดมทุนจากประชาชน โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน.... ” ประธาน ส.อ.ท. กล่าว
นอกจากนั้น การแก้ปัญหาให้ภาคธุรกิจ ต้องเสริมด้วยการปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลนเพิ่มเติม จากวงเงินที่ ธปท.ดูแลอยู่และเหลืออยู่ 300,000 ล้านบาท โดย ส.อ.ท. เสนอให้บรรษัทค้ำประกันสินเชื่อ (บสย.) ค้ำประกันการกู้เงินเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 50% เพื่อช่วยให้สถาบันการเงินยอมปล่อยกู้ให้
เสียงเรียกร้องของภาคเอกชน มีเสียงตอบกลับมาจาก “ขุนคลัง” คนใหม่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ว่า การขยายเวลาพักหนี้ที่ภาคเอกชนเรียกร้อง ทางแบงก์ชาติจะเป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้ แต่ตามหลักการควรจะกำหนดระยะเวลาการพักชำระหนี้อย่างมีขอบเขต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขาดวินัยในการชำระหนี้ และเกิดหนี้เสียสะสมเป็นระยะเวลานาน และหลังจากมาตรการพักชำระหนี้สิ้นสุดลง ก็ควรจะต้องใช้มาตรการปรับ 2 ต่อ ทั้งปรับโครงสร้างหนี้และปรับโครงสร้างธุรกิจของภาคเอกชน เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้
ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ก็ออกโรงช่วยหนุนการพักชำระหนี้ออกไปอีก 2 ปี เพื่อช่วยเหลือภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ค่อนข้างประสบปัญหาสภาพคล่องมากที่สุด
“.... ต้องการให้ ธปท.ยืดเวลาชำระหนี้ออกไป 2 ปีเพราะเห็นว่า โควิด-19 ยังแพร่ระบาดในต่างประเทศมากอยู่ ซึ่งผมเองก็เห็นด้วยว่าต้องช่วยในกลุ่มที่เขาไปได้ แต่เพราะโควิด-19 ทำให้แย่ ซึ่งกลุ่มที่แย่อยู่แล้วโอกาสรอดน้อย หรือประวัติไม่ดีก็ต้องดู ต้องมาหารือกันถึงปัญหาทั้งหมดให้ได้ข้อสรุป และอาจยื่นข้อเสนอผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ต่อไป” นายสุริยะ กล่าว
การตัดสินใจจะพักหนี้หรือจะไม่พักต่อ รัฐบาลยังไม่เคาะ แต่มีผลต่อราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ที่ไหลรูดลงเมื่อเจอสองเด้งจากคาดการณ์กำไรไตรมาส 3/2563 หดตัว บวกกับข่าวพักหนี้ ฉุดหวั่นเอ็นพีแอลพุ่งกระฉูด โดยฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย คาดการณ์หุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวลง เพราะนักลงทุนกังวลงบไตรมาส 3 ที่จะออกมาไม่ดีจึงเกิดการเทขายลดความเสี่ยงไปก่อน
ทั้งนี้ บล.กสิกรไทย คาดว่า ในไตรมาส 3 /2563 กลุ่มแบงก์ (7 แห่งไม่รวม KBANK) จะมีการตั้งสำรองอยู่ที่ 5.06 หมื่นล้านบาท และคาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.4 หมื่นล้านบาท ในไตรมาส4 ปีนี้ แบ่งเป็น SCB จำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท KTB จำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท , BAY 1 หมื่นล้านบาท , BBL 6 พันล้านบาท , TMB อยู่ที่ 7 พันล้านบาท , KKP ประมาณ 1 พันล้านบาท และที่เหลือ TISCO
ด้าน บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) คาดการณ์ว่า ปีนี้กำไรกลุ่มแบงก์อยู่ที่ 96,870ล้านบาท ลดลง 41%จากปี2562 ที่164,744ล้านบาท ส่วน ปีหน้าคาดอยู่ที่ 97,732ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย และปี 2565 จะอยู่ที่ 133,038 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% แต่ยังต่ำกว่าก่อนโควิด-19 ระบาด
วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ยังถาโถมไม่หยุด สึนามิหนี้เน่าก็กำลังมา พร้อมๆ กับสึนามิวิกฤตการเมืองที่ยากจะหยุดยั้ง