โบรกเกอร์คาดกลุ่มแบงก์กำไรไตรมาส 3 ทรุดต่อ เหตุแรงกดดัน NIM หด และผลกระทบ TFRS9 ควบคู่กับการตั้งสำรองเพิ่มรองรับ NPL ป้องกันความเสี่ยงของหนี้เสีย ขณะศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองลดลงกว่า 66% เทียบปีก่อน เพราะแม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะทยอยกลับมาหลังการคลายล็อกดาวน์ แต่เป็นการฟื้นตัวที่เปราะบางมาก เพราะภาคการส่งออกและท่องเที่ยวยังฟื้นกลับมาได้ไม่เต็มที่ ขณะ บล.ยูโอบีฯ มองสวนทางคาดกำไรกลุ่มแบงก์ Q3 เพิ่ม 5%
หยวนต้าคาด Q3 กำไรแบงก์หด 35%
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินไตรมาส 3 ปีนี้ คาดแบงก์ภายใต้ Coverage ทั้ง 7 แห่ง จะมีกำไรสุทธิรวม 30,009 ล้านบาท ลดลง 35% เทียบปีก่อน หลังถูกกดดันจากฐานกำไรของ SCB ที่สูงในไตรมาส 3 ปี 62 เนื่องจากมีกำไรจากการขายหุ้น SCBLIFE ให้กับ FWD จำนวน 11,624 ล้านบาท อีกทั้ง Asset Yield ต่ำลงต่อเนื่อง จากผลของการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ตามดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงกว่า 4 ครั้งตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 62 และการเริ่มใช้ TFRS9 เป็นปีแรก ส่งผลต่อการเปลี่ยนวิธีบันทึกรายได้ค่าธรรมเนียมในการให้สินเชื่อ ทำให้การรับรู้รายได้ดังกล่าวในแต่ละไตรมาสลดลง และการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดรับต่อความเสี่ยง NPL จากผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19
แต่ หากพิจารณาไตรมาสต่อไตรมาส ประเมินว่ากำไรของกลุ่มจะฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาส 2 ราว 30.7% เนื่องจากแบงก์ใหญ่ 3 ใน 4 แห่ง อย่าง BBL, KBANK และ KTB ได้ผ่านการตั้งสำรองก้อนใหญ่ไปแล้วในไตรมาส 2 เพื่อรองรับความเสี่ยงจากคุณภาพของสินเชื่อที่อาจอ่อนแอลง และเป็นการตั้งสำรองพิเศษจากกรณีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ผิดนัดชำระหนี้ ทำให้แรงกดดันที่แบงก์ดังกล่าวต้องตั้งสำรองมากกว่าหรือในระดับใกล้เคียงเดิมค่อนข้างต่ำ เพราะในช่วงที่ผ่านมา สภาพการบริโภคในประเทศเริ่มมีการขับเคลื่อนไปในทางที่ดีขึ้น ขณะที่การรับชำระหนี้คืนจากกลุ่มลูกหนี้ในหลาย Segment ดีกว่าที่แบงก์เคยประเมินไว้ในไตรมาส 2
นอกจากนี้ คาดรายได้ค่าธรรมเนียมของแบงก์ไทยจะเริ่มทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามปริมาณการทำธุรกรรมผ่านสาขาและการใช้จ่ายเพื่อบริโภคของภาคครัวเรือน หลังปลดล็อกดาวน์ตั้งแต่เดือน มิ.ย. บวกกับหมดมาตรการลดค่าธรรมเนียมในการซื้อ/ขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมที่ออกมาในไตรมาส 2 ปี 63 และคาดรายได้จากธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตจะเริ่มขยับในทิศทางที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ หุ้นในกลุ่มแบงก์ยังคงได้รับปัจจัยลบจากยอดเติบโตสินเชื่อในภาพรวมที่โตในอัตราที่ชะลอตัวลง เมื่อเทียบไตรมาสก่อน เพราะลูกหนี้ที่เข้าโครงการพักชำระหนี้บางส่วนเริ่มครบกำหนดอายุโครงการ และเริ่มกลับชำระคืนหนี้แต่ในขาปล่อยสินเชื่อ หลายแบงก์ยังค่อนข้างระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อใหม่ สะท้อนได้จาก LDR ที่ลดลงจาก 86.3% ในเดือน มิ.ย. เหลือ 85.6% ในเดือน ส.ค. โดยสินเชื่อใหม่ส่วนใหญ่จะเป็นสินเชื่อ Soft Loan เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ลูกหนี้ SME และสินเชื่อธุรกิจ
และ NIM คาดจะแคบลงจากไตรมาส 2 เนื่องจากได้รับผลของการลดดอกเบี้ยเงินกู้มากขึ้นจากเดิม และลูกหนี้บางส่วนมีการปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้การรับรู้รายได้ในแต่ไตรมาสต่ำลง คาด BBL และ KBANK กำไรฟื้นตัวเด่นสุด หลังการตั้งสำรองเริ่มผ่อนคลายลง
กลุ่มแบงก์ใหญ่เริ่มฟื้น ให้น้ำหนัก BBL มากสุด
