ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถึงแม้จะมีคำปลอบขวัญจากไอเอ็มเอฟคาดการณ์จีดีพีไทยดีขึ้น ทั้งขุนคลังและผู้ว่าฯแบงก์ชาติป้ายแดง จะปลุกเร้าขอเวลาเมษาฯปีหน้าเศรษฐกิจไทยฟื้นจากไอซียูแน่ แต่ของจริงเห็นๆ กันคืออาการดิ้นหนีตายของลูกหนี้หลังหมดโปรโมชั่นตามมาตรการยืดหนี้ที่ชัดเจนแล้วว่าแบงก์ชาติ สั่งไม่ต่อตามคำขอของภาคเอกชนซึ่งวอนขอให้เห็นแก่ผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยที่เสี่ยงสูญพันธุ์ พนักงานถูกลอยแพ ขณะที่งบ 4 แบงก์ใหญ่ BBL-KBANK-SCB-TMB ที่ทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/2563 ดำดิ่งกันถ้วนหน้า
ข่าวดีจากขุนคลังคนใหม่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลังประชุมคณะรัฐมนตรี นัดล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นข่าวดีที่สุดในรอบหลายเดือน ก็คือ รายงานผลการประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยในปี 2563 ตามการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ปรับไปในทางที่ดีขึ้น เหลือ -7.1% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ -7.7% สะท้อนให้เห็นสถานการณ์เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศดีขึ้นภายหลังผ่อนคลายปลดล็อกในวิกฤติโควิด-19 จากมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลออกมาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม นายอาคม ยอมรับว่า ปัญหาใหญ่ขณะนี้คือเรื่องสภาพคล่อง โดยเฉพาะมาตรการพักชำระหนี้ให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก หรือกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ มีความชัดเจนว่าจะไม่ต่ออายุมาตรการพักชำระหนี้ที่สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา
หลังมาตรการพักหนี้แบบเหวี่ยงแหหรือครอบคลุมทั้งหมดจบลง แบงก์ชาติ เลือกใช้การแก้ไขปัญหาหนี้แบบจำเพาะเจาะลงมากขึ้นโดยได้ประสานกับแบงก์พาณิชย์ จำแนกลูกค้าเป็นกลุ่มเพื่อเข้าไปดูแล โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สามารถกลับมาดำเนินการธุรกิจตามปกติ เป็นกลุ่มที่เป็นกลุ่มสีเขียวหรือสีเขียวอ่อน 60%, กลุ่มลูกหนี้ที่กลับมาดำเนินธุรกิจแต่ยังไม่ฟื้นตัวดีมีอยู่ราว 30 -40%, กลุ่มลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ 4% และลูกหนี้ที่ขาดการติดต่อกับสถาบันการเงินในระบบมีอยู่ประมาณ 6%
“กลุ่มที่ต้องเข้าไปดูแลช่วยเหลือคือกลุ่มที่ 3 และ 4 จะต้องดึงขึ้นมา และให้เวลาเข้ามาร่วมมาตรการมีวงเงินรวมประมาณ 100,000 ล้านบาท ยืดหนี้ พักหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้จะพยายามให้มีความชัดเจนในสัปดาห์นี้” นายอาคม กล่าว
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทยจำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า ตัวเลขกลุ่มสุดท้ายที่ขาดการติดต่อกับสถาบันการเงิน 6% นั้น คือประมาณ 80,000 ราย ซึ่งแบงก์กำลังติดตามให้กลับเข้ามาสู่ระบบให้ได้มากที่สุด แต่หากสุดท้ายตามไม่ได้จะดูว่าจะดำเนินการอย่างไร ตอนนี้แบงก์ก็ช่วยทั้งลดดอกลดค่างวดบางส่วนโดยพิจารณาสถานะลูกหนี้เป็นรายๆ ไป
ทั้งนี้ ตามฐานลูกหนี้ทั้งระบบมี 12 ล้านบัญชี รวมวงเงิน 5.5 ล้านล้านบาท อยู่ในระบบสถาบันการเงินของรัฐ 4 ล้านบัญชี รวมวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท สำหรับมาตรการพักชำระหนี้ช่วยให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีสมัครใจเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1.05 ล้านบัญชี เป็นยอดหนี้ประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท
นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า กลุ่มลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจแต่ยังไม่ฟื้นตัว และยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มท่องเที่ยวและบริการที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการที่ไทยยังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดว่าจะใช้เวลาประเมินการกลับมาฟื้นตัวและสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จึงจะทราบว่าไปในทิศทางไหน
