ธปท.เน้นแก้หนี้ให้ตรงจุดแทนการช่วยเหลือเป็นการทั่วไป หวั่นเกิดปัญหาวินัยทางการเงิน กระทบเสถียรภาพสถาบันการเงิน ระบุเอสเอ็มอีขอรับความช่วยเหลือ จำนวน 1.05 ล้านบัญชี เป็นยอดหนี้ประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายเสถียรภาพระบบการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า มาตรการผ่อนผันให้ลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ได้รับการพักหนี้ตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ที่จะครบกำหนด 6 เดือนในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 มีความคืบหน้าของการดำเนินการสรุปได้ ดังนี้ 1.ลูกหนี้เอสเอ็มอีที่เลือกขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการดังกล่าวมีจำนวน 1.05 ล้านบัญชี เป็นยอดหนี้ประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท ซึ่งต่างจากยอดสินเชื่อจำนวน 6.89 ล้านล้านบาท ตามที่อาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกัน โดยยอดหนี้ 6.89 ล้านล้านบาทนั้นครอบคลุมลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากมาตรการช่วยเหลือทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการลดภาระผ่อนชำระต่อเดือนด้วยการขยายระยะเวลาพักหนี้ การลดอัตราดอกเบี้ย และการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ เป็นต้น
2.ธปท.ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และคาดว่าจะไม่เกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว (cliff effect) หลังมาตรการพักหนี้ครบกำหนด เนื่องจาก
1) ลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้ามาตรการวงเงินประมาณ 4 แสนล้านบาท ได้รับการขยายระยะเวลาการพักหนี้ไปอีก 3-6 เดือนแล้ว ส่วนลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) อีกประมาณ 9.5 แสนล้านบาท ธนาคารได้ติดตามดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินสถานะและให้ความช่วยเหลือ พบว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่แสดงเจตจำนงว่าจะสามารถจ่ายชำระหนี้ได้ตามปกติหลังหมดมาตรการ
2) สำหรับลูกหนี้ของ ธพ. ที่ยังไม่สามารถกลับมาจ่ายชำระหนี้ได้ตามปกติหรืออาจจ่ายได้บางส่วน ธพ. ยังคงให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากพอที่จะชำระหนี้ได้ โดยมีหลายมาตรการมารองรับ ได้แก่ การปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายเพื่อไม่ให้กลายเป็น NPL รวมถึงใช้มาตรการอื่นตามความเหมาะสม เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล การพักชำระค่างวด รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อยด้วยวิธีการรวมหนี้ (debt consolidation) และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย (multi-creditors) เป็นต้น
3) มีลูกหนี้เพียง 6% ของยอดสินเชื่อที่ได้รับการพักหนี้ที่ยังอยู่ระหว่างการติดต่อของธนาคาร หรือยังติดต่อไม่ได้
นอกจากนี้ หลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ การฟื้นตัวของธุรกิจในแต่ละสาขาไม่เท่ากัน เช่น ธุรกิจเครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และการค้า ฟื้นตัวกลับเข้าใกล้ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่การฟื้นตัวยังอยู่เพียง 26% ของช่วงก่อนโควิด-19
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ธปท. จึงปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากการให้สถาบันการเงินช่วยเหลือเป็นการทั่วไป เป็นการให้ความช่วยเหลือเชิงรุกและตรงจุดที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละราย (Targeted) โดยหากยังคงดำเนินมาตรการพักหนี้เป็นการทั่วไปต่อไปอาจส่งผลกระทบทางลบในระยะยาวได้เนื่องจาก
1) ลูกหนี้ที่พักหนี้อยู่จะยังคงมีภาระดอกเบี้ยในแต่ละเดือนตลอดช่วงการพักหนี้ ซึ่งเป็นภาระแก่ลูกหนี้ในระยะยาว
2) ไม่ส่งเสริมให้เกิดวินัยทางการเงิน (moral hazard) เพราะลูกหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบไม่มาก อาจอาศัยเป็นช่องทางเพื่อประวิงเวลาการชำระหนี้
3) ส่งผลเสียต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินเพราะการพักหนี้เป็นการทั่วไปเป็นระยะเวลานานคาดว่าจะทำให้สภาพคล่องในระบบจากการชำระคืนหนี้และดอกเบี้ยหายไปประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี
ดังนั้น กลุ่มลูกหนี้ที่ยังมีรายได้เพียงพอที่จะชำระคืนหนี้ควรชำระหนี้ตามปกติหลังหมดมาตรการ เพราะนอกจากจะช่วยลดภาระหนี้แล้ว ยังจะทำให้สถาบันการเงินมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นเพื่อปล่อยกู้ให้แก่ผู้ที่ยังได้รับผลกระทบอยู่ ส่วนลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ โดยเฉพาะรายที่สถาบันการเงินยังติดต่อไม่ได้ ควรรีบติดต่อกับสถาบันการเงินเพื่อรับความช่วยเหลือที่เหมาะสม
ทั้งนี้ ธปท. ได้ออกประกาศให้สถาบันการเงินคงสถานการณ์จัดชั้นลูกหนี้ถึงสิ้นปี 2563 (stand still) สำหรับลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจาปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ เพื่อช่วยไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็น NPL ซึ่งเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันการเงินเร่งดำเนินการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ นอกจากนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อให้ทราบว่ามีภาคธุรกิจไหนที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ
สำหรับลูกหนี้ที่มีปัญหาการติดต่อสถาบันการเงิน หรือยังไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันกับสถาบันการเงินได้ ท่านสามารถแจ้งความต้องการที่จะปรับโครงสร้างหนี้ไปยังสถาบันการเงินผ่าน “ทางด่วนแก้หนี้” เว็บไซต์ https://www.1213.or.th/App/DebtCase ได้ตลอด 24 ชั่วโมง