หากพิจารณากำไรสุทธิเป็นรายแบงก์ บล.หยวนต้า จัดกลุ่มของแบงก์ภายใต้ Coverage เป็น 3 กลุ่มดังนี้ คือ กลุ่มแรกกลุ่มแบงก์ใหญ่ฟื้นตัวเด่น หลังเจ็บหนักไปแล้วในครึ่งปีแรก อย่าง BBL คาดกำไร 6,498 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 109.9% จากไตรมาสก่อนและลดลง 31.2% จากปีก่อน ส่วน KBANK คาดกำไร 5,816 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 167.4% จากไตรมาสก่อน และลดลง 41.6% จากปีก่อน และ KTB คาดกำไร 4,924 ล้านบาท หรือ 28.6% จากไตรมาสก่อนและลดลง 22.5% จากไตรมาสก่อน จัดเป็นหุ้นแบงก์ที่ความเสี่ยงด้านลบของกำไรสุทธิในครึ่งหลังปี 63 น้อยกว่ากลุ่ม เพราะผ่านการตั้งสำรองพิเศษก้อนใหญ่ไปแล้ว คาดจะเห็นการฟื้นตัวที่ค่อนข้างเด่นในระดับต่อไตรมาส
โดย บล.หยวนต้า ให้น้ำหนักกับ BBL มากที่สุดเพราะพอร์ตสินเชื่อส่วนใหญ่เป็น Corporate Loan ที่ยังมีสถานะแข็งแรง บวกกับไตรมาส 3 มีประเด็นบวกจากการรวมงบของ Permata เข้ามาเต็มไตรมาสเป็นครั้งแรก รองลงมาคือ KBANK คาดฟื้นตัวเด่นสุดในกลุ่ม แต่ในภาพใหญ่อาจต้องติดตามเรื่องหนี้เสียใกล้ชิดกว่า BBL เพราะพอร์ตหลักเป็น SME และมี Exposure กับภาคการท่องเที่ยวและอุสาหกรรมที่เกี่ยวข้องราว 20% ของพอร์ต
ขณะที่กลุ่มแบงก์เช่าซื้อ พอร์ตแกร่ง กำไรค่อยๆ ฟื้นตัว ได้แก่ TISCO คาดกำไร 1,430 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% จากไตรมาสก่อนและลดลง 23.8% จากปีก่อน และ KKP คาดกำไร 1,234 ล้านบาทท เพิ่มขึ้น 4.2% จากไตรมาสก่อนและลดลง 23.4% จากปีก่อน โดยหลักได้แรงหนุนจากยอดขายยานยนต์ที่ฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน และสินเชื่อ Floor Plan ของผู้ประกอบการเต็นท์รถที่เริ่มเติบโตขึ้น บวกกับรายได้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน อย่าง Brokerage Fee และ Front End Fee ในการขายหน่วยลงทุนขยับขึ้นจากไตรมาสก่อน
ส่วนกลุ่มแบงก์ที่คาดตั้งสำรองเพิ่มกดดันงบครึ่งหลังปี 63 อย่าง SCB คาดกำไร 6,062 ล้านบาท ลดลง 27.5% จากไตรมาสก่อนและลดลง 59% จากปีก่อน และ TMB คาดกำไร 2,250 ล้านบาท ลดลง 27.3% จากไตรมาสก่อนและเพิ่มขึ้น 6.6% จากปีก่อน คาดเริ่มเห็นการขยับขึ้นของ Credit Cost ในครึ่งปีหลัง เพื่อเพิ่มระดับความระมัดระวังให้เข้าใกล้อุตสาหกรรมมากขึ้น โดย SCB กำไรลดลงแรงเทียบปีกับปีก่อน จากฐานที่สูงในปีก่อนซึ่งมีกำไรพิเศษจากการขาย SCBLIFE ให้แก่ FWD
คาดกำไรโค้งสุดท้ายโตต่อเนื่องจาก Q3
สำหรับ แนวโน้มไตรมาส 4 ปีนี้ คาดกำไรของกลุ่มยังเติบโตได้ดีต่อเนื่องจากไตรมาส 3 หลักๆ เป็นประเด็นบวกจากการตั้งสำรองของแบงก์ใหญ่ที่คาดจะยังไม่เร่งตัวขึ้นในปีนี้ เพราะช่วงที่ผ่านมา ลูกหนี้ที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ ซึ่งทยอยครบกำหนดอายุมาตรการตั้งแต่เดือน ก.ค. มีการชำระคืนหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ดี และมีเพียงส่วนน้อยที่ไม่สามารถกลับมาชำระหนี้คืนได้
ขณะที่แบงก์ยังสามารถให้การช่วยเหลือลูกหนี้ที่ความเสี่ยงสูงต่อได้จนถึงปลายปี 63 ทำให้หนี้เสียจะยังไม่เพิ่มขึ้นมาก นอกจากนี้ปัจจุบันมีข่าวว่า ธปท. กำลังพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม ส่วนภาพปี 64 คาดแบงก์ยังคงระดับการตั้งสำรองในระดับสูงแต่จะไม่มากเท่าปีนี้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงของหนี้เสียที่จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่ด้วยการขยายมาตรการพักชำระหนี้คาดจะส่งผลต่อศักยภาพทำกำไรของกลุ่มให้ปรับตัวลงต่อ เนื่องจากมีการปรับโครงสร้างหนี้หรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ ทำให้เรามีการปรับลดประมาณการกำไรของกลุ่มลง โดยคาดกำไรกลุ่มปี 63 ที่ 130,263 ล้านบาท ลดลง 17.1% จากไตรมาสก่อน ก่อนจะกลับมาโต 19.8% เทียบปีก่อน ในปี 64 คงน้ำหนักการลงทุน “เท่ากับตลาด” แนะนำ BBL และ TISCO เป็น Top Pick