ก่อนหน้านี้ ภาคเอกชน โดย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอขอขยายระยะเวลาพักหนี้ออกไปเป็นเวลา 2 ปี แต่ให้จ่ายดอกเบี้ยบางส่วนเพราะเอสเอ็มอี ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างมาก หากใช้วิธีปรับโครงสร้างหนี้อย่างเดียวตามแนวทางของ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน โดยไม่มีการต่ออายุการพักชำระหนี้เอสเอ็มอี 1 ล้านราย อาจต้องปิดกิจการและปลดคนออกอีกจำนวนมาก โดยภาคธุรกิจท่องเที่ยวน่าห่วงที่สุดเพราะยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว และยังเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจขนาดกองทุนประมาณ 100,000-200,000 ล้านบาท โดยใช้กลไกจากตลาดทุนในการระดมทุน หรือออกพันธบัตรระดมทุนจากประชาชน โดยให้กระทรวงการคลัง ค้ำประกัน
เมื่อข้อเสนอของภาคเอกชนไม่ได้รับการตอบรับ ต้องรอดูว่ากลุ่มธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีจะมีเหลือรอดจากวิกฤตครั้งนี้สักกี่มากน้อย เพราะการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังต้องลากอีกยาว ตามที่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2563 จะติดลบราว -7.8% ถึง -8.0% โดยไตรมาส 4/63 ไปถึงต้นปี 64 จะยังติดลบ ก่อนจะพลิกฟื้นกลับมาเป็นบวกราวในไตรมาส 2/64 แต่คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะกลับคืนมาเหมือนเดิมช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ในราวไตรมาส 3/65
ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ยังมองว่าการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จะต้องปรับจากการปูพรมมาแก้ให้ตรงจุดมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การพักหนี้แบบปูพรมช่วยลูกหนี้ช่วงล็อกดาวน์ที่ธุรกิจหยุดดำเนินการ พนักงานถูกลดชั่วโมงทำงาน ทำให้ขาดรายได้ มาเป็นการส่งเสริมให้สถาบันการเงินมีเวลาปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมตามความสามารถของลูกหนี้ ซึ่งเป็นการช่วยแบบตรงจุดมากกว่า เช่นเดียวกับหมอที่รักษาคนไข้ตามความหนักเบาของอาการที่ป่วย
แบงก์กสิกรไทย เตรียมการพร้อมช่วยเหลือลูกหนี้หลังหมดโปรพักหนี้ โดย นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า นับแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาจนบัดนี้แบงก์ให้ความช่วยเหลือลูกค้าตามมาตรการผ่อนปรนหนี้ทั้งระยะที่ 1 และ 2 ไปแล้วกว่า 860,000 ล้านบาท โดยจำนวนนี้เป็นการพักเงินต้นและดอกเบี้ยให้ลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการ 360,000 ล้านบาท และเมื่อสิ้นสุดมาตรการเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา แบงก์ได้ติดตามพบปะลูกค้าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการฯ ประมาณ 1 แสนราย พบว่า ราว 81% กลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ซึ่งเป็นธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภค มีเพียง 18% ที่ต้องการมาตรการช่วยเหลือต่อ ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และส่วนที่เหลือมีการปิดกิจการไปแล้ว
ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ส่งผลสะเทือนมาถึงผลประกอบการของแบงก์ เนื่องจากแบงก์แต่ละแห่งจำเป็นต้องแบกสำรองเพิ่ม หนี้ด้อยคุณภาพหรือเอ็นพีแอลพุ่ง ในช่วงนี้ที่หลายแบงก์ทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/2563 จึงเห็นว่าล้วนแล้วแต่กำไรหดหายแทบทั้งสิ้น
น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 3 ปี 2563 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2563 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 6,679 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 32.8% แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจำนวน 4,504 ล้านบาท หรือ 207.01% จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 173 ล้านบาท ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ อยู่ที่ระดับ 3.17% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 4,593 ล้านบาท หรือ 32.60% ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาด
สำหรับผลการดำเนินงานสำหรับงวด 9 เดือน ปี 2563 เมื่อเปรียบเทียบกับงวด 9 เดือน ปี 2562 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 16,229 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 13,695 ล้านบาท หรือ 45.77% ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 17,692 ล้านบาท หรือ 70.24% จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่หดตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ
ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 3,545,648 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 จำนวน 251,759 ล้านบาท หรือ 7.64% ส่วนใหญ่เป็นการเติบโตของสินเชื่อ ส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพหรือเอ็นพีแอล อยู่ที่ระดับ 3.95% ขณะที่สิ้นปี 2562 อยู่ที่ระดับ 3.65%