ศูนย์วิจัยกสิกรคาดกำไรกลุ่มแบงก์ Q3 หดลึก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ากำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 3 ปีนี้ จะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 3.08 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 66.5% เทียบปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิสูงถึง 91.6 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 3 ปี 62 ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งมีกำไรพิเศษจากการขายหุ้นในบริษัทประกันที่ถือหุ้นอยู่
อย่างไรก็ดี กำไรสุทธิที่ระดับดังกล่าวขยับขึ้นเล็กน้อย 3.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งอาจชะลอลงบางส่วน หลังจากที่มีนโยบายการตั้งสำรองเชิงรุกในระดับที่สูงมากในไตรมาส 2 ปี 63 ที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติยังคงกดดันความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี 63 โดยรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมมีแนวโน้มลดลงตามการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในหลายๆ ภาคส่วน นอกจากนี้ รายได้ดอกเบี้ยของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังได้รับผลกระทบมากขึ้นจากทิศทางขาลงของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 62
ขณะที่ภาพรวมสินเชื่อ และ NIM ในไตรมาส 3 ปี 63 ชะลอลง พร้อมกับสัญญาณถดถอยลงของคุณภาพสินเชื่อในพอร์ต คาดว่าสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจเติบโตในอัตราชะลอลงมาที่ 4.5-4.8% เทียบปีก่อนในไตรมาส 3 ปี 63 จาก 5.1% จากปีก่อน ในไตรมาส 2 ปี 63 เนื่องจากยังต้องประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกค้าที่มาขอสินเชื่อใหม่อย่างระมัดระวัง ประกอบกับมีการทยอยชำระคืนสินเชื่อของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่บางราย
ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนว่าหลังจากมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินทยอยครบกำหนดลง มีลูกหนี้ธุรกิจและรายย่อยบางส่วนเริ่มกลับมาชำระคืนหนี้ในช่วงไตรมาส 3 ปี 63 นี้ด้วยเช่นกัน
ส่วน NIM ไตรมาส 3 ปี63 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 2.65-2.70% จาก 2.73% ในไตรมาส 2 ปี 63 โดยเป็นผลต่อเนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงก่อนหน้านี้ ประกอบกับสินเชื่อปล่อยใหม่ส่วนใหญ่รวมถึงสินเชื่อรีไฟแนนซ์ในระยะนี้เป็นสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำลง นอกจากนี้ เพดานใหม่สำหรับดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลก็เริ่มมีผลบังคับแล้วตั้งแต่เดือน ส.ค.63 ที่ผ่านมา
ด้านคุณภาพสินเชื่อในพอร์ตถดถอยลงตามสัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจ คาดว่าสัดส่วน NPLs ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 3 ปี 63 จะขยับขึ้นไปที่กรอบประมาณ 3.25-3.35% จากระดับ 3.21% ในไตรมาส 2 ปี 63 เนื่องจากยังอยู่ในช่วงของมาตรการพักชำระหนี้ของภาคธุรกิจ ประกอบกับคาดว่า ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะเร่งจัดการปัญหาหนี้เสียในเชิงรุกมากขึ้น ทั้งด้วยวิธีการตัดขายหนี้ด้อยคุณภาพ และเร่งปรับโครงสร้างหนี้
อย่างไรก็ดี คาดว่าการตั้งสำรองจะยังอยู่ในระดับสูงในไตรมาส 3 ปี 63 แม้จะตั้งสำรองก้อนใหญ่ไปแล้วในไตรมาส 2 ปี 63 ดังนั้นสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองต่อสินเชื่อ (Credit Cost) อาจชะลอลงเล็กน้อยมาอยู่ในกรอบประมาณ 1.80-1.95 % ในไตรมาส 3 ปี 63 เทียบกับ 2.15% ในไตรมาส 2 ปี 63 โดยธนาคารพาณิชย์คงเตรียมความพร้อมในส่วนนี้ไว้เพื่อรองรับปัญหาคุณภาพหนี้ ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้นหลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทยอยสิ้นสุดลงหลังในเดือนตุลาคมนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เมื่อจบไตรมาส 3 ปี 63 สินเชื่อที่ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์จะมีสัดส่วนประมาณ 28.5% ต่อสินเชื่อรวม ลดลงเล็กน้อยจากสัดส่วนประมาณ 31.0% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 2 ปี 63 เนื่องจากลูกหนี้บางส่วนกลับมาชำระคืนหนี้ได้ตามปกติหลังมาตรการช่วยเหลือรอบแรกทยอยสิ้นสุดลง
อย่างไรก็ดี การประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้บุคคลและลูกหนี้ธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs หลังจากมาตรการพักหนี้สิ้นสุดลง ยังคงเป็นโจทย์ที่ยากและมีความท้าทายสำหรับธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากลูกหนี้กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังมีสถานะทางการเงินที่เปราะบาง ขณะที่สัญญาณอ่อนแอทางเศรษฐกิจที่ลากยาวต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้กลุ่มนี้ได้อีกในอนาคต
ดังนั้น แม้มาตรการพักชำระหนี้ธุรกิจเป็นการทั่วไปจะทยอยสิ้นสุดลง แต่ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะยังคงให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ทั้งลูกหนี้ธุรกิจและลูกหนี้รายย่อยในรูปแบบอื่นต่อไป ควบคู่ไปกับการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ตามแนวทางของธนาคาร หรือผ่านโครงการ DR BIZ มาตรการรวมหนี้ ตลอดจนมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2 ซึ่งยังสามารถเข้าโครงการได้จนถึงสิ้นปี 63 โดยหลักเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพิจารณาความสอดคล้องกันระหว่างกระแสรายได้-ภาระหนี้ ซึ่งแยกตามลักษณะของลูกหนี้แต่ละกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและมีจังหวะและโอกาสในการฟื้นธุรกิจแตกต่างกัน
ดังนั้น ในไตรมาสสุดท้ายของปี 63 ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ยังคงมีความท้าทายไม่น้อยไปกว่าหลายๆ ไตรมาสที่ผ่านมา แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะทยอยกลับมาหลังการคลายล็อกดาวน์ แต่ก็เป็นการฟื้นตัวที่เปราะบางมากเพราะแรงขับเคลื่อนพื้นฐานของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออกและท่องเที่ยว ยังไม่สามารถฟื้นกลไกการทำงานกลับมาได้อย่างเต็มที่
และในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาดว่าจะยังเป็นช่วงที่ธนาคารมีค่าใช้จ่ายรวมสูงกว่าไตรมาสอื่นๆ เพราะมีทั้งค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองที่น่าจะยังอยู่ในระดับสูง ค่าแคมเปญการตลาด ค่าอุปกรณ์และสถานที่ และรายจ่ายค่าธรรมเนียม ซึ่งท้ายที่สุด คาดว่าจะมีผลกดดันให้กำไรสุทธิของระบบธนาครพาณิชย์ไทยติดลบเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส ต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี 63 โดยระดับกำไรสุทธิมีแนวโน้มลดต่ำลงกว่ากำไรสุทธิในไตรมาส 3 ปี 63
บล.ยูโอบีฯ คาดกำไรกลุ่มแบงก์ Q3 เพิ่ม 5%
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน คาดว่ากำไรกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ปีนี้อยู่ที่ 30,767 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อนหน้าแต่ลดลง 43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยคาดว่าธนาคารขนาดใหญ่อย่าง BBL และ KBANK ที่ตั้งสำรองความเสี่ยงทางเครดิต (ECL) สูงในช่วงไตรมาส 2 จะมีผลประกอบการที่ฟื้นตัวขึ้น 83% และ 239% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ยังคงต่ำกว่าผลประกอบการปีก่อน 40% และ 26% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งช่วงเดือน ต.ค.คาดว่าจะมีการประกาศผลทดสอบความเสี่ยงจากภาวะวิกฤต (stress test) ซึ่งจะยืนยันความแข็งแกร่งกลุ่มธนาคารและทำให้สามารถกลับมาจ่ายปันผลได้ โดยหุ้นที่น่าสนใจคือ BBL, KBANK และ TISCO