ทางด้าน ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และบริษัทย่อย รายงานกำไรสุทธิสำหรับ 9 เดือนของปี 2563 จำนวน 14,783 ล้านบาท ลดลง 46.84% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 27,813 ล้านบาท ทั้งนี้ ผลประกอบการดังกล่าวได้รวมผลประกอบการของธนาคารเพอร์มาตา ตั้งแต่วันที่ธนาคารเข้าถือหุ้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ส่วนกำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2563 จำนวน 4,017 ล้านบาท ลดลง 57.43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในระดับ 9,438 ล้านบาท สาเหตุหลักเนื่องจากการตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นเงินสำรองสำหรับความไม่แน่นอนจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง
ส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 จากช่วงเดียวกันของปี 2562 เป็นผลจากการรวมรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเพอร์มาตา โดยมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.28 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง สาเหตุหลักจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิและรายได้จากเงินลงทุน
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,367,296 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.6 จากสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคล สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 4.1 ขณะที่ธนาคารยังคงรักษาความมั่นคงของอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตที่ร้อยละ 178.0
ด้านเงินกองทุนและสภาพคล่อง ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 ธนาคารมีเงินรับฝากจำนวน 2,821,883 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.1 จากสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 83.9 สะท้อนถึงสภาพคล่องที่เพียงพอในการรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และบริษัทย่อย ประกาศกำไรสุทธิ ในไตรมาส 3 ของปี 2563 จำนวน 4,641 ล้านบาท ลดลง 69% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการตั้งเงินสำรองปกติที่สูงขึ้นในไตรมาสนี้ และการเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายการกำไรพิเศษครั้งเดียวจากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิต หากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าว กำไรสุทธิลดลง 56% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2563 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 22,252 ล้านบาท ลดลง 36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในไตรมาส 3 ของปี 2563 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 23,724 ล้านบาท ลดลง 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยหลังจากที่ธนาคารได้ขายหุ้นของบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในปีที่ผ่านมาและการหดตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ ซึ่งเป็นผลส่วนใหญ่จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี ในขณะที่สินเชื่อโดยรวมขยายตัว 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 3% จากสิ้นปี 2562 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 10,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5%
อย่างไรก็ตาม รายได้รวมของธนาคารยังคงได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของธนาคารในไตรมาส 3 ของปีนี้ปรับสูงขึ้นเป็น 46% ส่วนอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ 3.32% เพิ่มขึ้นจาก 3.05% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ดังนั้น เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ในไตรมาส 3 ของปี 2563 ธนาคารได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 12,955 ล้านบาท โดยอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารยังอยู่ในระดับสูงที่ 146% ในขณะที่เงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.7%
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นสัญญาณการเริ่มฟื้นตัว แต่ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอนและมีความแตกต่างในแต่ละภาคส่วน โดยนับตั้งแต่การเริ่มระบาดของโควิด-19 ธนาคารได้ให้การช่วยเหลือลูกค้าแล้วกว่า 1.1 ล้านราย คิดเป็นยอดสินเชื่อภายใต้โครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน รวมประมาณ 840,000 ล้านบาท
ส่วน ธนาคารทหารไทย ก็มีผลประกอบการลดลงเช่นกัน โดย นางประภาศิริ โฆษิตธนากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB เปิดเผยว่า ไตรมาส 3 ปี 2563 มีกำไรสุทธิ 1,618.90 ล้านบาท ลดลง 23.3% จากช่วงเดียวกันก่อนที่มีกำไร 2,111 ล้านบาท และลดลง 47% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่ลดลง หลังรายได้ค่าธรรมเนียมลูกค้าธุรกิจยังคงชะลอตัวตามสภาพเศรษฐกิจที่หดตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบกับการตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) เพิ่มขึ้นเป็น 6,863 ล้านบาท หรือ +137.2% จากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน
ทั้งนี้ ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 13,227 ล้านบาท เพิ่มขึ้น113.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการจัดการต้นทุนทางการเงินที่ดีและปริมาณเงินฝากลดลง ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 33.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้น 34% ตามการขยายตัวของรายได้ค่าธรรมเนียมลูกค้ารายย่อย
ขณะที่สำหรับงวด 9 เดือนปี 2563 มีกำไร 8,877 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 58.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 5,607 ล้านบาท เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 114.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยจากการให้เช่าซื้อและสัญญาเช่าการเงินจากการรวมงบการเงินกับธนาคารธนชาต และรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อซึ่งเพิ่มขึ้น 39.2%
ธนาคารกรุงไทย และบริษัทย่อย ประกาศผลประกอบการ มีกำไรจากการดำเนินงานช่วง 9 เดือน ปี 2563 เท่ากับ 54,149 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ไตรมาส 3 กำไรจากการดำเนินงาน เท่ากับ 16,572 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16%
สำหรับ ธนาคารกรุงไทย (KTB) และบริษัทย่อย มีกำไรจากการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 3/2563 เท่ากับ 16,572 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นจากรายได้ดอกเบี้ยพิเศษ นอกเหนือจากการบริหารจัดการทางการเงิน ท่ามกลางสภาวะดอกเบี้ยขาลง ประกอบกับรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายพิเศษจากการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงาน ในไตรมาส 3/2562 ส่งผลให้ Cost to Income ratio ลดลงเป็น 45.3% จาก 53% ในไตรมาส 3/2562
ธนาคารได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 12,414 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 103.6% เมื่อเทียบกับการตั้งสำรองในไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ส่งผลให้กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร ลดลงเป็น 3,057 ล้านบาท หรือลดลง 51.9%
ส่วนกำไรจากการดำเนินงาน 9 เดือนปี 2563 เพิ่มขึ้น 12.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเท่ากับ 68,023 ล้านบาท ขยายตัวขึ้น 0.6% ท่ามกลางสภาวะดอกเบี้ยนโยบายที่ถูกปรับลดจนต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีสาเหตุหลักจากการได้รับรายได้ดอกเบี้ยพิเศษ นอกเหนือจากการบริหารจัดการทางการเงิน จึงช่วยลดผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้
รายได้จากการดำเนินงานอื่นเติบโต 13.3% และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 13.8% จากรายการพิเศษสำรองด้อยค่าทรัพย์สินรอการขายฯ และการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ Cost to Income ลดลงเป็น 42.2% จาก 48.8% ในช่วงเดียวกันของปี 2562
แบงก์กรุงไทย ได้ประมาณการภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างรุนแรงและมีความไม่แน่นอน ที่อาจส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อ ธนาคารจึงได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 35,649 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87.7% จากค่าใช้จ่ายสำรองในช่วงเดียวกันของปี 2562 ส่งผลให้มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 13,279 ล้านบาท ลดลง 39.2%
การสำรองหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้น และกำไรของแบงก์ที่ลดลงถ้วนหน้า บ่งชี้ว่าหนทางข้างหน้าที่ยากลำบากยังอีกยาวไก